สัมภาษณ์
นับจากควักเงินไปหลายหมื่นล้านบาทสร้างรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทยไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว
ล่าสุด “คีรี กาญจนพาสน์” เจ้าพ่อบีทีเอสได้ฤกษ์จะเซ็นสัญญาใหญ่วันที่ 16 มิ.ย.นี้ หลังผนึกกำลังพันธมิตร จัดตั้งกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ถือหุ้น 75% บมจ.ซิโน-ไทยฯ ยักษ์รับเหมาของตระกูล “ชาญวีรกูล” ถือ 15% ที่เหลือ 10% เป็นของ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ลงขันร่วม 1 แสนล้านบาท ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีชมพูแคราย-มีนบุรีและสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง โมโนเรล 2 สายแรกของประเทศไทย
“บีทีเอสเซ็นสัญญาสร้างสายสีเขียวเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเราลงทุนทั้งหมด ส่วนสายสีชมพูกับเหลืองจะเป็นโครงการที่ 2 เป็นการลงทุนแบบ PPP Net Cost เรารับสัมปทาน 30 ปีเดินรถและบริหารโครงการ”
วันนี้บีทีเอสได้พิสูจน์แล้วว่าโครงการรถไฟฟ้ามีประโยชน์มากต่อคนกรุงเทพฯนำความเจริญและลดความแออัดด้านการจราจรได้ แต่ว่าจากการที่เอกชนลงทุนทั้งงานโยธาและระบบรถ ทำให้เป็นโครงการแรกที่เป็นประสบการณ์ให้รัฐและผู้ลงทุนว่าโครงการอินฟราสตรักเจอร์ ต้องมีรัฐช่วยสนับสนุนงานโยธา เอกชนลงทุนคนเดียวไม่คุ้ม บริษัทมีภาระหนี้และต้องเข้าแผนฟื้นฟู กว่าจะสามารถพลิกกลับมีกำไรได้ในทุกวันนี้
“จำได้ว่าตอนที่เริ่มบีทีเอส เป็นช่วงที่ลำบากมากจากการที่ประชาชน นักวิเคราะห์ เอ็นจีโอ ไม่เข้าใจถึงจุดประสงค์และความต้องการ พอสร้างเสร็จและเปิดใช้ปีแรกมีคนใช้ 1.5 แสนเที่ยวคน/วัน ห่างไกลจากตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ จนเกือบ 10 ปีถึงเพิ่มขึ้นมาถึง 8 แสนเที่ยวคน/วัน”
ขณะนี้บีทีเอสเป็นบริษัทเดียวในโลกที่ลงทุนโครงการถไฟฟ้า ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าที่ลงทุนเองและรับจ้างเดินรถให้กรุงเทพมหานคร(กทม.) รวม 67 กม. อีก 3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 141 กม.รองรับผู้โดยสารกว่า 2 ล้านเที่ยวคน/วัน จากสายสีชมพูและสีเหลือง 64 กม. ส่วนขยายบีทีเอสบางหว้า-ตลิ่งชัน 7 กม.และสายสีทอง 3 กม.
“บางคนบอกว่าสีชมพูกับสีเหลืองเป็นโครงการที่ไม่น่าลงทุนก็จริง เพราะศึกษาแล้วผลตอบแทนไม่สูงเลยประมาณ 8% สูงกว่าดอกเบี้ยฝากเล็กน้อย แต่เรามีประสบการณ์เดินรถไฟฟ้า 17 ปี สามารถลดต้นทุนโครงการได้ บางอย่างที่ลักเซอรี่อาจไม่ต้องใช้ตอนนี้ เน้นบริการและความปลอดภัย อาจจะทำให้ต้นทุนเราต่ำกว่าที่ตั้งเอาไว้”
ทั้ง 2 สายใช้เงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท แยกเป็นเงินทุน 28,000 ล้านบาท คิดตามสัดส่วนหุ้นคือบีทีเอส 21,000 ล้านบาท ซิโน-ไทยฯ 4,200 ล้านบาท ราชบุรีโฮลดิ้ง 2,800 ล้านบาท
ที่เหลือ 72,000 ล้านบาท รัฐจะอุดหนุนค่าก่อสร้างไม่เกิน 43,000 ล้านบาท ของสีชมพู 20,135 ล้านบาท และสีเหลือง 22,354 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี หลังให้บริการปี 2564 อีก 30,000 ล้านบาท กู้จากธนาคารกรุงเทพและระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง (บีทีเอสโกรท)
และไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ “คีรี” ยังหนีบซิโน-ไทยฯและราชบุรีโฮลดิ้งลงสนามประมูลรถไฟฟ้าสายอนาคต รวมถึงรถไฟความเร็วสูง ทางคู่และระบบไฟฟ้าในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)
“นาทีนี้ผมมั่นใจว่าอีอีซีจะเกิด แต่รัฐต้องเร่งลงทุนอินฟราสตรักเจอร์ลำดับแรก เพื่อดึงคนมาลงทุน เรากำลังดูว่ารัฐจะให้เอกชนร่วมลงทุนอะไรบ้าง ทั้งรถไฟความเร็วสูง ทางคู่ เราทำได้หมด พร้อมทั้งด้านก่อสร้าง การเงิน แต่รัฐต้องสนับสนุนบ้าง”
เป็นสูตรสำเร็จที่ “คีรี” โยนเป็นโจทย์ให้รัฐพิจารณา หลังเคยบาดเจ็บมาแล้วจากบีทีเอส และไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก!