เทียบฟอร์มระบบ 2 ทวีป เปิดเกมชิง “รถไฟความเร็วสูง EEC”

หลังรัฐบาล คสช.ผูกมิตรกับรัฐบาลจีนร่วมกันพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงรูปแบบ G to G ประเดิมสายแรกกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม.

โดยไทยลงทุน 179,412 ล้านบาท ทั้งก่อสร้างและจัดหาระบบ โดยใช้เทคโนโลยีจากประเทศจีนที่ร่วมกันออกแบบ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงของจีนมีชื่อเรียกย่อ ๆ ว่า “CRH” หรือ China Railwau High-speed และมีชื่อเรียกเป็นภาษาจีนว่า “เหอเซี๋ย ห้าว”

โครงการนี้จีนกำหนดเป็นประเภทรถโดยสาร EMU (electric multiple unit) CR series วิ่งความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. และเสนอใช้ระบบรถไฟรุ่น FUXINGHAO เป็นรถไฟความเร็วสูงรุ่นล่าสุดของจีน จะใช้เวลาเดินทางจาก กทม.-นครราชสีมา 1.30 ชั่วโมง

ความคืบหน้าโครงการล่าสุดอยู่ระหว่างถมคันดินระยะแรก 3.5 กม.จากสถานีกลางดง-ปางอโศก ระหว่างรองานส่วนอื่น ๆ ที่เหลือที่จะทยอยเปิดประมูลจนครบ 14 สัญญา คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จปี 2564 เปิดให้บริการในปี 2566

เมื่อโครงการแล้วเสร็จและมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายจากนครราชสีมา-หนองคาย หากเป็นไปตามแผนรถไฟความเร็วสูงสายนี้จะเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงลาว-จีนที่กำลังก่อสร้างจากเวียงจันทน์-บ่อเต็น และรถไฟของจีนที่โมฮัน-คุนหมิง

ตามยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีนที่มีเป้าหมายจะสร้าง “เส้นทางสายไหมยุคใหม่” เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทางรางของไทยสู่การค้ากับ 64 ประเทศ มีประชากรรวมกัน 4,400 ล้านคน มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และมีสัดส่วน GDP ประมาณ 40% ของโลก

อย่างไรก็ตาม เป็นที่จับตา “จีน” จะฝ่าด่านเปิดตลาดงานระบบในสนามประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ได้สำเร็จหรือไม่

เนื่องจากรถไฟสายนี้ “รัฐบาล คสช.” เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost รับสัมปทาน 50 ปี ดังนั้น ผู้คุมเกมคือเอกชนที่จะเข้าไปลงทุน ล่าสุดมีทั้งบริษัทซัพพลายเออร์จากยุโรป และเอเชียก็กำลังรุกหนัก หวังจะปาดเค้กก้อนใหญ่จากไทยแลนด์

โดยเฉพาะ “กลุ่ม ซี.พี.” ที่ดูเนื้อหอม ใคร ๆ ก็อยากจะจับมือเป็นพันธมิตรทั้งร่วมลงทุนและซัพพลายงานระบบให้ แต่ด้วยเงื่อนไขในทีโออาร์กำหนดสเป็กต้องใช้ระบบมาตรฐานยุโรป จึงมีความเป็นไปได้สูงที่เจ้าสัว ซี.พี.จะเลือกระบบรถไฟความเร็วสูงจากยุโรปมี 2 บริษัท “FS” บริษัท ทางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (Ferrovie dello Stato Italiane S.p.A.) และ SNCF ที่บริษัท ทางรถไฟแห่งชาติ ฝรั่งเศส เป็นคู่เทียบ อยู่ที่ว่าใครมีข้อเสนอราคาและการบริหารจัดการที่นำไปสู่การลดต้นทุนของโครงการในระยะยาว ก็มีสิทธิ์ได้เข้าป้าย

ในเมื่อหัวใจสำคัญของการพัฒนารถไฟความเร็วสูง นอกจากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่จะเป็นรายได้มาเสริมแล้ว ยังเป็นเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนโครงการ ทั้งอิตาลี-ฝรั่งเศสมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารโครงการเป็นอย่างดีจากประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน 80-180 ปี

ขณะที่การให้บริการรถไฟความเร็วสูงของ “FS” มีบริษัท เตรนิตาเลีย จำกัด (Trenitalia) เป็นผู้บริการเดินรถ ทั้งในประเทศอิตาลีและเชื่อมต่อไปยังประเทศออสเตรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงในอิตาลีมีโรงงานผลิตเอง แต่จะใช้ระบบอาณัติสัญญาณของบอมบาดิเอร์และอัลซาโด้ ปัจจุบันมีรถขบวนใหม่ล่าสุด “เฟรคซีอารอสสา1000” ที่สะดวกสบาย พร้อมบาร์เครื่องดื่มและอาหาร ปลอดภัยด้วยกล้อง CCTV ที่ติดทุกตู้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยออกแบบวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 400 กม./ชม. แต่ถูกควบคุมความเร็ววิ่งจริงอยู่ที่ 250 กม./ชม. จึงทำให้อิตาลีเป็นประเทศที่ไม่มีอุบัติเหตุจากรถไฟความเร็วสูงเลย นับตั้งแต่ก่อตั้งมา เพราะมีศูนย์ควบคุมแห่งชาติคอยมอนิเตอร์ตลอดเวลา ขับเคลื่อนด้วยระบบแมนวล โดยคนขับจะจำกัดขับไม่เกินวันละ 7 ชม. และมีเก็บ ID ของคนขับทุกคนเพื่อวัด KPI ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน

ใน 1 ขบวน มี 8 ตู้ แบ่งเป็น 1 ตู้ สำหรับชั้นสุดหรู “เอ็กเซ็กคิวทีฟ” มีเพียง 10 ที่นั่ง ซึ่งเก้าอี้นั่งหมุนได้รอบทิศ 180 องศา มาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น ห้องประชุมที่สามารถใช้บริการได้ฟรี แต่ต้องจองล่วงหน้า หากผู้โดยสารคนอื่นจะใช้ต้องจ่าย 30 ยูโร

จากนั้นอีก 1 ขบวน เป็น “ชั้นพรีเมี่ยม” เป็นชั้นที่เหมาะสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการความสงบเงียบ ต่อด้วย “ชั้นธุรกิจ” หรือ business จะมี 2 ตู้ มีบริการเครื่องดื่มและอาหารด้วย 3 เมนู ที่เหลือ 4 ตู้เป็น “ชั้นธรรมดา” หรือ standard จะถูกจัดสรรในตู้แรกถัดจากห้องคนขับ ส่วนราคาค่าโดยสารชั้นธรรมดาและเอ็กเซ็กคิวทีฟจะต่างกัน 100-200% แล้วแต่การทำโปรโมชั่น

มาดู “TGV” หรือเตเฌเว การบริการรถไฟความเร็วสูงของฝรั่งเศส ถึงอายุก่อตั้งจะห่างจากอิตาลี 100 ปี แต่มีโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ใหญ่เชื่อมจากศูนย์กลางกรุงปารีส ไปยังจุดหมายปลายทาง 1,400 แห่งในฝรั่งเศส

ยังมีเส้นทางในภูมิภาคครอบคลุม 11 พื้นที่ ให้บริการรถไฟใน 8 เมืองของทวีปยุโรป ครอบคลุม 230 แห่งใน 15 ประเทศ มีรถไฟความเร็วสูงบริการ 52 ขบวน และมีผู้โดยสารเฉลี่ยกว่า 130 ล้านคน/ปี

โดย TGV ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี 1970 วิ่งความเร็วสูงสุด 320 กม./ชม. ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ใช้ระบบอาณัติสัญญาณ “TVM ERTAS 2” ที่ฝรั่งเศสพัฒนาขึ้นมาเอง ส่วนขบวนรถใช้ของอัลส์ตอมมีโรงงานผลิตกระจายตามหัวเมืองต่าง ๆ 10 แห่ง สามารถผลิตได้ทั้งรถไฟชั้นเดียวและ 2 ชั้น ปัจจุบันอัลส์ตอมได้รวมระบบรถไฟกับซีเมนส์ ส่วนระบบไฟฟ้ากำลังรวมกับ GE ประเทศอเมริกา

ด้านการบริหารจัดการจะมีศูนย์บริหารจัดการรถไฟระดับชาติควบคุมระบบการเดินรถที่มีอยู่ 20,000 ขบวน/วัน มี 800 ขบวนเป็นรถไฟความเร็วสูง เพื่อประเมินสถานการณ์และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ โดยแบ่งบริหารจัดการเป็น 4 ระดับ ไต่ระดับจากไม่มีเหตุการณ์ไปจนถึงความรุนแรงที่ซับซ้อน ซึ่งการแก้ปัญหาจะตามความเข้มข้นของเหตุการณ์มาจากระดับภูมิภาคมาสู่ระดับประเทศหากรถเสียหรือถึงคิวต้องเช็กสภาพ จะมีศูนย์ซ่อมบำรุงใหญ่บนพื้นที่ 24,000 ตร.ม. เพราะขบวนรถถึงจะมีอายุใช้งานนานนับ 10 ปี แต่ต้องมีวาระเช็กสภาพทุก 2-3 ปี


เป็นความเคลื่อนไหวของยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่กำลังจะมาเปิดตลาดในประเทศไทยฮับใหญ่แห่งภูมิภาค