ดึง5บิ๊กรีเทลบูม28สนามบิน ปูพรมฟาสต์ฟู้ด-ดิวตี้ฟรีจิ๋ว

รัฐบูม 28 สนามบินภูมิภาค เปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ ดึง 5 บิ๊กรีเทล “ซี.พี.-เซ็นทรัล-ไมเนอร์-สหพัฒน์-ปตท.” ชิงดำผุดร้านสะดวกซื้อ ดิวตี้ฟรีจิ๋ว สัญญาเช่า 3 ปี ประเดิม “แม่สอด-อุบลฯ” ปีหน้าลุย 6 แห่ง จ่อดึงเอกชน PPP 3 สนามบิน สมาคมค้าปลีกชี้ท่องเที่ยวโตสุดขีด จับตาคิง เพาเวอร์ กินรวบ 4 สนามบิน ทอท.

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะทยอยเปิดประมูลให้กลุ่มค้าปลีกรายใหญ่เข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสนามบินภูมิภาคทั้ง 28 แห่งที่อยู่ระหว่างขยายและปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อยกระดับบริการ และรองรับการท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยสายการบินโลว์คอสต์ไปยังหัวเมืองหลัก จากสถิติปี 2560 มีผู้โดยสารใช้บริการสนามบินของกรมอยู่ที่ 18.6 ล้านคน

ในปี 2561 คาดว่าจะเติบโต 7% อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (nonaeronautical revenues) เป็น 30% จากปัจจุบัน 10% ของรายได้รวม ซึ่งในปี 2560 กรมมีรายได้อยู่ที่ 1,384 ล้านบาทและปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ 1,416 ล้านบาท

5 บิ๊กรีเทลสนใจ

“ตอนนี้มีเอกชน 5 รายที่สนใจ เป็นทั้งเจ้าของร้านกาแฟและสะดวกซื้อแบรนด์ดัง ไม่ว่า ปตท.มีร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน เครือเซ็นทรัลมีร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ทและขนมอานตี้ แอนส์ เครือไมเนอร์มีไอศกรีมแดรี่ควีน เครือสหพัฒน์จะมีมินิมาร์ทลอว์สัน 108 และเครือ ซี.พี.มีร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น นับเป็นครั้งแรกที่กรมจะยกร้านแบรนด์ดัง ๆ มาไว้ที่สนามบินภูมิภาค และจะกำหนดราคาขายสินค้าให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด โดยแพงกว่าท้องตลาดไม่เกิน 10%”

ปีนี้ประมูลแม่สอด-อุบลฯ

นายดรุณกล่าวอีกว่า ภายในปีนี้จะเริ่มประมูล 2 แห่ง ได้แก่ สนามบินแม่สอด จ.ตาก และอุบลราชธานี โดยที่แม่สอดซึ่งกรมกำลังปรับปรุงยกระดับสนามบินให้เป็นนานาชาติ รองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ปัจจุบันกรมได้ออกประกาศทีโออาร์เชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูลพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ที่จะสร้างเสร็จปลายปีนี้ มีพื้นที่เชิงพาณิชย์รวม 1,325 ตร.ม. มีพื้นที่เช่าเอกชน 70% อาทิ ร้านค้าจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ร้านขายสินค้าที่ระลึก ของฝาก ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลอดภาษีอากร (ดิวตี้ฟรี) ศูนย์อาหาร มีอัตราค่าเช่าอยู่ที่ 500-800 บาท/ตร.ม./เดือน และสินค้าจากวิสาหกิจชุมชน 30% จะเก็บค่าเช่า 250-400 บาท/ตร.ม./เดือน คาดว่าจะเปิดยื่นซองประมูลภายในเดือน ก.ย. และประกาศผู้ชนะในเดือน ต.ค. เพื่อให้ทันเปิดใช้บริการอาคารหลังใหม่ในเดือน ธ.ค.นี้ จะรองรับผู้โดยสารได้ 1.7 ล้านคนต่อปี

ส่วนอุบลราชธานี จะประกาศทีโออาร์ภายในเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นจะเปิดให้เอกชนเข้าประมูลในเดือน ต.ค. และจะประกาศผลผู้ชนะประมูลในเดือน พ.ย. 2561 จากนั้นในปี 2562 จะทยอยดำเนินการเปิดประมูลพื้นที่สนามบินอื่น ๆ ที่กำลังจะทยอยหมดสัญญาเช่าพื้นที่ อาทิ กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง อุดรธานี นครพนม นครศรีธรรมราช ขอนแก่น น่านนคร เป็นต้น

ผุดดิวตี้ฟรี 3 แห่ง

ทั้งนี้ ในส่วนของสนามบินที่มีสายการบินระหว่างประเทศจะมีพื้นที่ดิวตี้ฟรีไว้บริการด้วย ในเบื้องต้นมี 3 แห่ง ได้แก่ กระบี่ แม่สอด สุราษฎร์ธานี ส่วนที่เหลือที่ได้รับอนุญาตให้เป็นสนามบินศุลกากร แต่ยังไม่มีสายการบินระหว่างประเทศ หากในอนาคตมีเปิดเส้นทางการบิน จะเปิดบริการพื้นที่ดิวตี้ฟรีเช่นกัน เช่น อุดรธานี

“เงื่อนไขการประมูลจะทำสัญญาเช่า 3 ปี เมื่อครบกำหนดเอกชนรายเดิมมีสิทธิยื่นประมูลได้ ผู้ประมูลจะได้สิทธิพัฒนาพื้นที่รายละไม่เกิน 2 ร้านค้า เพื่อกระจายพื้นที่ให้รายอื่น ๆ เน้นหลากหลาย เกิดการแข่งขัน ป้องกันผูกขาด และเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน การที่เปิดให้เอกชนรายหลายพัฒนาแทนรายเดียวนั้น เพราะเราเห็นตัวอย่างจากสนามบินอุดรธานี ที่ให้สิทธิ์ ปตท.รายเดียวพัฒนา แล้วไม่ประสบความสำเร็จ”

ดึงเอกชน PPP บริหารสนามบิน

นายดรุณกล่าวอีกว่า กรมยังมีแผนจะเปิดให้เอกชนร่วม PPP บริหารสนามบินอีก 3 แห่ง ที่เป็นสนามบินขนาดเล็ก ยังไม่มีเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ แต่มีศักยภาพด้านท่องเที่ยว จะอาศัยเอกชนที่มีประสบการณ์มาช่วยในการสร้างสนามบิน หรือบริหาร โดยอาจจะลงทุนเพิ่มด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ และโคราช

ขณะนี้เสนอแผนงานโครงการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว หากได้รับอนุมัติจะดำเนินการจัดทำรายละเอียดศึกษารูปแบบการร่วมลงทุน จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เช่น ระยะเวลาการให้สัมปทาน จะ 10 ปี 20 ปี 30 ปี ส่วนแบ่งรายได้ที่กรมจะได้จากเอกชน คาดว่าภายในปี 2562 จะสามารถเริ่มดำเนินการได้

ท่องเที่ยวดันค้าปลีกแอร์พอร์ตโต

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การท่องเที่ยวแต่ละภูมิภาคผลักดันให้สนามบินต่างจังหวัดเติบโต รัฐจึงต้องการให้กลุ่มธุรกิจต่าง ๆ เข้าไปลงทุน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ที่ผ่านมาไมเนอร์มีแบรนด์ร้านอาหารใหม่ ๆ มากขึ้น รวมถึงการเข้าไปบริหารธุรกิจร้านอาหารในสนามบิน ทั้งนี้ แบรนด์ร้านอาหารที่เปิดในสนามบินทั้งพอร์ตของไมเนอร์และนอกพอร์ตที่ไมเนอร์รับบริหาร อาทิ ร้านอาหารและเบเกอรี่เอสแอนด์พี ที่เปิดที่สนามบินดอนเมือง ร้านเย็นตาโฟเครื่องทรง ที่สนามบินดอนเมือง และไก่ทอดเกาหลีบอนชอน เปิดทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

การขยายธุรกิจร้านอาหารในสนามบินของไมเนอร์ ฟู้ด บริหารผ่าน บจ.ซีเล็ค เซอร์วิส พาร์ทเนอร์ บริษัทร่วมทุนระหว่างไมเนอร์ ฟู้ด กับเอสเอสพี อินเตอร์เนชั่นแนล โดยไมเนอร์ถือหุ้น 51% ปีที่ผ่านมามียอดขาย 1,736 ล้านบาท จากร้านอาหาร 41 สาขา ใน 8 สนามบินทั่วประเทศ

กลุ่มเดอะมอลล์ ให้บริการที่สนามบินดอนเมืองในแบรนด์ “เดอะมอลล์ สกายพอร์ต” พื้นที่ 2,700 ตร.ม. ในส่วนพื้นที่ผู้โดยสารขาออกในประเทศ และผู้โดยสารขาออกต่างประเทศ

คิง เพาเวอร์กินรวบ 4 สนามบิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ก็เตรียมเปิดประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน ที่บริษัทคิง เพาเวอร์ฯ ได้สัมปทาน จะครบกำหนดสัญญาเดือน ก.ย. 2563 ได้แก่ สุวรรณภูมิ เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต โดยมีแนวคิดจะรวบเป็นสัมปทานเดียวทั้งหมด ซึ่งอยู่ระหว่างร่างข้อกำหนดเงื่อนไขทีโออาร์ เพื่อเปิดประมูลต่อไป