“บริการแม่บ้าน” ในคอนโดฯ LPN ต้นแบบโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์

เรื่องดี ๆ แบบนี้ต้องบอกต่อ…บันทึกหน้าใหม่เครือ LPN (บมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์) เกิดขึ้นไม่นานมานี้ภายหลังจากได้รับการรับรองเป็นกิจการเพื่อสังคม หรือ social enterprise จากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยเป็น 1 ใน 15 รายได้ที่รับการรับรองอันทรงเกียรตินี้

ก่อตั้งธุรกิจแจ๋วคอนโดฯปี”54

“โอภาส ศรีพยัคฆ์” ผู้บริหารเบอร์ 1 ของ LPN ระบุว่า เป็นเวลากว่า 30 ปีของการดำเนินการ LPN มีแนวคิดในแนวทางที่สอดคล้องกับกิจการเพื่อสังคมมาโดยตลอด เนื่องจากบริษัทเป็นทั้งผู้พัฒนาอาคารชุดพักอาศัยภายใต้แบรนด์ “ลุมพินี” และให้บริการหลังการขายคือการรับบริหารชุมชน ซึ่งรวมถึงการบริการด้านความสะอาดด้วย ทำให้มีโอกาสสัมผัสและรับรู้ถึงชีวิตของพนักงานบริการความสะอาดว่าส่วนใหญ่เป็นสตรีด้อยโอกาสในสังคม จึงมีนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพนักงานกลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆ ที่สูงกว่ามาตรฐานทั่วไป

และเพื่อแสดงออกถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างแท้จริง โครงสร้างบริษัทที่มีบริษัทแม่-บริษัทลูกภายใต้การบริหารของ 4 เอ็มดี ได้เพิ่มโครงสร้างตำแหน่งเอ็มดีที่ 5 ในนาม “บริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ จำกัด” หรือ LPC ขึ้นมาเมื่อปี 2554

ต่อมาเมื่อรัฐบาลมีแนวทางชัดเจนในการสนับสนุนให้เกิดกิจการเพื่อสังคม LPC จึงได้ยื่นขอรับการรับรอง จนกระทั่งล่าสุดได้เป็น 1 ใน 15 สถานประกอบการ และเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายแรกที่มีบริษัทในเครือได้รับการรับรอง social enterprise

โฟกัส “สิ่งแวดล้อม-สังคม”

“พี่ไก่-สุรัสวดี ซื่อวาจา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท LPC บอกเล่าเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีพนักงานรวม 1,900 คน ส่วนใหญ่เป็นสตรีด้อยโอกาสอันเกิดจากมีการศึกษาน้อย มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวเพียงคนเดียว ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการจ้างงาน เป็นผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หรือเป็นผู้พิการ

LPC จึงมีแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินการด้าน CSR ใน 2 มิติด้วยกัน คือ “มิติด้านสิ่งแวดล้อม” มีทั้งงานบริการความสะอาดและการบริหารขยะในชุมชน กับ “มิติทางด้านสังคม” ที่มุ่งพัฒนา สร้างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิต และศักดิ์ศรีของสตรีและผู้ด้อยโอกาส ด้วยการส่งเสริมการศึกษาให้กับตัวพนักงานเองและบุตร

สถิติทำจิตอาสา 2,100 ครั้ง

นอกจากนี้ มีการส่งเสริมวิชาชีพเพื่อเป็นอาชีพติดตัวในกรณีที่ออกจากการเป็นพนักงานหรือเกษียณอายุในอนาคต การส่งเสริมและสร้างความสุขให้กับพนักงาน เช่น เงินกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยเพื่อปลดหนี้นอกระบบ โครงการรักการออม การสร้างโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน โดยพนักงานสามารถพัฒนาไปสู่อาชีพอื่น ๆ ในบริษัทได้ หรือพนักงานที่อายุครบ 60 ปีแล้ว บริษัทก็เปิดโอกาสให้สามารถทำงานต่อได้

ทั้งหมดนี้จะช่วยให้พนักงานได้รู้สึกถึงคุณค่าในตนเอง มีความภูมิใจที่สามารถสร้างรายได้เพื่อดูแลครอบครัวของตนเอง และพร้อมจะส่งต่อความดีกลับคืนสู่สังคม

ปัจจุบันพนักงานกลุ่มนี้ได้มีการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมจิตอาสาให้กับพื้นที่สาธารณะ ได้แก่ วัด ชุมชนรอบข้าง สถานีตำรวจ สถิติในปีที่ผ่านมามีการทำกิจกรรมจิตอาสารวม 2,100 ครั้ง รวมถึงการทำความดีในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือเจ้าของโดยร่วมดูแลผู้ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น

“เราเชื่อว่าเมื่อเรามอบสิ่งดี ๆ ให้กับใคร เขาจะรับรู้และส่งต่อพลังความดีนั้นออกไปอีก การที่เราได้ดูแลสตรีด้อยโอกาสกลุ่มนี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้เห็นเขาจับมือกันทำประโยชน์เพื่อสังคม จึงเป็นความภาคภูมิใจที่เราได้สร้างกำลังสำคัญเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่งที่จะสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับสังคม”