ดีเดย์ 30 ก.ย.เปิดเชื่อมด่วน2-แจ้งวัฒนะ-“บิ๊กตู่” ตัดริบบิ้นอุโมงค์รัช​โยธิน​ พ.ย.นี้

ดีเดย์ 30 ก.ย.เปิดเชื่อมด่วน 2-แจ้งวัฒนะ-“บิ๊กตู่” ตัดริบบิ้นอุโมงค์รัช​โยธิน​ พ.ย.นี้ “ไพรินทร์”เร่งสายสีเขียว-น้ำเงินเปิดปี’62

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน และการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้ากรมทหารราบที่ 11 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต

นายไพรินทร์กล่าวว่า การตรวจงานในวันนี้ถือว่ามีความคืบหน้าไปมาก ในส่วนของอุโมงค์ลอดแยกรัช​โยธิน​ คาดว่างานก่อสร้าง​จะแล้วเสร็จในปลายเดือน ต.ค.นี้ และในช่วงต้นเดือน พ.ย. จะเรียนเชิญ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์​โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธา​น​ทำพิธี​เปิดต่อไป

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต งานโยธา ถือว่าเกือบเสร็จทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงการวางระบบรางและติดตั้งระบบไฟฟ้า คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในกลางปี 2562 โดยในเดือน ก.พ.จะสามารถคืนพื้นผิวจราจรของ​โครงการให้กรุงเทพมหานคร (กทม.)​ ได้ทั้งหมด

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ตอนนี้อยู่ในระหว่างทดสอบเดินรถ คาดว่าจะสามารถเปิดเดินรถได้ในเดือน ธ.ค.นี้ ส่วนการที่ กทม.รับหลักการวาระแรกร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่องการกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวแล้วนั้น นายไพรินทร์กล่าวว่า เข้าใจว่าเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในการพิจารณาของสภากทม.ในวาระ 2 และ 3

โดยหลักการทุกอย่างวางไว้ในเบื้องต้นครบทุกประเด็นแล้ว ต้องให้เวลา กทม.ดำเนินการในส่วนของเขา แต่คาดว่าการโอนหนี้น่าจะไม่มีปัญหาและไม่ส่งผลกระทบกับการเปิดใช้สายสีเขียวช่วงเดือน ธ.ค.นี้

นายไพรินทร์กล่าวต่อว่า นอกจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวแล้ว ในปีหน้า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค จะเปิดให้บริการได้ในกลางปีและในช่วงปลายปี รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ น่าจะสามารถเปิดให้บริการได้เช่นเดียวกัน โดยหากทั้ง 2 เส้น เปิดให้บริการแล้ว รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินก็จะวิ่งเป็นวงกลมเต็มลูป และจะเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรที่มาจากการสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพูได้อีกทางหนึ่ง

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ผลงานการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน ปัจจุบัน ณ วันที่ 15 ก.ย. 2561 มีความก้าวหน้ารวม 83.33% ซึ่งผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาสัญญาที่ 1 บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ดำเนินการขุดดินภายในอุโมงค์ให้ทะลุถึงกันเรียบร้อยแล้ว

พร้อมทั้งดำเนินการก่อสร้างพื้นถนน กำแพงป้องกัน รวมถึงเตรียมดำเนินการติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ระบบไฟส่องสว่าง ระบบระบายน้ำ ป้ายสัญญาณจราจร เป็นต้น ตลอดจนการตีเส้นจราจร เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการภายในเดือน ต.ค. 2561 รวมใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิน 21 เดือน ซึ่งเร็วกว่าแผนงานที่วางไว้ 3 เดือน จากแผนเร่งรัดงานก่อสร้างเดิมกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ก.พ.2562 รวมระยะเวลา 24 เดือน

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมในการเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรที่คับคั่งในแนวถนนพหลโยธินและแนวถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นถนนวงแหวนรอบใน อันจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางของประชาชน

สำหรับงานก่อสร้างอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันมีความก้าวหน้า ดังนี้ 1.งานก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามแยกรัชโยธิน (ในแนว ถ.พหลโยธิน) มีความก้าวหน้า 74.58 % 2.งานก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามแยกเกษตรศาสตร์
มีความก้าวหน้า 79.79% โดย รฟม. จะเร่งรัดงานก่อสร้างทั้ง 2 สะพานให้แล้วเสร็จเพื่อสามารถเปิดใช้งานได้ประมาณเดือน ธ.ค.2561

3.งานก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามแยกเสนานิคม มีความก้าวหน้า 56.79% โดยจะเร่งรัดงานก่อสร้างเพื่อเปิดใช้งานได้ประมาณเดือน เม.ย.2562 และ 4.งานก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าข้ามทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ บริเวณห้าแยกลาดพร้าว มีความก้าวหน้า 89.18%

สำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ปัจจุบันมีความก้าวหน้ารวม 77.21% แบ่งเป็นความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธา สัญญาที่ 1 ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ 71.50% สัญญาที่ 2 ช่วงสะพานใหม่ – คูคต 87.04 % สัญญาที่ 3 ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร 84.59 % และสัญญาที่ 4 งานระบบราง 74.31%

โดย รฟม.ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานีรถไฟฟ้าแล้วเสร็จทั้งหมด 16 สถานี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำงานสถาปัตยกรรมและงานระบบไฟฟ้าเครื่องกล โดยมีสถานีกรมทหารราบที่ 11 เป็นสถานีที่มีความคืบหน้ามากที่สุด โดยมีความก้าวหน้ามากกว่า 80% ซึ่ง รฟม.จะได้เร่งรัดให้ผู้รับจ้างฯ ดำเนินการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ลิฟต์ บันไดเลื่อน ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ห้องน้ำสาธารณะสำหรับผู้โดยสารและประชาชนทั่วไป เป็นต้น ให้ครบถ้วนโดยเร็ว เพื่อให้เป็นสถานีต้นแบบสำหรับการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าอื่นๆ ในโครงการต่อไป

ทั้งนี้ โครงการมีกำหนดก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จภายในปี 2562 และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี พ.ศ.2563

นายไพรินทร์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางเชื่อมทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครกับทางพิเศษศรีรัช ซึ่งสามารถดำเนินการก่อสร้างได้เร็วกว่าแผนงาน คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในวันที่ 30 ก.ย.นี้

สำหรับโครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ กับทางพิเศษศรีรัชมุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ เป็นความร่วมมือระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดยว่าจ้างบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ก่อสร้าง

มีรูปแบบเป็นทางเชื่อมยกระดับขนาด 1-2 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 360 เมตร ทั้งนี้ หากเปิดให้บริการแล้วจะเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้ทางพิเศษได้เป็นอย่างดี โดยหากเดินทางจากทางวงแหวนกาญจนาภิเษกก็จะสามารถเชื่อมต่อทิศเหนือไปยังแจ้งวัฒนะได้ และสามารถเชื่อมต่อกับวงแหวนรัชดาได้

ทั้งนี้ ทางเชื่อมดังกล่าวไม่มีด่านเก็บค่าผ่านทางเชื่อมต่อระบบทางพิเศษแต่อย่างใด สำหรับปริมาณจราจรปัจจุบันประมาณ 56,000 คันต่อวัน อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าหากเปิดทางเชื่อมมุ่งหน้าทิศเหนือไปแจ้งวัฒนะจะมีปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นประมาณ 2,600 คันต่อวัน

ปัจจุบันมีปริมาณจราจรผู้ใช้บัตร Easy Pass ทางด่วนพิเศษทั้ง 7 สายทาง โดยเป็นสถิติในเดือน ส.ค.2561 มีปริมาณจราจรรวม 40.19% เมื่อเทียบกับปริมาณรถ 4 ล้อ จำนวน 57.06 คัน โดยในปีงบประมาณ 2561 มีรถใช้บริการจำนวน 22.93 ล้านคัน หรือ 739,811 คันต่อวัน และในปีงบประมาณ 2561 ในช่วงเดือนตุลาคม 2560-สิงหาคม 2561 มีปริมาณจราจรรวม 38.51% เมื่อเทียบกับปริมาณรถ 4 ล้อ จำนวน 600.29 ล้านคัน