ทอท.แจงรีวิวพิมพ์เขียว “สนามบินสุวรรณภูมิ” ให้รับกรอบเวลาที่เปลี่ยน-ผู้โดยสารทะลัก

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กล่าวถึงกรณีมีข่าวเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ไม่เป็นไปตามแผนแม่บท นั้น ทอท.ขอชี้แจงว่า ทอท.ได้จัดทำแผนแม่บท (Master Plan) ทสภ. ตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งผ่านมา 26 ปีแล้ว

ปัจจุบันสถานการณ์ของอุตสาหกรรมทางการบินได้เปลี่ยนไปมาก ทั้งเชิงคุณภาพได้แก่ ขนาดและคุณสมบัติของเครื่องบิน และเชิงปริมาณคือ จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ทอท.จึงมีการปรับปรุง Master Plan ใหม่ โดยตามข้อเสนอแนะของ ICAO แผนแม่บทท่าอากาศยานควรปรับปรุงทุกๆ 5 ปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ ทั้งนี้ แผนแม่บทฉบับปัจจุบันยังคงสอดคล้องตาม Master Plan เดิม แต่มีการปรับในสาระสำคัญ 2 ประการ ได้แก่

1.ปรับระยะเวลาการก่อสร้างให้สอดคล้องกับความเป็นจริง กล่าวคือ โครงการพัฒนา ทสภ.ระยะที่ 2
ซึ่งประกอบด้วย อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสาร ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ส่วนต่อขยายอุโมงค์เชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบิน รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เดิมวางแผนที่จะสร้างระหว่างปี 2554 – 2560

แต่เนื่องจากโครงการมีความล่าช้าเกี่ยวกับการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) จึงสามารถเริ่มก่อสร้างได้เมื่อเดือนกันยายน 2559 ทอท.จึงได้ปรับกรอบระยะเวลาการก่อสร้างใหม่เป็นระหว่างปี 2559 -2563

2.ในระหว่างที่การก่อสร้างอาคาร Satellite 1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนา ทสภ.ระยะที่ 2 จะแล้วเสร็จในปี 2563 และจะมีการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (Satellite 2) ต่อเนื่องไปทางทิศใต้ระหว่างปี 2564 – 2569 ตามโครงการพัฒนา ทสภ.ระยะที่ 4 นั้น

เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวจำนวนผู้โดยสารของ ทสภ. จะเกินศักยภาพที่ ทสภ.รองรับได้ ดังนั้น ทอท.จึงต้องหาพื้นที่เพื่อขยายศักยภาพของ ทสภ.คู่ขนานกันไป โดยไม่ต้องรอการก่อสร้างอาคาร Satellite 1 แล้วเสร็จ อันนำมาซึ่งการเพิ่มการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) เพิ่มเติมในโครงการพัฒนา ทสภ.ระยะที่ 3 ตาม Master Plan ปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามที่ ICAO และ IATA ได้ดำเนินการศึกษาไว้ในการจัดทำแผนแม่บท เมื่อปี 2554

สำหรับงานก่อสร้างอาคาร Satellite 1 และส่วนต่อขยายทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก ทิศใดทิศหนึ่ง จะช่วยเพิ่มศักยภาพของ ทสภ. ขี้นอีก 15 ล้านคนต่อปี โดยใช้กรอบวงเงินงบประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จะใช้กรอบวงเงินงบประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านคนต่อปี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารทั้ง 2 ฝั่ง จะช่วยเพิ่มศักยภาพได้อีกฝั่งละ 15 ล้านคน

แต่การก่อสร้างส่วนต่อขยายทั้ง 2 ฝั่งพร้อมกันนั้น จะทำให้เสียพื้นที่บริเวณเคาน์เตอร์เช็คอินของสายการบินไปราวครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ในปัจจุบัน และจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการอย่างมากและเป็นระยะเวลายาวนาน

​นายนิตินัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารประมาณปีละ 60 ล้านคน ซึ่งเกินศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารที่ 45 ล้านคนต่อปี และคาดว่าเมื่อโครงการพัฒนาระยะที่ 2 แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการในปี 2563 จะทำให้ศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 45 ล้านคนต่อปีเป็น 60 ล้านคนต่อปี ซึ่ง ณ ขณะนั้น คาดว่าจะมีผู้โดยสารมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 70 ล้านคนต่อปี

และหาก ทอท.ยังคงใช้ Master Plan เดิม ซึ่งจะก่อสร้างอาคารSatellite 2 และส่วนต่อขยายอาคารหลักที่เหลืออีกด้านหนึ่งแล้วเสร็จในปี 2569 ซึ่งก่อนที่จะสร้างแล้วเสร็จตาม Master Plan เดิมนั้น จะมีจำนวนผู้โดยสารมาใช้บริการ ทสภ.ประมาณ 100 ล้านคน ในขณะที่ ทสภ.มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้เพียง 60 ล้านคนเท่านั้น

ดังนั้น หาก ทอท.ไม่ปรับ Master Plan ใหม่โดยเพิ่มอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ตามคำแนะนำของ ICAO เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการผู้โดยสารแล้วจะต้องประสบปัญหาความแออัดที่จะต้องดำเนินการแก้ไขไปตลอด