ล้นหลาม! เอกชนยื่น 626 คำถามซักละเอียดยิบทีโออาร์ประมูลไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

แฟ้มภาพประกอบข่าว

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 61 ณ อาคารสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นประธาน
เปิดการประชุมชี้แจงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ครั้งที่ 2

เพื่อให้เอกชนผู้ซื้อซองได้สอบถามข้อมูลและข้อสงสัยต่อโครงการอย่างเป็นทางการ โดยมีผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้บริหาร บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เข้าร่วม

นายวรวุฒิกล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ถือเป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) และเชื่อมโยงเดินทางของผู้โดยสาร 3 ท่าอากาศยานเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ท่องเที่ยวให้เดินทางถึงกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว อันจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก รวมทั้งเชื่อมโยงกับการคมนาคมขนส่งทางถนนและทางเรือได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมา รฟท.ได้จัดการประชุมชี้แจงโครงการครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 หลังจากนั้น
จึงเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อเอกสารได้ส่งคำถาม หรือข้อสงสัยต่างๆ เข้ามา เพื่อรวบรวมประเด็นทั้งหมด และนำมาชี้แจงให้ความกระจ่าง ซึ่งปรากฏว่ามีผู้สนใจสอบถามข้อมูลมาถึง 626 คำถาม โดยมีประเด็นที่หลากหลาย ทั้งด้านการเงินการลงทุน ร่างสัญญาร่วมลงทุน การก่อสร้าง การเดินรถ รวมไปถึงข้อกำหนดของ รฟท.ในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี งานโยธา งานระบบรถไฟ และเทคโนโลยีต่างๆ

โดยภายหลังจากงานวันนี้ยังจะเปิดให้ผู้ซื้อเอกสารส่งข้อเสนอแนะ หรือคำถามเกี่ยวกับเอกสารการคัดเลือกเอกชนตลอดจนตรวจสอบข้อมูลหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ได้จนถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2561 และให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.00 – 15.00 น.

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจะถือเป็นมิติใหม่ในการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยในเวทีโลกและร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนาคต