กรมท่าอากาศยานทุ่มกว่า 2.2 หมื่นล้านยกระดับ 7 สนามบินภาคใต้ รับท่องเที่ยวโต เร่งพัฒนาหัวหิน ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ฯ เชื่อมท่าเรือ หนุนไทยแลนด์ริเวียร่า กระตุ้นเที่ยวทะเลฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน ปี’63 เปิดบริการสนามบินเบตง เสริมแกร่งเศรษฐกิจชายแดนใต้
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า กรมมีแผน 10 ปีพัฒนาท่าอากาศยานในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 7 แห่ง วงเงินลงทุนกว่า 22,000 ล้านบาท ทั้งปรับปรุงและขยายอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองตามนโยบายของรัฐบาล และในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก หรือโครงการไทยแลนด์ริเวียร่าได้แก่ สนามบินกระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช หัวหิน เบตง และนราธิวาส ส่วนสนามบินชุมพรอยู่ระหว่างดำเนินการโอนให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เป็นผู้บริหาร
โดยการสนับสนุนโครงการไทยแลนด์ฯ กรมจะดำเนินการผ่านท่าอากาศยาน 4 แห่ง คือ สนามบินหัวหิน ชุมพร ระนอง และสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีแนวทางการพัฒนาสนามบินระนองในระยะต่าง ๆ ในปี 2561 ก่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่ง วงเงิน 28.5 ล้านบาท อยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้
นอกจากนี้เพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐาน ด้านการรักษาความปลอดภัย จะเริ่มในปี 2562 วงเงินรวม 116.27 ล้านบาท ประกอบไปด้วย ระบบจัดการรักษาความปลอดภัยพื้นที่การบินและเครือข่ายดาวเทียม วงเงิน 41 ล้านบาท เครื่องตรวจอาวุธและวัตถุระเบิดแบบ EDS พร้อมสายพานลำเลียงสัมภาระ ห้องควบคุมและอุปกรณ์ วงเงิน 75.27 ล้านบาท
จากนั้นในปี 2563 จะก่อสร้างรั้วปิดเขตการบินและเพิ่มลวดหนามของรั้วรอบบริเวณ วงเงิน 19.5 ล้านบาท ปรับปรุงระบบไฟฟ้าแรงสูง-แรงต่ำ หม้อแปลงไฟฟ้า UNISUB อาคาร AFL วงเงิน 8 ล้านบาท ปรับปรุงระบบไฟฟ้าแรงสูง-แรงต่ำ หม้อแปลงไฟฟ้า UNISUB อาคารที่พักผู้โดยสาร วงเงิน 14.85 ล้านบาท ปัจจุบันสนามบินระนองมีสายการบินให้บริการ 2 เส้นทาง กรุงเทพฯ-ระนอง-กรุงเทพฯ รวม 6 เที่ยวบินต่อวัน
นอกจากนี้กรมยังได้จัดทำแนวทางการเพิ่มคุณค่าของสนามบินตามแนวคิดไทยแลนด์ริเวียร่าของรัฐบาล ใน 4 แห่ง คือ หัวหิน ชุมพร ระนอง และสุราษฎร์ธานี พัฒนาเส้นทางการเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคม ตามนโยบาย One Transport ของกระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อสร้างอาชีพและกระจายรายได้แก่ชุมชน
โดยแผนการพัฒนาสนามบินหัวหิน มีแนวทางการเชื่อมต่อระบบคมนาคมทางน้ำจากสนามบิน ไปยังท่าเรือเฟอรี่หัวหิน และเดินทางต่อไปยังท่าเรือบางปู ท่าเรือศรีราชา ท่าเรือแหลมบาลีฮาย พัทยา
ส่วนสนามบินชุมพรจะเชื่อมต่อระบบคมนาคมทางน้ำจากสนามบิน ไปยังท่าเรืออ่าวทุ่งมะขามน้อย และเดินทางต่อไปยังเกาะเต่า เกาะพะงัน เกาะสมุย ขณะนี้ระนองจะเชื่อมต่อระบบคมนาคมทางน้ำจากสนามบิน ไปยังท่าเทียบเรือเทศบาล ตำบลปากน้ำ เพื่อเดินทางไปเกาะพยาม เกาะช้าง และสนามบินสุราษฎร์ธานีจะเชื่อมต่อระบบคมนาคมทางน้ำจากสนามบิน ไปยังท่าเรือดอนสัก เพื่อเดินทางไปเกาะสมุย เกาะพะงัน เป็นต้น
นายดรุณกล่าวว่า ปัจจุบันกรมอยู่ระหว่างก่อสร้างสนามบินเบตง จ.ยะลา บนที่ดิน 920 ไร่ วงเงิน 1,900 ล้านบาท โดยงานก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร คืบหน้า 28% งานก่อสร้างลานจอดเครื่องบิน มีความก้าวหน้า 50%
งานก่อสร้างพื้นที่ทางขับ แท็กซี่เวย์ มีความก้าวหน้า 42% งานก่อสร้างพื้นที่ทางวิ่ง มีความก้าวหน้า 84% งานก่อสร้างถนนภายในโครงการ มีความก้าวหน้า 45% งานก่อสร้างรั้วโครงการ มีความก้าวหน้า 50% งานดินตัด-ดินถมเพื่อปรับระดับพื้นที่ มีความก้าวหน้า 95%คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2563 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีขนาดทางวิ่งกว้าง 30 เมตรและยาว 1,800 เมตร
สามารถรองรับอากาศยานแบบ ATR 72 และ Q-400 (จำนวน 80 ที่นั่ง) อาคารผู้โดยสารสามารถรองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน 300 คนต่อชั่วโมง รองรับผู้โดยสารได้ 500,000 คนต่อปี จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และบริเวณจังหวัดใกล้เคียงทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ