ประมูล”สุวรรณภูมิเฟส2″ป่วน จ่อเลื่อนยาวเซ็นสัญญา”บริษัทดวงฤทธิ์”

แฟ้มภาพ

สนามบินสุวรรณภูมิป่วน ส่อเลื่อนยาวจ้างกลุ่มดวงฤทธิ์ออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 วงเงิน 329 ล้าน ทอท.รอชัดเจนจากศาลปกครอง กระทบแผนลงทุน 4.2 หมื่นล้าน ดิวตี้ฟรี คิง เพาเวอร์ จ่อรวบเป็นสัมปทานเดียว 

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังไม่มีกำหนดจะเซ็นสัญญากลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก ประกอบด้วย บจ.ดวงฤทธิ์ บุนนาค, บจ.อีเอ็มเอส คอนซัลแตนท์, บจ.เอ็มเอชพีเอ็ม, บจ.มัลติ ซิสเต็ม เอ็นจิเนียริ่ง, บจ.เออาร์เจ สตูดิโอ และ บจ.นิเคนเซกเก ผู้ชนะประมูลออกแบบโครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ 329 ล้านบาท

เนื่องจากต้องรอความชัดเจนจากการยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยกลุ่ม SA Group ประกอบด้วย บจ.สแปน คอนซัลแตนท์, บจ.ไซน์-เทค เอ็นจิเนียริ่งคอนซัลแตนท์, บจ.อะซูซา เซคเคอิ และ บจ.สกายปาร์ตี้ ที่ยื่นคำร้องไปยังศาล หลังไม่ได้รับคัดเลือก เพราะเตรียมเอกสารยื่นประมูลไม่ครบถ้วน

จากความไม่แน่นอนเรื่องเซ็นสัญญา อาจจะกระทบต่อกรอบเวลางานออกแบบและการนำแบบไปประมูลก่อสร้าง วงเงิน 42,084 ล้านบาท คาดจะเริ่มปลายปี 2562 แล้วเสร็จปลายปี 2564

นอกจากนี้อาจจะกระทบต่อการประมูลพื้นที่ปลอดภาษีอากร (ดิวตี้ฟรี) สนามบินสุวรรณภูมิที่บริษัท คิว เพาเวอร์ เป็นผู้รับสัมปทานจะหมดสัญญาปี 2563 ซึ่ง ทอท.มีแนวคิดจะนำพื้นที่ในอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่กำลังจะออกแบบนี้รวมเป็นแพ็กเกจเดียวกับอาคารผู้โดยสารปัจจุบันมีพื้นที่ 25,000 ตร.ม. และอาคารแซตเทลไลต์อีก 12,000 ตร.ม. ซึ่งอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทาง ผู้ออกแบบยังไม่ระบุว่ามีพื้นที่เชิงพาณิชย์เท่าไหร่ แต่ในทีโออาร์กำหนดไว้ 20,000 ตร.ม. แต่สามารถดีไซน์ให้มากกว่านี้ได้ ตามแผนจะเปิดประมูลภายในเดือน ก.ย. 2561

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐให้ข้อมูลว่า กรณีงานออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เป็นกรณีจ้างออกแบบ ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 คือ ผู้ที่ไม่ได้รับคัดเลือกมีสิทธิอุทธรณ์ ในระหว่างนี้หน่วยงานไม่สามารถลงนามสัญญาได้ ตามขั้นตอนทางวิปกครอง ผู้ถูกตัดสิทธิ์ มีสิทธิ์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง หากไม่ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในเหตุฉุกเฉิน จึงจะดำเนินการต่อได้

ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างระบุตอนหนึ่งว่า “การลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างจะกระทำได้ต่อเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาอุทธรณ์และไม่มีผู้ใดอุทธรณ์ตามมาตรา 117 หรือในกรณีมีการอุทธรณ์เมื่อหน่วยงานของรัฐได้รับแจ้งจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ทำการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปได้ เว้นแต่การจัดซื้อจัดจ้างที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หรือการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงหรือการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินเล็กน้อย ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ระบุว่า การลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง จะกระทำได้เมื่อพ้นระยะเวลาอุทธรณ์

“ถ้ามีการอุทธรณ์ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า ฟังขึ้น ให้คณะกรรมการอุทธรณ์สั่งให้หน่วยงานรัฐดำเนินการจัดให้มีการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ หรือเริ่มจากขั้นตอนใด ๆ ตามที่เห็นสมควร ในกรณีที่คณะกรรมการอุทธรณ์เห็นว่าการอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น หรือไม่มีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้าง อย่างมีนัยสำคัญ ให้แจ้งหน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป หรือลงนามในสัญญาได้


อย่างไรก็ตาม หน่วยงานรัฐอาจยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างได้ เช่น ไม่มีงบประมาณเพียงพอ หรือมีการกระทำที่เข้าลักษณะผู้ยื่นข้อเสนอที่ชนะหรือที่ได้รับคัดเลือกมีผลประโยชน์ร่วมกัน หรือมีส่วนได้เสียกับผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น หรือขัดขวางการแข่งขันอย่างเป็นธรรม