เร่งรถไฟฟ้า5หัวเมืองใหญ่ BTSประมูล”เชียงใหม่-ภูเก็ต”

แฟ้มภาพ

รัฐคลอดแผนแม่บทรถไฟฟ้า 5 จังหวัด เหนือ อีสาน ใต้ เงินลงทุน 2 แสนล้าน แก้รถติดเสริมแกร่งเมืองท่องเที่ยว ปลุกเศรษฐกิจภูมิภาค ดึงเอกชนร่วมทุน PPP 30-50 ปี รฟม.ประเดิม “ภูเก็ต-เชียงใหม่” ลุยสำรวจเวนคืน เปิดประมูลปีหน้า 6 หมื่นล้าน BTS ผนึกท้องถิ่นรอประมูล ส่วนขอนแก่น 5 เทศบาลรวมพลัง ลงขันตั้งบริษัทระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯกู้เงินนอกขอลุยเอง รอหน่วยงานรัฐพิจารณาไม่ให้ขัดกฎหมาย

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สนข.ศึกษาแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาคเพื่อแก้ปัญหาจราจรในเมืองใหญ่ 5 จังหวัดเสร็จแล้ว ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น และพิษณุโลก วงเงินลงทุน 208,821 ล้านบาท กรอบพัฒนา 10 ปี โดยรัฐและเอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP 30-40-50 ปี เพราะรัฐบาลต้องการให้เอกชนกระจายการลงทุนในภูมิภาค 

สร้างรถไฟฟ้ารางเบา 5 จังหวัด 

ระบบที่เหมาะสมจะเป็นรถไฟฟ้ารางเบาแบบไลต์เรลและแทรม ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ศึกษารูปแบบ PPP และคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน 2 จังหวัดคือ ภูเก็ตจังหวัดแรกและเชียงใหม่

ส่วนโคราชจะเสนอ ครม.ในเดือนตุลาคมนี้ ขณะที่ จ.ขอนแก่นและพิษณุโลก ต้องรอพิจารณาจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธานเดิมกำหนดประชุมวันที่ 19 ก.ย. ล่าสุดเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด

ขอนแก่นรอเคาะ

Advertisment

โดย จ.พิษณุโลก มอบให้ รฟม.เป็นผู้ดำเนินการ ส่วน จ.ขอนแก่น ต้องการดำเนินการเอง หาก คจร.เห็นชอบจะส่งแผนแม่บทให้จังหวัดดำเนินการต่อไป ส่วนการลงทุนจะเป็นแบบ PPP หรือไม่ อยู่ที่การตัดสินใจของจังหวัด

“รถไฟฟ้าขอนแก่นเป็นครั้งแรกที่ 5 เทศบาลของจังหวัดจะทำเอง ถ้าลงทุนแบบ PPP ต้องศึกษารูปแบบที่เหมาะสมจะเป็น PPP net cost หรือ PPP gross cost ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556”

Advertisment

เปิดละเอียดยิบเส้นทาง

นายชัยวัฒน์ กล่าวถึงผลศึกษาแต่ละจังหวัดว่า ของภูเก็ตจะเป็นรถไฟฟ้ารางเบาแบบไลต์เรล วงเงิน 39,406 ล้านบาท เป็นทางวิ่งระดับดินตลอดเส้นทาง มี 24 สถานี ยกเว้นสนามบินภูเก็ตจะเป็นสถานียกระดับ มีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง อยู่บริเวณ อ.ถลาง

จุดเริ่มอยู่สถานีรถไฟท่านุ่น จ.พังงา เชื่อมต่อระบบรถไฟสายใหม่สุราษฎร์ธานี-พังงา สิ้นสุดทางเหนือของห้าแยกฉลอง ห่างจากห้าแยก 200 เมตร รวม 58.525 กม. จะเริ่มช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง 41.7 กม. วงเงิน 30,154 ล้านบาท

“เชียงใหม่” เป็นรถไฟฟ้ารางเบาระบบไลต์เรล เงินลงทุน 105,735 ล้านบาท มีทั้งอุโมงค์ใต้ดินในเมืองและยกระดับนอกเมือง มี 3 เส้นทาง รวม 36 กม. ให้รฟม.ออกแบบเส้นทางนำร่อง สายสีแดง รพ.พิงค์-ศูนย์ราชการเชียงใหม่-สนามกีฬาสมโภช 700 ปี-ศูนย์ประชุมนานาชาติ-สถานีตำรวจช้างเผือก-แยกข่วงสิงห์-ม.ราชภัฏเชียงใหม่-สถานีขนส่งช้างเผือก-รพ.เชียงใหม่ราม-รพ.มหาราชนครเชียงใหม่-ร.ร.วัฒโนทัยพายัพ-สนามบินเชียงใหม่-ขนส่งทางบก-บิ๊กซีหางดง

รวม 12 สถานี ระยะทาง 12.54 กม. วงเงิน 28,727 ล้านบาท อุโมงค์ใต้ดินยาว 7.37 กม. เริ่มที่สถานีข่วงสิงห์-สนามบินเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อ่อนไหวต้องผ่านเมืองชั้นใน ย่านเมืองเก่าซึ่งต้องขุดดินลึก 10 เมตร ซึ่งอาจมีโบราณวัตถุและโบราณสถาน ส่วนระดับดิน 5.17 กม. ช่วง รพ.นครพิงค์-แยกข่วงสิงห์ และสนามบินเชียงใหม่-แยกแม่เหียะ

สายสีน้ำเงิน จากสวนสัตว์เชียงใหม่-แยกห้างพรอมเมนาดา 10 สถานี 10.47 กม. วงเงิน 30,399 ล้านบาท และสายสีเขียว แยกรวมโชค-สนามบินเชียงใหม่ 13 สถานี 11.92 กม. วงเงิน 36,195 ล้านบาท จะดำเนินการหลังสายสีแดงแล้วเสร็จ ซึ่ง รฟม.กำลังจ้างที่ปรึกษาทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และศึกษารูปแบบ PPP จะแล้วเสร็จปีหน้า และเสนอกระทรวงคมนาคมพร้อมให้คณะกรรมการ PPP พิจารณา

สำหรับ จ.นครราชสีมา เป็นรถไฟฟ้ารางเบาไลต์เรล วงเงิน 32,600 ล้านบาท มี 3 ระยะ ระยะที่ 1 ปี 2563-2565 วงเงิน 13,600 ล้านบาท มีสายสีส้ม แยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า 9.81 กม. 17 สถานี วงเงิน 8,400 ล้านบาท และสีเขียว จากตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ 11.17 กม. 18 สถานี วงเงิน 5,200 ล้านบาท

ระยะที่ 2 ปี 2566-2568 วงเงิน 4,800 ล้านบาท มีสายสีม่วงช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมิตรภาพ-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ 11.92 กม. 9 สถานี และระยะที่ 3 ส่วนต่อขยายสายสีส้ม สีเขียว และสีม่วง วงเงิน 14,200 ล้านบาท รฟม.จะจ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบ PPP คู่ขนานไปกับ EIA

จ.พิษณุโลก จะมี 3 รูปแบบคือรถโดยสารขนาดปกติ รถไมโครบัส และรถรางล้อยาง (tram) 8 เส้นทาง รวม 110.6 กม. วงเงิน 13,493 ล้านบาท ระยะที่ 1 ปี 2563-2565 มี 6 เส้นทาง รวม 80.5 กม. วงเงิน 3,206.57 ล้านบาท วิ่งเชื่อมในเมืองกับพื้นที่รอบนอกและสนามบิน เช่น สายสีแดง มหาวิทยาลัยพิษณุโลก-สถานีขนส่งแห่งที่ 2-แห่งที่ 1-วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ-ศาลากลาง-มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามทะเลแก้ว-หมู่บ้านพิษณุโลกเมืองใหม่ 12.6 กม. 15 สถานี เป็นรถ tram เป็นต้น ระยะที่ 2 ปี 2572-2574 มี 2 เส้นทาง และ 3 ส่วนต่อขยายอีก 30.1 กม. วงเงิน 911.42 ล้านบาท

รฟม.ตั้งสำนักงานลุยเวนคืน 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า รฟม.จะตั้งสำนักงานที่ภูเก็ต และเชียงใหม่ เพื่อสำรวจเส้นทางและเวนคืนที่ดิน ส่วนการลงทุนจะให้เอกชนร่วมรูปแบบ PPP 30 ปี โดยรัฐลงทุนค่าเวนคืนและงานโยธา เอกชนลงทุนงานระบบและรถ กำลังศึกษารูปแบบที่เหมาะสม จะเป็นสัมปทานหรือ จ้างเดินรถ

“ภูเก็ตจะประมูล PPP เฟสแรก กลางปีหน้า 30,000 ล้านบาท เชียงใหม่ประมูล PPP สายสีแดง 12 กม. 35,000-40,000 ล้านบาท เพราะรวมศูนย์ซ่อมบำรุงด้วย จะสร้างทั้งใต้ดินและบนดิน ส่วนรถไฟฟ้าขอนแก่น รฟม.ได้ร่างพระราชกฤษฎีกาเสนอจะเป็นผู้ดำเนินการโครงการ แต่ท้องถิ่นคัดค้านเพราะต้องการทำโครงการเอง”

ขอนแก่นตั้งบริษัทลุยเอง

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผยว่า LRT ขอนแก่น เป็นโครงการที่จัดทำโดย บจ.ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม (KKTS) ซึ่ง 5 เทศบาลของขอนแก่นร่วมจัดตั้ง ขณะนี้ได้หารือกระทรวงการคลังถึงรูปแบบการลงทุนที่ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุน โดยส่งเอกสารให้พิจารณาแล้ว หาก คจร.เห็นชอบจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป จากนั้นจะประกาศเป็นวาระจังหวัด แล้วเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วางศิลาฤกษ์ในเดือน ธ.ค. 2561

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินงานอยู่ใน 3 ขั้นตอนสุดท้าย คือ 1.เข้าที่ประชุม สนข. 2.เร่งเรื่องการแลกเปลี่ยนที่ดินของเทศบาลกับกรมการข้าว ซึ่งเป็นที่ดินศูนย์สถานีวิจัยข้าว อยู่ตรงข้ามเซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น เนื้อที่ 216 ไร่ โดยขอใช้ 200 ไร่ ทำศูนย์ซ่อมบำรุง และพื้นที่พัฒนาเพื่อหารายได้ (TOD) หากไม่ทำ TOD ค่าโดยสารอยู่ที่ 25 บาท แต่ถ้าทำ ค่าโดยสารเพียง 15 บาท 3.พิจารณาว่าโครงการนี้ขัดกฎหมายอะไรหรือไม่

เล็งกู้เงินนอกลงทุน

ด้านนายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้บริหาร บจ.ขอนแก่นพัฒนาเมือง กล่าวว่า LRT ขอนแก่น ไม่ได้ต้องการรับการอุดหนุนงบฯจากรัฐบาล แต่ต้องการให้ คจร.อนุมัติให้เทศบาลทั้ง 5 แห่ง เป็นผู้ดูแลและดำเนินโครงการรถไฟรางเบาคาดว่าใช้งบฯ 30,000 ล้านบาท คืนทุนใน 12 ปี แบ่งเป็นเงินระดมทุนจากชาวขอนแก่น 3,000-4,000 ล้านบาท ที่เหลือกู้ต่างประเทศ ได้แก่ จีน และประเทศในแถบยุโรป

โดยมีแผนให้ KKTS เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯใน 5-7 ปีข้างหน้า และจะให้สิทธิ์เกษตรกรที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยกว่า 800,000 คน ในขอนแก่น ซื้อหุ้นในราคาพาร์ โดยให้เกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลที่แม้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ LRT โดยตรง ได้รับประโยชน์จากเงินปันผล รวมถึงที่ดิน 200 ไร่ ที่จะแลกกับกรมการข้าว จะแบ่งส่วนพัฒนาเป็นคอนโดฯสำหรับผู้มีรายได้น้อย ให้มีโอกาสได้อยู่กลางเมืองเดินทางได้สะดวก

นายชวลิต ประตูน้ำขอนแก่น ประธานกรรมการ บริษัท ประตูน้ำขอนแก่น จำกัด ศูนย์ค้าส่ง-ค้าปลีกเสื้อผ้า กล่าวว่า เตรียมทุ่มเงิน 30 ล้านบาท ทำอาคารและบันไดเลื่อนเชื่อมสถานี LRT ที่กำหนดสถานีประตูน้ำเป็นหนึ่งในทำเลที่รถไฟฟ้ารางเบาผ่าน จะทำให้ศูนย์การค้า ผู้ค้าและนักท่องเที่ยวได้รับอานิสงส์

BTS สนแจมภูเก็ต-เชียงใหม่

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS กล่าวว่า บริษัทสนใจจะเข้าไปลงทุนรถไฟฟ้ารางเบาในต่างจังหวัด เนื่องจากเป็นธุรกิจหลักของบีทีเอส ทั้งนี้ ขอดูรายละเอียดเงื่อนไขทีโออาร์ที่รัฐจะดำเนินการจะเป็น PPP รูปแบบไหน หากเป็น PPP net cost จะต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพราะเอกชนมีความเสี่ยง และไม่รู้ว่ารัฐจะใช้รูปแบบเดียวกับสายสีชมพูกับสายสีเหลืองที่จะสนับสนุนค่าก่อสร้างไม่เกินเพดานงานโยธาหรือไม่ ส่วน PPP gross cost เป็นการจ้างเดินรถระยะยาว จะดูในแง่ของโปรดักต์อย่างเดียว

“เราพร้อมจะลงทุน โดยเฉพาะภูเก็ตและเชียงใหม่ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว ปัจจุบันเราร่วมกับท้องถิ่นพัฒนาระบบบัตรแรบบิทรถโดยสารประจำทาง มีคอนเน็กชั่นที่จะขยายมายังรถไฟฟ้าด้วย”