เผย 5 ต้นเหตุทำรถติดทั่วกรุง”บิ๊กตู่”ลั่น3เดือนต้องทุเลา ผุดสารพัดไอเดียเพิ่มเรือ-รถชัตเติลบัส-ที่จอดรถแนวรถไฟฟ้า

ตำรวจกาง 5 เหตุผลทำรถติดทั่วกรุงทั้งรอยต่อกทม.-ปริมณฑล ถนนตัดทางรถไฟ ย้ายจุดจอดรถตู้ สร้างรถไฟฟ้าหลายเส้น และรถติดหน้า ร.ร.ดัง ด้าน ผอ.สนข.เปิดมาตรการเสริมรถ-เรือบรรเทา ด้านนายกฯขีด 3 เดือนต้องเห็นผล พร้อมปิ๊งสารพัดไอเดีย

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 15 ส.ค.2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางไปตรวจราชการที่กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) เพื่อติดตามปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลที่มีผลมาจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า

@ เปิด 5 เหตุผลทำกรุงอัมพาต

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิต รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบ.ชน.) กล่าวรายงานว่า จากผลกระทบของการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย คือ 1. รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี 2. รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง และ 3. รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี ส่งผลให้การจราจรในกทม.ติดขัดในหลายจุด

กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) จึงประสานงานกับกรุงเทพมหานคร และกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2561 เป็นต้นมา ซึ่งพบว่าปัจจัยที่ทำให้รถติดหนักมีด้วยกัน 5 ข้อ คือ

1. เหตุจราจรติดขัดบริเวณพื้นที่รอยต่อกทม.-ปริมณฑล ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน เช่น ถ.ราชพฤกษ์ บริเวณสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ พบว่าช่วงเย็นการจราจรจะติดขัดมาก เพราะมีสภาพเป็นคอขวดบริเวณรอยต่อระหว่างทางขึ้นสะพาน จึงมีการวางแบริเออร์ใหม่บริเวณช่องทางขนาน เพื่อบีบทางให้รถเข้าได้ 1 ช่องทาง และไม่ให้รบกวนช่องทางด่วน 3 ช่องจราจรที่จัดไว้ให้

หรือ ถ.แจ้งวัฒนะ บริเวณ ซ.แจ้งวัฒนะ 14 มีปัญหาปริมาณรถที่จะเข้ากทม.สะสมมาก เพราะมีผู้ใช้ ซ.แจ้งวัฒนะ 14 ในการสัญจรคับคั่ง จึงได้วางกรวยเพื่อบังคับแนวถนนตั้งแต่ช่วงสะพานข้ามคลองประปาจนถึงหน้าศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อเอื้อให้รถที่มาจากทางตรงมาก่อน เป็นต้น

2. ถนนที่ตัดกับทางรถไฟ ซึ่งมีปัญหาถนนไม่เรียบ ส่งผลให้รถที่สัญจรชะลอตัวจนการจราจรติดขัด มีทั้งหมด 13 จุด เช่น ถ.รัชดาภิเษก บริเวณแยกอโศก-เพชรบุรี, ถ.ศรีนครินทร์ บริเวณแยกพัฒนาการ, ถ.พระราม 3 บริเวณหน้าตลาดปีนัง, ถ.จรัญสนิทวงศ์ บริเวณแยกบางขุนนนท์ เป็นต้น ทั้งหมดดำเนินการแก้ไขร่วมกับ ร.ฟ.ท.เรียบร้อยแล้ว

3.การย้ายจุดจอดรถตู้จากหมอชิต 2 ไปที่ใต้ทางด่วนศรีรัช ทำให้เกิดปัญหาจอดรถไม่เป็นระเบียบ ส่งผลให้จราจรติดขัดไปถึง ถ.วิภาวดีรังสิต ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กทม. บขส. และกรมการขนส่งทางบก ร่วมกันจัดระเบียบบริเวณดังกล่าวแล้ว และได้เสนอสร้างสะพานลอยข้ามคนข้ามตรงทางเชื่อมหมอชิต 2 และจุดจอดรถตู้ใต้ทางด่วนศรีรัช ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

4. ปัญหาจราจรบริเวณหน้าสถานศึกษา แบ่งได้ 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มโรงเรียนที่อยู่บน ถ.สามเสน, ราชวิถี และนครราชสีมา เช่น เซนต์คาเบรียล, ราชินีบน และเขมะสิริอนุสรณ์ เป็นต้น พบว่ามีปัญหาคอขวดบริเวณสะพานซังฮี้ จึงปรับการเดินรถในช่วงเช้าใหม่ โดยจะเปิดช่องจราจรช่วงขาเข้ามี 3 ช่อง ส่วนขาออกเหลือ 1 ช่อง ขณะที่ช่วงเย็นจะปรับให้ช่วงขาออกเป็น 3 ช่อง และขาเข้าเหลือ 1 ช่อง พร้อมกับขอความร่วมมือ กทม.รื้อเกาะกลางยาว 50 เมตร บริเวณสะพานฝั่งธนบุรีออก เพื่อแก้ปัญหาคอขวดอีกทางหนึ่ง

2. กลุ่มโรงเรียนที่อยู่บน ถ.เพชรบุรี, อโศก, สุขุมวิท และเพลินจิต เช่น เซนต์ดอมินิก, มาแตร์เดอี, สาธิตประสานมิตร และวัฒนาวิทยาลัย พบว่ามีปัญหาบริเวณ ถ.อโศกมนตรี โดยช่วงคอขวดตรงวงแหวน ถ.รัชดาทั้งเส้น จึงได้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจไปประจำจุดบริเวณ ถ.กำแพงเพชร 7 ตัดกับ ถ.รัชดา โดยให้คอยตัดรถที่มาจาก ถ.กำแพงเพชร 7 ให้สอดคล้องไปกับสัญญาณไฟจราจร และจะต้องไม่ให้มีรถแทรกบริเวณสี่แยกด้วย และจะปิดทางม้าลายบริเวณหน้าโรงพยาบาลจักษุรัตนินในช่วงเวลาเร่งด่วน โดยจะขยับให้ไปใช้ทางม้าลายที่อยู่ห่างออกไปอีก 100 เมตรแทน

และ 3. กลุ่มโรงเรียนที่อยู่บนถ.สีลม, สาทร และเจริญกรุง เช่น อัสสัมชัญบางรัก, เซนต์โยเซฟคอนเวนต์, กรุงเทพคริสเตียน เป็นต้น โดยเฉพาะหน้าโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ที่มีปริมาณรถผู้ปกครองมาส่งบุตรหลานถึง 5,000 คัน/วัน จึงได้จัดให้ถนนรอบๆ โรงเรียนเป็นถนนเดินรถทางเดียว (One Way) เฉพาะในช่วงเช้า โดยจะให้รถทั้งหมดบน ถ.คอนเวนต์ เข้าไปที่ ถ.สีลม และไปออก ถ.สาทร

และ 5. ปัญหาจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีการก่อสร้างทั้งสิ้น 5 โครงการ ได้แก่

1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค, บางซื่อ-ท่าพระ) ดำเนินการก่อสร้างบน ถ.เพชรเกษม, จรัญสนิทวงศ์ และวงเวียนใหญ่ แต่ขณะนี้คืนพื้นผิวจราจรเกือบ 100% เหลือเพียงการปรับสภาพพื้นผิวให้เรียบขึ้น

2. โครงกาารถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) ดำเนินการก่อสร้างบน ถ.พหลโยธินยาวไปถึง ถ.คูคต คืนพื้นผิวจราจรแล้ว 9.9 กม. และเร่งรัดงานก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้แยกรัชโยธินแล้ว ทาง รฟม.แจ้งว่าจะแล้วเสร็จพร้อมใช้วันที่ 31 ต.ค.นี้

3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) มีผลกระทบกับ ถ.รามคำแหงตลอดสาย และมีการรื้อสะพานยกระดับขาเข้าบริเวณแยกรามคำแหง เบื้องต้นในช่วงเช้าจะเปิดช่องทางพิเศษ ( Reversible Lane) ตั้งแต่ ซ.รามคำแหง 60/5 – หน้าฟู้ดแลนด์ และอีกจุดหนึ่งที่มีปัญหา คือ ซึ่งเป็นแยกที่รับปริมาณรถจาก ถ.ลาดพร้าวและรามคำแหง แก้ปัญหาเบื้องต้นโดยได้เพิ่มช่องทางขาเข้าอีก 1 ช่องจราจร เพื่อระบายความคับคั่งลง

4. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สร้างบนแยกแคราย ถ.ติวานนท์ถึงแยกปากเกร็ด, ถ.แจ้งวัฒนะตลอดสาย, ถ.รามอินทรา และมีนบุรี ในขณะนี้ถนนรามอินทราและแจ้งวัฒนะมีช่องทางจราจรถูกใช้ไปด้านละ 1 ช่องจราจร แต่สภาพการจราจรยังไม่ถึงขั้นวิกฤตทั้งสองเส้น สามารถบริหารจัดการได้โดยการนำเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลตลอดแนวเส้นทางถนน

และ 5. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) มีผลกระทบกับ ถ.ลาดพร้าวจากแยกรัชดา-ลาดพร้าวถึงแยกบางกะปิ แล้วไปทาง ถ.ศรีนครินทร์ เลี้ยวขวาเข้า ถ.เทพารักษ์ สิ้นสุดที่ ถ.ปู่เจ้าสมิงพราย เมื่อช่วง มิ.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่พบปัญหาในช่วงขาออก ใช้ช่องทางขาเข้า 1 ช่องเท่านั้น

แต่เมื่อเข้าเดือน ส.ค.ต้องใช้ช่องทางขาออกเพิ่มอีก 1 ช่อง ทำให้ปัญหารถติดเริ่มหนักขึ้น อีกครั้งตลอดแนวถ.ลาดพร้าวมีป้ายรถประจำทางถึง 21 ป้าย จุดที่สาหัสที่สุด คือ บริเวณหน้าห้างบิ๊กซีลาดพร้าว เพราะนอกจากห้างแล้วยังมีตลาดนัดตั้งอยู่ด้วย ส่งผลกระทบให้รถติดลามไปถึงห้าแยกลาดพร้าว

เบื้องต้นจะเลื่อนป้ายรถประจำทางหน้าห้างบิ๊กซีลาดพร้าวเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของห้าง แล้วยกเลิกป้ายเดิมเพื่อบรรเทาปัญหาไปก่อน อีกทั้งจะปาดทางเท้าบริเวณทางเข้า-ออกห้าง เพื่อให้รถประจำทางเข้า-ออกได้สะดวก และจะเหลื่อมป้ายรถประจำทางบน ถ.ลาดพร้าวออกไปจากป้ายเดิมประมาณป้ายละ 50 เมตร

นอกจากนี้ยังได้แนะนำเส้นทางเลี่ยงจาก ถ.ลาดพร้าวด้วย โดยให้ประชาชนใช้ ซ.ลาดพร้าว 30 32 และ 36 เพื่อไปออก ถ.ลาดพร้าว-วังหิน, โชคชัย 4, ประเสริฐมนูกิจ และประดิษฐ์มนูธรรมแทน และจะมีการเปิดเกาะกลางบริเวณ ซ.รัชดา 32 ให้ประชาชนสามารถเลี้ยวขวาได้ทันทีไม่ต้องไปกลับรถไกล และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีข้อบังคับเจ้าพนักงานห้ามรถบรรทุกเกิน 6 ล้อ วิ่งและจอดในเส้นทางที่กำลังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าในช่วงเวลาเร่งด่วนแล้ว ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว จะมีผลบังคับใช้จนถึงปี 2565

@ รถไฟฟ้าใช้เวลาสร้างอีก 3-4 ปี

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง (สนข.) กล่าวว่า ความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 เส้นทางที่กำลังเป็นปัญหาทำให้จราจรติดขัด ได้แก่ สายสีส้มตะวันออก มีโครงสร้างทั้งบนดินและใต้ดิน คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี แล้วเสร็จในปี 2566 ถัดมาสายสีเหลืองเป็นโครงการยกระดับทั้งหมด คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จในปี 2564 และสายสีชมพูเป็นโครงสร้างยกระดับทั้งหมด คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จในปี 2564 เช่นเดียวกัน

โดย สนข.กำหนดแผนมาตรการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือประชาชนในการเดินทางและแบ่งเบาปริมาณจราจรแล้ว ได้แก่ การปรับและเพิ่มรถประจำทาง ขสมก.โดยจะให้ใช้ทางด่วนหรือทางพิเศษมากขึ้นในช่วงเร่งด่วน, เพิ่มรถ Shutter Bus รับส่งประชาชนจากจุดวิกฤตไปยังสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ ส่วนทางน้ำจะเพิ่มปริมาณเรือโดยสารคลองแสนแสบในช่วงเวลาเร่งด่วน และจะให้จอดรับส่งเฉพาะท่าเรือที่มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากเท่านั้น

@ บิ๊กตู่เดดไลน์ 3 เดือนฉลุย

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกมาตรการที่นำเสนอมาจะต้องปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมใน 3 เดือน และทุกหน่วยงานจะต้องร่วมบูรณาการการทำงานด้วยกัน จะทำแค่คนเดียวไม่ได้เรื่องของทางลัดทางอ้อมจากถนนที่มีปัญหานั้นอยากให้มีเส้นทางเสริมที่มากกว่านี้ เพื่อให้การจราจรไม่คับคั่งเกินไป การเชื่อมกับระบบอื่นต้องไม่คิดแค่ว่ารถไฟฟ้ามาต่อเรือหรือต่อรถประจำทางอย่างเดียว จะต้องคิดว่าหากเกิดปัญหาจราจรติดขัด มีระบบอื่นไหมที่สามารถใช้เป็นเส้นทางสำรองทดแทนกันได้

@ จี้พัฒนาเทคโนโลยีแทนคน

ส่วนระบบกล้องวงจรปิดสำหรับตรวจสภาพจราจรนั้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีการติดตั้งเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังใช้คนในการควบคุมดูแลอยู่ดี จึงอยากให้ลองพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้งานแทนคน เบื้องต้น อยากให้แจกแจงข้อมูลปริมาณรถที่อยู่บนถนนได้แบบเรียลไทม์ จะได้จัดการปัญหาจราจรได้ทันท่วงที

“ตนเคยเห็นระบบจัดการจราจรของประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด แทบไม่ใช้กำลังคนเลย อีกทั้งประเทศเขาก็ดำเนินการโดยเอกชนไม่ใช่รัฐอีกต่างหาก ต่อไปเราก็จะต้องเป็นแบบเดียวกับเขา จะใช้กำลังคนแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้วย”

@ แนะลากรถไฟฟ้าออกนอกเมือง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ปัญหาจราจรอีกอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหาคือ ไม่มีการพัฒนาโครงการที่จะสามารถขยายความเป็นชุมชนเมืองออกไป แม้ว่าตอนนี้จะมีโครงการรถไฟฟ้าในเมืองหลายสายก็ตาม แต่ก็เป็นรถไฟฟ้าที่สร้างในพื้นที่ที่มีอัตราประชากรอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ดังนั้นการพัฒนาโครงข่ายต่างๆ ในอนาคตจะต้องกระจายความเจริญออกไป

ส่วนการทำระบบฟีดเดอร์จากเส้นทางรถไฟฟ้าสายหลักก็สำคัญ เพราะตอนนี้ระบบฟีดเดอร์ของเรายังมีน้อยอยู่ จึงอยากให้กรมการขนส่งทางบกและ กทม.ไปร่วมกันวางแผนและออกแบบเส้นทางระบบฟีดเดอร์มาเสนอต่อไป

ขณะที่แนวคิดการปาดทางเท้าเพื่อให้รถประจำทางเข้าไปจอดรับส่งคนนั้น อยากให้คิดต่อว่าจะสามารถทำโมเดลแบบเดียวกันสำหรับรถแท็กซี่เข้าไปจอดรับส่งผู้โดยสารได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาแท็กซี่ปัญหาการจอดรถที่ไม่เป็นระเบียบ นึกจะจอดจุดใดก็จอด ยิ่งซ้ำเติมปัญหาจราจรเข้าไปอีก

@ เร่งเพิ่มที่จอดรถ

อีกเรื่องคือการทำที่จอดรถตามแนวรถไฟฟ้า (Park and Ride) เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ โดยเฉพาะการหาที่จอดรถซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยว เช่น ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ถ้าสามารถทำได้ก็จะเสนอเป็นนโยบายต่อไป

สุดท้ายขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจแทนประชาชนที่ช่วยกันทำงานจนทำให้เกิดความปลอดภัย ถึงจะไม่ 100% แต่ตนชื่นชมและให้กำลังใจเสมอ เวลาเจอเจ้าหน้าที่ระดับล่างก็จะทักทายเสมอ ส่วนการปิดเส้นทางจราจร เพื่อให้ขบวนรถของตนผ่านไปก่อนนั้นถ้าไม่ได้มีภารกิจเร่งด่วนอะไร ตนก็พร้อมจะรถติดไปกับประชาชนด้วยเหมือนกัน