“ซีพี” แต้มต่อเฟ้นระบบเอเชีย-ยุโรป ดึงพันธมิตรเวิลด์คลาสชิงไฮสปีด EEC

นับถอยหลังถึงวันที่ 12 พ.ย.นี้ เหลือเวลาเพียง 2 เดือน จะเปิดยื่นซองประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ท่ามกลางห้วงเวลาที่กระชั้นชิด บริษัทเอกชนทั้ง 31 รายที่ซื้อซองประมูล กำลังเฟ้นพันธมิตร เร่งทำการบ้านที่ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ให้โจทย์ในทีโออาร์อย่างขะมักเขม้น

ขณะที่ “ซี.พี.-บจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์” ซึ่งซื้อซองในนาม “บจ.เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง” หนึ่งในตัวเต็ง ล่าสุดกำลังเจียระไนพันธมิตรระดับโลกอย่างละเมียดละไม ทำข้อเสนอชิงดำเค้กเมกะโปรเจ็กต์แห่งชาติกว่า 2.24 แสนล้านบาท

ดึงผู้เชี่ยวชาญระดับโลกลงทุน

ในบัญชีรายชื่อที่ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” เนมชื่อมีทั้งอิตาลี ฝรั่งเศส จีน และญี่ปุ่น ที่กำลังร่วมกันศึกษาโครงการนี้ ส่วนจะเป็นใครบ้างที่จะร่วมทุนจริงจัง ก่อนวันยื่นซองประมูล 12 พ.ย.นี้ น่าจะเผยโฉมหน้าพันธมิตรที่แท้จริง

กว่าวันนั้นจะมาถึง “กลุ่ม ซี.พี.” เดินสายดูโมเดลรถไฟความเร็วสูงของแต่ละประเทศไม่ว่า อิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน เพื่อหาสูตรลงทุนที่ลงตัวมาประยุกต์ใช้และถูกจริตกับประเทศไทย ที่ยังไม่เคยมีรถไฟความเร็วสูงมาก่อน

ทริปแรกตะลุย “อิตาลี-ฝรั่งเศส” ประเทศบุกเบิกรถไฟความเร็วสูงในยุโรป จุดหมายแรกปักหมุดที่ “บริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี” หรือ Ferrovie dello Stato Itailane S.p.A. (FS) ยักษ์ใหญ่ในอิตาลี ถึงไม่มีชื่อเข้าซื้อซองประมูล แต่นับเป็นบริษัทที่น่าจับตาไม่น้อย จากผลการดำเนินธุรกิจที่ถูกบันทึกไว้เป็นบริษัทมีกำไรจากธุรกิจรถไฟที่เดียวในโลกจึงทำให้ได้รับความสนใจ สำหรับ “FS” มีกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของอิตาลี ถือหุ้น 100% ดำเนินธุรกิจ 4 ด้าน มีการขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และบริการอื่น ๆ

อิตาลีที่เดียวสร้างกำไรจากรถไฟ

นายนีโน่ ชิงโกลานี่ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านการสร้างระบบรถไฟระหว่างประเทศ เครือการรถไฟแห่งชาติ เอฟเอส อินเตอร์เนชั่นแนล-อิตาเลี่ยน กล่าวว่า บริษัทได้ร่วมกับ ซี.พี.ศึกษาว่าจะสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง

สำหรับการเข้าร่วมประมูลรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย ซึ่งบริษัทมีประสบการณ์ด้านระบบรางมายาวนาน 180 ปี มี บจ.เตรนิตาเลีย บริษัทในเครือเป็นผู้บริการเดินรถ

มีการบริหารจัดการแบบครบวงจรทั้งระบบวิศวกรรม ระบบควบคุม การบำรุงรักษา และบริหารพื้นที่สถานีและโดยรอบ รวมถึงยังมีเครือข่ายถนนและรถบัสที่มาเชื่อมการเดินทาง โดยรถไฟที่ดำเนินการจะสามารถขนทั้งผู้โดยสารและสินค้า มีศูนย์ควบคุมบริหารจัดการ 14 แห่งทั่วประเทศดูแลเส้นทางรถไฟ 16,788 กม. เป็นรถไฟความเร็วสูง 7,000 กม. มี 2,195 สถานีสำหรับผู้โดยสาร และ 208 สถานีสำหรับขนส่งสินค้า โดยพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นแรกโรม-ฟลอเรนซ์ เมื่อปี 1977

“รูปแบบลงทุน รัฐบาลจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ ส่วนบริษัทลงทุนระบบ ขบวนรถและบริหารจัดการโครงการ จึงทำให้มีกำไร โดยมีรายได้จากการเดินรถ 1,700 ล้านยูโรต่อปี ซึ่ง 1 ใน 3 เป็นรายได้ของรถไฟความเร็วสูง และมีรายได้ไม่มาจากการเดินรถ เช่น เชิงพาณิชย์ 15-20%” นายนีโน่กล่าวย้ำ

ฝรั่งเศสขอร่วมออกแบบ

ฝั่งของ “ฝรั่งเศส” ที่ตีตั๋วซื้อซองร่วมขบวนไฮสปีดเทรนสายอีอีซีถึง 2 บริษัท คือ SNCF INTERNATIONAL และ TRANSDEV GROUP ก็ออกตัวเสียงดังฟังชัด จะร่วมกับ ซี.พี. ยักษ์ใหญ่ธุรกิจในเมืองไทย เนรมิตโครงการ

นางแอคแนส โรมาเธ-เอสปาญ รองประธานกรรมการบริหาร ด้านการพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศบริษัท ทางรถไฟแห่งชาติ ฝรั่งเศส (SNCF) กล่าวว่า บริษัทพร้อมจะร่วมกับ ซี.พี. ที่จะสร้างโครงการที่เป็นแลนด์มาร์กของประเทศ ซึ่งรูปแบบการลงทุนขณะนี้ยังไม่ได้คิดที่จะลงทุนด้วยการเข้าไปถือหุ้นร่วมทุน กำลังพิจารณาว่าจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ ซี.พี. มีส่วนร่วมตั้งแต่ออกแบบ วางแนวคิดการพัฒนาระบบโครงการ จนถึงการบริหารจัดการในระยะยาว ไม่ใช่เป็นการนำคนฝรั่งเศสเข้าไปดำเนินการเองเป็น 100,000 คน ต้องให้คนท้องถิ่นดำเนินการเอง โดยบริษัทจะฝึกอบรมสร้างบุคลากรดูแลโครงการระยะยาว เช่น ที่โมร็อกโก เป็นคนท้องถิ่น 60% คนฝรั่งเศส 40%

“เราศึกษาร่วมกับ ซี.พี.รายเดียว เพราะมีจุดเด่นเหนือกว่ารายอื่น ๆ ที่จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากโครงการจากการพัฒนาอสังหาฯรอบสถานี เช่น ศูนย์การค้า และบริการ ซึ่งการลงทุนระบบขนส่งไม่ง่าย แต่ ซี.พี.สามารถเข้าใจได้เร็ว เรามีจุดเด่นคือ ความปลอดภัย ความปลอดภัย และความปลอดภัยที่มีให้ผู้โดยสาร”

บริษัทดำเนินการกิจการแบบรัฐวิสาหกิจ ให้บริการรถไฟและคำปรึกษาธุรกิจครบวงจร มาร่วม 80 ปี มี 6 สายงานธุรกิจ เช่น ธุรกิจรถไฟ การขนส่งระยะไกล การบริหารจัดการสถานีรถไฟกว่า 3,000 สถานี การซ่อมบำรุงรักษา มีรายได้ 1,300 ล้านยูโรต่อปีจากการเดินรถและพัฒนาเชิงพาณิชย์บนสถานีและโดยรอบ มีธุรกิจอยู่ทั่วโลกกว่า 20 ประเทศ ส่วนฝรั่งเศสปัจจุบันให้บริการ 120 เมือง เป็นรถไฟธรรมดา 30,000 กม. รถไฟความเร็วสูง 2,824 กม. มี 230 สถานี วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 320 กม.ต่อ ชม. มีผู้โดยสารใช้บริการ 14 ล้านคนต่อวัน จำนวนเที่ยวโดยสาร 15,500 เที่ยวต่อวัน หรือ 420 ขบวน

โดยบริษัทเป็นผู้ให้บริการรถไฟความเร็วสูง หรือเตเฉเว (TGV) วิ่งให้บริการระหว่างประเทศกว่า 500 แห่ง ปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดในยุโรปกว่า 50% และเป็น 1 ใน 3 ของโลก และเป็นอันดับ 7 ของโลก ด้านระบบการขนส่งสินค้า ขณะเดียวกันกำลังวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการขนส่งเป็นพลังงานสะอาดและรถไฟไร้คนขัรับเทรนด์โลก

“SNCF พัฒนารถไฟความเร็วสูงที่รัสเซีย ในโมร็อกโกเป็นสายแรกของแอฟริกา วิ่งด้วยความเร็ว 574 กม.ต่อ ชม. ยังมีเกาหลีใต้ และยังเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้รถไฟไต้หวัน แม้แต่จีนก็ได้ช่วยออกแบบเส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ รวมถึงฝึกอบรมพนักงานด้วย แล้วทำไมไม่เปิดโอกาสให้ SNCF พัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในประเทศไทย”

ซี.พี.ยังไม่เคาะพันธมิตร

ด้าน “อติรุฒม์ โตทวีแสนสุข” หัวหน้าทีมประสานงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเครือเซี.พี. กล่าวว่า การลงทุนรถไฟความเร็วสูงในอีอีซีไม่ใช่แค่หาพันธมิตรมีศักยภาพมาลงทุน ต้องมีการนำระบบเทคโนโลยีที่ดีมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย ในยุโรปการเดินรถไฟความเร็วสูงมีประวัติศาสตร์ยาวนานไม่แพ้ญี่ปุ่น ซึ่งอิตาลีและฝรั่งเศสที่เป็นผู้ริเริ่มรถไฟความเร็วสูงความเร็วกว่า 250 กม./ชม. เป็นมาตรฐานใช้กันทุกประเทศในยุโรป ส่วนจีนเพิ่งมีรถไฟความเร็วสูงเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยเรียนรู้จากยุโรป ญี่ปุ่น ไปประยุกต์ใช้กับประเทศตัวเองและสร้างปรากฏการณ์มีระยะทางมากที่สุด 25,000 กม. หรือ 60-70% ของโลก

“เราไปดูงานหลายประเทศ ถ้าพูดถึงรถไฟความเร็วสูง ไม่ได้มีอยู่แค่ยุโรป ยังมีเอเชีย ตะวันออกกลาง เราทำการบ้าน เรียนรู้อย่างหนักว่าใครเป็นใคร มีศักยภาพ จุดเด่นอะไร เพื่อตกผลึกในระยะเวลา 4 เดือนก่อนยื่นซองประมูล ซึ่งเป็นเวลาสั้นมากจากปกติ 8-9 เดือน”

ดึงร่วมลงทุนทุกด้าน

“อติรุฒน์” อธิบายว่า การหาพันธมิตรถ้าดูองค์ประกอบที่เป็นแกนหลักสำคัญมีหลายด้าน ทั้งผู้ลงทุน การก่อสร้าง งานระบบ การบริหารจัดการ ผู้สนับสนุนแหล่งเงิน และอสังหาริมทรัพย์ เพราะโครงการนี้คงไม่ใช่แค่สร้างรถไฟ ต้องมีพัฒนาเชิงพาณิชย์สร้างรายได้ด้วย

โมเดลของต่างประเทศจะเหมือนกันหมดว่าจะมีรายได้มาจากไหน เช่น ค่าโดยสาร พัฒนาเชิงพาณิชย์ การสร้างกิจกรรมต่าง ๆ การบริหารจัดการต้นทุน ทุกอย่างต้องเริ่มจากการออกแบบก่อสร้าง เพราะถ้าออกแบบผิดแต่ต้น จะทำให้ต้นทุนโครงการสูง เราก็ต้องรอให้กระบวนการทุกอย่างสุกงอมแล้วประเมินก่อนจะตัดสินใจยื่นประมูล

“เป็นโครงการใหญ่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในภาพใหญ่ ไม่ควรจะเป็นการดำเนินการของประเทศไทยอย่างเดียว ต้องมีต่างชาติเข้ามาร่วม เพื่อเราจะได้เทคโนโลยีทรานส์เฟอร์ โนว์ฮาว เป็นความรู้ที่ไม่เคยมี ที่สำคัญจะมีการสร้างบุคลากรคนไทยรุ่นใหม่ตามมา จะเกิดประโยชน์ต่อการบริหารโครงการที่มีประสิทธิภาพและทุกฝ่าย”

ขณะที่ผลตอบแทนการลงทุนก็ต้องอยู่ในระดับพึงพอใจเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ร่วมลงทุน ถ้าไม่เพียงพอเขาก็ไม่สนใจจะมาร่วม แต่คนอยู่ในอุตสาหกรรมนี้เข้าใจเป็นอย่างดีว่า โครงการไม่ได้มีผลตอบแทนการลงทุน 2-3 ปี เราพูดถึง 5 ปี 10 ปี 20 ปี ซึ่งโครงการนี้มีอายุ 50 ปี ถ้าเลือกพาร์ตเนอร์มาลงทุนต้องเป็นระยะยาว เป็นผู้มีความรับผิดชอบ จะมาขายของอย่างเดียวคงไม่ใช่ ไม่เกิดประโยชน์กับใคร เพราะโครงการนี้เป็นการสานประโยชน์ร่วมกัน

“โครงการอินฟราสตรักเจอร์ ผลตอบแทนไม่สูงมาก และมีความเสี่ยงเยอะ คนจะมาร่วมกับเราต้องมั่นใจ ซึ่งโครงการอีอีซีและใหญ่ขนาดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปีในประเทศไทย ที่จะขับเคลื่อนทั้งภูมิภาค สร้างคน สร้างเศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด ต้องมีโครงการขนาดใหญ่ไม่ใช่เฉพาะรถไฟความเร็วสูง ต้องใช้องค์ประกอบหลากหลาย ต้องมีสนามบิน มีการลงทุนของต่างชาติ ฮับของโลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้า ท่าเรือ เมืองรองรับชุมชนที่จะเกิดใหม่”

เดินสายจีน-ญี่ปุนต่อ

เสร็จจากทริปอิตาลี-ฝรั่งเศส “ซี.พี.” เดินสายไปต่อที่ “ญี่ปุ่น” ดูโมเดลการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของ JR East และสถานีโตเกียว จากนั้นไปประเทศจีนดูงานของ CRRC บริษัทการก่อสร้างทางรถไฟของประเทศจีน หนึ่งใน 7 บริษัทจากจีนที่ร่วมซื้อซองประมูล ตามโปรแกรมดูโรงงานการผลิตขบวนรถไฟความเร็วสูงที่ใหญ่ที่สุดที่เมืองชิงเต่า การพัฒนาสถานีรถไฟความเร็วสูงหงเฉียว และศูนย์กลางควบคุมการเดินรถที่นครเซี่ยงไฮ้ ปิดท้ายที่ประเทศไทย “ซี.พี.”

พาสำรวจเส้นทางรถไฟจากมักกะสัน-พลูตาหลวง เลาะดูจุดที่ตั้งสถานีรายทางและสนามบินอู่ตะเภา ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 3 ในวันที่ 14 ก.ย.นี้