จาก “แรงส์” สู่ “แปดริ้ว” ต้นแบบเมืองใหม่ไฮสปีด EEC

ท่ามกลางการประกาศข่าวใหญ่ของเจ้าสัว ซี.พี. “ธนินท์ เจียรวนนท์” จะทุ่มเม็ดเงินหลายแสนล้านสร้างเมืองใหม่แปดริ้ว 10,000 ไร่ รับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ที่จะเชื่อมพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

โดยจะดีไซน์ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ smart city มีการวางผังเมือง ระบบสาธารณูปโภคและบริการครบเครื่องในจุดเดียว ไม่ว่าโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย รองรับคน 3 แสนคน มีรถไฟฟ้ารางเบาเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟความเร็วสูง

ได้มีโอกาสนั่งรถไฟ TGV หรือรถไฟความเร็วสูงของประเทศฝรั่งเศส จาก “ปารีส” ไปยัง “แรงส์” เมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส ที่อยู่ห่างออกไป 129 กม. โดยรถไฟขบวนที่ใช้บริการวิ่งด้วยความเร็ว 320 กม./ชม. ทำให้ใช้เวลาเดินทางเพียง 45 นาที

เมื่อฟังแนวคิด “เจ้าสัวธนินท์” ดูจะละม้ายคล้ายการพัฒนาเมืองแรงส์เพราะระยะห่างของเมืองก็อยู่ไม่ไกลจากปารีส และมีรถไฟฟ้ารางเบา และรถเมล์ขนคนไปยังสถานีรถไฟความเร็วสูง โดยพื้นที่โดยรอบสถานีจะมีจุดจอดรถขนส่งสาธารณะไว้บริการ และยังมี”รถแทรม” ที่เปิดหวูดมา 7 ปีวิ่งรับส่งผู้โดยสารตลอดเส้นทาง

วันนั้นใช้บริการ “รถแทรม” จากสถานีรถไฟ TGV มุ่งหน้าไปยังศูนย์ควบคุมและซ่อมบำรุง (เดโป้) รถแทรมที่บริหารโดยบริษัท ทรานส์เดฟ กรุ๊ป บริษัทลูกของ “SNCF-บริษัททางรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส” ที่ดำเนินธุรกิจขนส่งสาธารณะทั้งรถรางและรถไฟใต้ดิน

สำหรับ “รถแทรม” ผลิตโดย “อัลสตอมฯ” ซัพพลายเออร์รายใหญ่ของฝรั่งเศส มีการดีไซน์รูปแบบตัวรถด้านหน้าเป็นรูปแก้วแชมเปญ และมีหลากสีสันให้สอดคล้องกับลักษณะเมืองแรงส์ที่เป็นพื้นที่ปลูกแชมเปญ รถมีทั้งหมด 18 ขบวน ใน 1 ขบวนมี 3 ตู้ มี 2 เส้นทางวิ่งบริการทั่วเมือง รวม 22 กม. มี 23 สถานี มีรถออกทุก ๆ 5 นาที

รูปแบบโครงสร้างจะเป็นระดับดิน ตัวรถจะขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า เมื่อวิ่งผ่านเมืองจะรับกระแสไฟฟ้าจากด้านล่าง เพื่อรักษาทัศนียภาพของเมือง แต่เมื่อออกนอกเมืองจะรับส่งไฟฟ้าอยู่ด้านบน

“เมืองแรงส์” มีประชากร 3 แสนคน โดยอาศัยอยู่ในเมือง 1.8 แสนคน เป็นเมืองเก่าแก่และมีการสร้างเมืองใหม่ขยายออกไปตามความเจริญ ซึ่งในระหว่างทางที่นั่งรถแทรม จะมีอาคารร้านค้า มหาวิทยาลัย ที่อยู่อาศัย แหล่งงาน โดยคนที่อาศัยอยู่เมืองนี้ จะนั่งรถไฟไปทำงาน แบบไปเช้าเย็นกลับ ซึ่งจากสถิติมีผู้โดยสารใช้บริการรถแทรมและรถเมล์ที่วิ่งมาเชื่อมกับสถานีรถไฟความเร็วสูง 45 ล้านเที่ยวคนต่อปี เพราะเมื่อการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะสะดวก จึงทำให้คนหันมาใช้บริการมากขึ้น


ส่วนเมืองใหม่ไฮสปีดในประเทศไทยจะสำเร็จอย่างโมเดลต้นแบบนานาประเทศหรือไม่ ยังต้องรอดูกันต่อไปยาว ๆ เพราะโปรเจ็กต์ใหญ่และใช้เงินลงทุนมหาศาล