เคาะพิมพ์เขียวเมืองการบิน “อู่ตะเภา” แจกสัมปทานไทย-เทศ 50 ปี 2 แสนล้าน

หลังรัฐบาลเข็นรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. เปิดให้เอกชนทั่วโลกร่วมประมูลรูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลา 50 ปี เพื่อบูมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

ล่าสุดเคาะรูปแบบลงทุนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา เนื้อที่ 6,500 ไร่ วงเงิน 200,000 ล้านบาท อีก 1 ใน 5 เมกะโปรเจ็กต์ไฮไลต์จุดพลุ EEC ที่รัฐบาล คสช.กำลังเร่งผลักดันให้สำเร็จเป็นรูปธรรม

โดยจะเปิดให้เอกชนไทย-ต่างชาติร่วมลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลา 50 ปี สัญญาเดียว เหมา 4 โครงการ ทั้งสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์ธุรกิจการค้า พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรี และอาคารคลังสินค้า ตามไทม์ไลน์จะประกาศเชิญชวนในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ เปิดยื่นข้อเสนอเดือน ม.ค.-ก.พ. 2562 จากนั้นประกาศผู้ชนะในช่วงเดือน ก.พ. 2562 คาดว่าจะพัฒนาโครงการแล้วเสร็จภายในปี 2566

โดยเอกชนได้รับสิทธิ์จัดเก็บรายได้และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่รัฐตามข้อตกลง มีหน้าที่ออกแบบและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับสนามบิน ลงทุนพัฒนาองค์ประกอบต่าง ๆ ของโครงการ ดำเนินการและบำรุงรักษาตลอดอายุสัญญา ซึ่งจะมีรายได้จากการดำเนินงานของท่าอากาศยานและองค์ประกอบอื่น ๆ

ด้านรัฐจะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่เชื่อมตรงเข้าสู่สนามบินอู่ตะเภา เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มอเตอร์เวย์ โครงข่ายถนนโดยรอบพื้นที่ อีกทั้งยังมอบสิทธิประโยชน์ จะขอรับจากการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ได้แก่ สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับภาษีและที่ไม่เกี่ยวกับภาษีในกิจการสนามบินพาณิชย์ รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาอีอีซี สำหรับเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษเมืองการบินภาคตะวันออก รวมถึงสนับสนุนการลงทุนบางส่วน เช่น ทางวิ่งที่ 2

จากผลการศึกษาเบื้องต้นโครงการนี้จะมีอัตราผลตอบแทนโครงการ (IRR) 10-12% อัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น 11-13% สะท้อนให้เห็นว่าโครงการมีผลตอบแทนที่น่าสนใจต่อการลงทุนของผู้ร่วมลงทุนเอกชน

ไม่ใช่แค่พื้นที่ 6,500 ไร่ที่จะยกระดับอู่ตะเภาให้เป็นฮับการบินของภูมิภาค ที่ดินโดยรอบจะถูกพัฒนาเป็นเมืองการบินแห่งภาคตะวันออก รองรับแหล่งงานและการอยู่อาศัยที่จะเกิดขึ้นตามมา