เทอร์มินอล 2 “สุวรรณภูมิ” เสี่ยงไฟไหม้ ทอท.จ่อรื้อยกพวงแบบ “ดวงฤทธิ์”

กำลังคุกรุ่นผลการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิโปรเจ็กต์ใหม่ของ “ทอท.-บมจ.ท่าอากาศยานไทย” ผุดเพิ่มจากแผนแม่บทเดิม มีวงเงินก่อสร้าง 42,000 ล้านบาท โดยมี “กลุ่มดวงฤทธิ์” ซึ่งได้คะแนนเป็นอันดับที่ 2 พลิกได้เป็นผู้ออกแบบ ด้วยวงเงิน 329 ล้านบาท หลังกลุ่ม SA สะดุดขาตัวเองเพราะยื่นเอกสารไม่ครบตามทีโออาร์ จนเป็นที่มาของการยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง

ล่าสุด “ทอท.” เลื่อนเซ็นสัญญากับกลุ่มดวงฤทธิ์ รอฟังคำตัดสินจากศาลปกครองจะคุ้มครองหรือไม่คุ้มครองขณะที่แบบอาคารผู้โดยสารที่กลุ่มดวงฤทธิ์ดีไซน์ นอกจากจะถูกวิจารณ์ถึงความละม้ายคล้ายแบบของญี่ปุ่นและจีนยังมี “วสท.-วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย” ออกมาขย่มผสมโรงเรื่องใช้ “ไม้” เป็นองค์ประกอบสำคัญซึ่งติดไฟง่าย ผิดหลักปฏิบัติที่ไม่นำวัสดุติดไฟมาก่อสร้างอาคารสาธารณะ

“เกชา ธีระโกเมน” อุปนายก วสท.กล่าวว่า แบบโดยรวมอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ใช้ไม้เป็นท่อน ๆ จำนวนมากเรียงประกอบกันที่หัวเสาและเพดาน เป็นการใช้วัสดุติดไฟง่าย หากเกิดไฟไหม้จะเพิ่มความเสี่ยงจากอัคคีภัย เพราะไม้เป็นชิ้นเป็นท่อนมีพื้นที่ผิวมากกว่าไม้ท่อนเดียวจะติดได้เร็วและมีขนาดไฟใหญ่รุนแรง ซึ่งสปริงเกอร์ไม่สามารถรองรับขนาดไฟที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งไม่เหมาะสม ควรจะเป็นวัสดุอื่น เช่น วัสดุทดแทนไม้หรือเหล็ก อีกทั้งยังทำให้ต้นทุนก่อสร้างและซ่อมบำรุงรักษาแพงขึ้น สิ่งสำคัญต้องมีผู้รับรองแบบให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ตามมาตรฐานสากล NFPA 101 ของสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา กำหนดให้วัสดุตกแต่งผิวที่ลุกลามไฟช้าประเภท A หรือ B เท่านั้น แต่ไม้จัดเป็นประเภท C จึงไม่อนุญาตให้ใช้ไม้หรือโฟมหรือฟองน้ำหรือพลาสติกที่เป็น class C ในโถงหรือทางเดินหรือช่องบันได กรณีเป็นอาคารชุมนุมคนมากกว่า 300 คน อีกทั้งไม้จะดูแลทำความสะอาดและซ่อมแซมยาก

ผศ.ดร.ชูชัย สุจิวรกุล คณะอนุกรรมการมาตรฐานอาคารคอนกรีต วสท.กล่าวว่า การใช้วัสดุก่อสร้างต้องเป็นไปตามมาตรฐานหลักสากล หากมีมาตรฐานภายในประเทศ เช่น ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ควรนำมาใช้ในการออกแบบ ซึ่งอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ถือเป็นอาคารสาธารณะและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องใช้วัสดุที่มีคุณภาพมากกว่าปกติโดยเฉพาะด้านอัคคีภัย

โดยวัสดุที่ใช้ในอาคาร แบ่ง 2 ส่วน 1.วัสดุใช้ทำโครงสร้างอาคารซึ่งเป็นส่วนที่รับน้ำหนัก ได้แก่ เสา คาน พื้น ผนัง โครงถัก และโครงหลังคา ต้องมีคุณสมบัติทนไฟอย่างน้อย 3 ชม. ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 60 ของพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 และต้องได้การรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้ สำหรับการใช้ท่อนไม้เรียงต่อกันตามแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 อาจจะมองว่าเป็นโครงสร้างที่รับน้ำหนัก หรือหากมีโครงสร้างอื่นมารองรับท่อนไม้อาจมองว่าไม้เป็นวัสดุตกแต่งภายในอาคาร หากเป็นโครงสร้างที่รับน้ำหนักการใช้ไม้จริงอาจจะไม่เหมาะสมกับการใช้งานเพราะมีอัตราการทนไฟต่ำ

และ 2.วัสดุตกแต่งภายในอาคาร ได้แก่ ตกแต่งผิวผนังและฝ้าเพดาน พื้นภายใน ต้องมีคุณสมบัติการลามไฟและกระจายควันไม่น้อยกว่าระดับชั้น A หรือ B ตามการทดสอบมาตรฐาน NFPA

ทั้งนี้”วสท.” มีข้อเสนอแนะ 5 ข้อ 1.ควรมุ่งการออกแบบเพื่อบริหารจัดการมากกว่าให้ความสำคัญกับการตกแต่ง 2.การออกแบบและวัสดุที่ใช้ให้คำนึงถึงประโยชน์ประเทศชาติ ความปลอดภัยและผู้มาใช้บริการ 3.นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์มากขึ้นในการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหานักท่องเที่ยวเพิ่มในอนาคต

4.หากต้องประกวดแบบใหม่ ควรเชิญผู้มีความรู้หลายด้านไม่เฉพาะสถาปนิกมาระดมความคิดเห็น กำหนดกรอบสำคัญออกแบบให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและความต้องการของประชาชน เช่น การลำเลียงผู้โดยสารและสัมภาระ การจัดการพลังงาน เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม connectivity คุณค่าความเป็นประเทศไทย อาจเป็นไทยโมเดิร์นหรือไทยสากล และ 5.คณะกรรมการพิจารณาตัดสินควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม บริหารทรัพยากรอาคาร พลังงานและสิ่งแวดล้อมด้วย

แหล่งข่าวจาก ทอท.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการคัดเลือกแบบมีมาจากสมาคมสถาปนิก สภาวิศวกร ที่ช่วยกันพิจารณา มีคะแนนหลายด้าน เช่น ความสวยงาม ความยืดหยุ่น การดูแลรักษา ทั้ง 2 กลุ่มมีคะแนนห่างกัน 3 คะแนน และมีบริษัทญี่ปุ่นที่ออกแบบสนามบินเป็นพี่เลี้ยง

“แบบของกลุ่ม SA ที่ได้คะแนนเป็นที่ 1 ดีไซน์ไม่ค่อยสวยแต่ฟังก์ชั่นดี ส่วนกลุ่มดวงฤทธิ์แบบสวยงาม แต่ดูแลรักษายาก แต่กลุ่ม SA แนบเอกสารมาไม่ครบจึงทำให้ตกไป ตอนนี้ ทอท.กำลังแก้ปัญหาทีละเปลาะ คือรอฟังคำสั่งศาล คาดว่าจะทราบผลใน 2 สัปดาห์ ส่วนการออกแบบว่าลอกไม่ลอกก็ต้องมาดูว่ามีผลกระทบอะไรหรือไม่ เพราะเป็นสิทธิของบุคคล ถ้าลอกจริงผิดจรรยาบรรณอาจจะยึดแบงก์การันตี”

ส่วนข้อท้วงติงของ “วสท.” กรณีเรื่องไม้ แหล่งข่าวจาก ทอท.กล่าวว่า กลุ่มดวงฤิทธิ์ออกแบบนั้นเป็นเพียงแนวคิด จะต้องออกแบบรายละเอียดและต้องทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสามารถเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นที่ไม่ใช่ไม้ได้ ซึ่งกลุ่มดวงฤทธิ์จะต้องไปคิดหาทางปรับแก้ใหม่รวมถึงการบำรุงรักษาในระยะยาวด้วย