“ด้วง-ดวงฤทธิ์” สยบปมดราม่า คว้าโปรเจ็กต์มาสเตอร์พีซสุวรรณภูมิ 2

สัมภาษณ์พิเศษ

แม้ว่าศาลปกครองจะไม่คุ้มครอง “กลุ่ม SA” ที่ขอความเป็นธรรมกรณีคณะกรรมการ (บอร์ด) บมจ.ท่าอากาศยานไทยหรือ ทอท.อนุมัติให้กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก ประกอบด้วย บจ.ดวงฤทธิ์ บุนนาค, บจ.อีเอ็มเอส คอนซัลแตนท์, บจ.เอ็มเอชพีเอ็ม, บจ.มัลติ ซิสเต็ม เอ็นจิเนียริ่ง, บจ.เออาร์เจ สตูดิโอ และ บจ.นิเคนเซกเก หรือกลุ่มดวงฤทธิ์ ชนะฟาวล์ เป็นผู้ออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยวงเงิน 329 ล้านบาท

แต่เสียงวิจารณ์รูปแบบดีไซน์ที่ไปละม้ายคล้ายกับหลายประเทศ ยังดังกระหึ่มไปทั่วโลก

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค” สถาปนิกรุ่นใหญ่วัย 52 ปี แกนนำผู้ออกแบบถึงปมดราม่าที่ถาโถม

Q : สรุปแบบได้ลอกคนอื่นมาหรือไม่ 

เราทำงานร่วมกันหลายบริษัท จะบอกว่าลอกก็เป็นข้อความที่รุนแรงเกินไป เราพูดได้เต็มปากว่าไม่ได้ลอกเพิ่งเห็นแบบที่บอกว่าเหมือนกัน หลังจากที่เราเป็นผู้ได้รับคัดเลือกแล้ว ตามกระบวนการทางกฎหมาย หากพิสูจน์แล้วว่าลอก เป็นเรื่องวิชาชีพต้องให้สภาสถาปนิกเป็นผู้วินิจฉัย

Q : แบบจะสามารถนำไปก่อสร้างได้จริง

การก่อสร้างตามแบบเป็นไปได้แน่นอน แบบที่เห็นแค่เริ่มต้น ขั้นตอนต่อไปต้องร่วมกับ ทอท. หาก ทอท.มีคอมเมนต์ให้ปรับแบบก็ปรับตามนั้น แต่โดยรวมไม่น่าจะเปลี่ยนไปมาก ซึ่งยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่ได้เซ็นสัญญา

Q : นำไม้มาสร้างจะติดไฟได้ง่าย

สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ระบุว่าจะไม่ได้มาตรฐานของ NFPA (สมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา) จริง ๆ NFPA อนุญาตให้ใช้ไม้ได้

ถ้าค่าควันไฟได้มาตรฐาน ในยุโรปก็มีนำมาใช้ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ป้องกันการลามไฟไว้ ซึ่งไม้ต้นทุนจะถูกกว่าวัสดุอื่น และเป็นมิตรกับระบบนิเวศ

Q : ทำไมถึงเลือกไม้เป็นวัสดุหลัก 

เราออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ Forest Terminal อยากให้เดินเข้าไปเหมือนเดินเข้าป่า อยากให้ต่างชาติที่เข้ามาได้รู้จักระบบนิเวศ ธรรมชาติที่งดงามเพื่อเป็นจุดขายของประเทศในอาคารหลังใหม่จะมีป่าจำลอง16,000 ตร.ม. ออกแบบเป็นป่าเขตร้อน ปลูกด้วยต้นไม้ใหญ่

ผลงานของผมใช้ไม้โดยตลอด เพราะชอบและรักษาระบบนิเวศ ทั่วโลกก็กำลังศึกษาเรื่องนี้จริงจัง ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้างอาคารใหญ่และเล็ก ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เสียและลดคาร์บอนไดออกไซด์ ปัจจุบันเทคโนโลยีการก่อสร้างอาคารสมัยใหม่ด้วยไม้ไปไกลมาก ซึ่งวัสดุที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก หิน ปูน ทราย มาจากพื้นดินใช้แล้วก็หมดไป แต่ไม้สามารถปลูกทดแทนได้ เพราะใช้ไม้จากป่าปลูก และผลิตจากอุตสาหกรรม มีผลิตในประเทศและนำเข้า ทั้งยุโรปตอนเหนือ อเมริกา และญี่ปุ่น

Q : ถ้า ทอท.ให้เปลี่ยนใช้วัสดุอื่น

ต้องคุยกับ ทอท.ก่อน มีความคิดเห็นเหมือนกันหรือไม่ เรามีแนวคิดชัดเจนเรื่องใช้ไม้ เพราะไม่ใช่ความสวยงามอย่างเดียว มีเรื่องระบบนิเวศและการคำนึงถึงการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ก็ต้องคุยในรายละเอียดกับผู้บริหาร ทอท. แล้วอธิบายตรงนี้ไป ถ้าให้ปรับเปลี่ยนก็ไม่มีปัญหา แต่การดีไซน์คงไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก

Q : เป็นแบบที่ค่อนข้างซับซ้อน

เราออกแบบร่วมกับบริษัทที่เป็นสากล เช่น นิเคนเซกเก มีประสบการณ์ออกแบบสนามบินหลายที่ในโลก รวมถึงญี่ปุ่น ก็ได้ดูแบบร่วมกัน ก็ไม่ได้มีข้อกังวล เพราะในการทำงานจริงไม่ได้มีปัญหาขนาดนั้น มีเทคนิคเยอะแยะ เช่น เรื่องของ laminar air flow ในการป้องกันฝุ่น หรือการออกแบบระบบปรับอากาศไม่ให้มีฝุ่น อยากให้เข้าใจว่าบริษัทผมไม่ได้ทำงานคนเดียว เราทำงานร่วมกับวิศวกรอีก 5 ทีม และกับบริษัทญี่ปุ่นที่เป็น airport consult ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เพราะฉะนั้นไม่ปล่อยให้แบบมีปัญหาในเรื่องของการทำความสะอาดหรอก ทุกคนไม่ต้องกังวล

Q : คนมองว่าการบำรุงรักษายาก

เป็นเรื่องที่คิดไปเองครับ (หัวเราะ) คนพูดไม่เคยทำ อยากให้คนที่ออกมาพูดขอให้เป็นคนที่มีความรู้มากพอ เพราะการออกแบบสนามบินเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะเรื่องของการดูแลสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ จะเอาไปเปรียบเทียบกับการดูแลบ้านไม่ได้ คนละเรื่องกัน เป็นการก่อสร้างขนาดใหญ่ มีระบบดูแลรักษาอีกแบบหนึ่ง จริง ๆ การ maintenance ต้องเปลี่ยน mindset ใหม่ คนคอมเมนต์อาจจะคิดอยู่บนเทคโนโลยีเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่เราพูดไปข้างหน้าอีก 20 ปี ถึงคุยไม่รู้เรื่อง ถ้ามีความรู้ความสามารถที่มองไปข้างหน้าแบบเรามันก็คุยกันได้

Q : แบบอาคารเก่ากับใหม่ที่ไม่เข้ากัน 

แล้วจำเป็นต้องเข้ากันไหมครับ จริง ๆ ทีมที่ชนะเขาออกแบบให้เหมือนอาคารเดิม ซึ่งก็เข้ากัน แต่บอกได้เลยว่าจะออกแบบให้เชื่อมต่อกับอาคารเดิมนั้นไม่ได้ เพราะอาคารเดิมกับอาคารใหม่มีหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน อาคารใหม่เราออกแบบเป็นระบบ swing gate สามารถปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ได้ตลอดเวลา ตัว corridor หรือทางเดินเป็น 4 ทิศ ตัว gate ต้องมี 4 ชั้น ขณะที่อาคารเดิมมีเพียง 3 ชั้น จะออกแบบให้เป็นแบบเดิมไม่ได้ ตัว swing gate เขาเรียกว่า arrival 2 departure 2 (ผู้โดยสารขาเข้าเปลี่ยนเป็นผู้โดยสารขาออก) ต้องมี 4 เลเยอร์ เมื่อมี 4 เลเยอร์ก็นำไปแปะกับของเดิมไม่ได้ เพราะดีไซน์ทำไม่ได้

Q : ลงตัวกับระบบจราจรอื่น ๆ

ทุกอย่างดีไซน์ตามทีโออาร์ เช่น พื้นที่เชิงพาณิชย์มีมากกว่า 20,000 ตร.ม. การเข้า-ออกเชื่อมต่อมีครบ รถยนต์ แท็กซี่ รถบัส ซึ่งรถบัสออกแบบที่จอดแบบใหม่ทำให้สะดวกขึ้น ส่วนรถแท็กซี่ออกแบบให้มีคิวระบบดีขึ้น ส่วนการจอดรถส่วนบุคคลมีทั้งอัตโนมัติและระบบปกติ และมีรถไฟฟ้า APM เชื่อมอาคารเก่ากับใหม่

Q : มีข่าวลือได้งานนี้เพราะมีเพื่อนเป็นผู้บริหาร ทอท.

มีเพื่อนจริง แต่ผมไม่เคยไปของานเขาเลยไปถามใครก็ได้ และไม่ชอบเรื่องคอร์รัปชั่น เกลียดมาก พูดไปก็ไม่มีใครเชื่อ แต่ผมถามเขาว่า งานนี้มีการล็อกหรือวางตัวใครไว้ก่อนไหมจะได้ไม่เสียเวลา เขาก็บอกไม่มี ส่งมาได้ ผมก็บอกเขาว่า ถ้าแบบผมดีก็เลือก ถ้าไม่ดีไม่ต้องเลือกนะ ตัวผมเองทั้งชีวิตไม่เคยรับเงินใคร ถ้าให้เพื่อนช่วย ผมคงได้ที่ 1 ไปแล้ว ผมก็เสียใจแทนผู้ที่ได้ที่ 1 เขาพลาดจริง ๆ เราเองได้ที่ 2 นึกว่าแพ้ไปแล้ว แต่พอมีการติดต่อกลับมาว่าได้ที่ 1 เขาแพ้ฟาวล์เพราะเอกสารไม่ครบ ก็เซอร์ไพรส์มาก

Q : จะลดค่าออกแบบลงอีกไหม


เราทำตามทีโออาร์ งบฯน้อยมาก ได้จริงไม่กี่ตังค์ เป็นครั้งแรกที่ออกแบบสนามบินที่เป็นโครงการใหญ่ เราตั้งใจเต็มที่ ผมออกแบบมาหลายงานทั้งเอ็มควอเทียร์ และคอนโดมิเนียม พื้นที่เป็น 100,000 ตร.ม.