อนุพงษ์ อัศวโภคิน “ถ้าอยู่แต่ในกล่อง เราก็ไม่เห็นอะไร”

กว่า 2 ปีที่ “อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ซีอีโอ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) ทุ่มเวลาให้กับเรื่องการเรียนรู้ใจตัวเองและองค์กร AP อย่างหนักหน่วง โดยค้นพบ “ต้นตอ” และ “เคล็ดลับ” ที่จะพาทุกชีวิตให้อยู่รอดหรือขึ้นฝั่งได้ทันก่อนน้ำจะท่วมโลก นี่คือบทสัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ด้วยมุมมองใหม่ แต่คงสไตล์ “ดุ แรง เร็ว” เช่นเดิม

Q : อะไรคือแรงบันดาลใจ

เรื่องคนสำคัญที่สุด ผมหงุดหงิดก็เรื่องคน ผมสำเร็จก็เรื่องคน คนคือหัวใจ แต่จะทำยังไงให้ “คนเข้าใจคน” ด้วยกัน ในโลกนี้อะไรก็ก๊อบปี้กันได้หมด ยกเว้น “แก่นของคน” แม้อนาคตโรบอตอาจฉลาดกว่ามนุษย์ แต่มนุษย์ก็คือตัวกำหนด ทำให้เกิดหรือดับ

ที่ผ่านมา ผมมองข้ามปัญหาไปโดยไม่รู้ตัว เพราะเรากลัวและไม่ยอมรับความจริง จนมานั่งถกกับโปรเฟสเซอร์ที่บินมาโค้ชชิ่ง จึงพบว่าความคิดลึก ๆ ของตัวเรานั่นแหละที่เป็นเส้นบาง ๆ กั้นอยู่ นั่นคือกลัวลูกน้องไม่รัก กลัวไม่มีคนทำงานให้ แต่ปากพูดอีกอย่าง เพื่อไม่ให้ใครเสียใจ คือไม่ได้พูดตรง ๆ ทั้ง ๆ ที่เราคิดว่า เราตรงสุดแล้ว (หัวเราะ)

ผมต้องขอบคุณหนังสือ 2 เล่มนี้ The Anatomy of Peace และ Leadership and Self-Deception Getting out of the Box เขียนโดย The Arbinger Institute เฮ้ย ! ใช่เลย โดนใจผมมาก ทำให้ค้นพบทางออกจริง ๆ แม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย เลยแนะให้ผู้บริหารทุกท่านอ่าน

สรุปแล้ว ด้วยความไม่รู้ ทำให้เราอยู่แต่ในกล่อง เมื่อกล่องครอบอยู่ เราก็มองคนอื่นเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ปัญหาเลยแก้ไม่ตรงจุด

Q : คุณให้น้ำหนักกับเรื่องภายใน

ถูกต้อง ด่านหน้าเรามีมืออาชีพช่วยบริหารและรับผิดชอบงานตามโปรเซส ส่วนผมมาทุ่มกับโมเดลใหม่ที่อยากทำให้สตรองขึ้น เพราะช่วง 2 ปีมานี้ อสังหาริมทรัพย์แข่งดุเดือดมากที่สุด เป็น critical ที่มาพร้อมกับโลกดิจิทัล ทุกอย่างเปลี่ยนเร็วจนน่าตกใจ บิ๊กดาต้าเยอะแยะไปหมด

ยอมรับว่าช่วงหนึ่งผมเบื่อและเครียด เพราะไปยึดกับคำว่า “สองหมื่นล้าน” ตามเป้า แต่เมื่อเราได้เรียนรู้ปัญหาเชิงลึก ทำให้เราตาสว่าง มีไฟลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง โดยสู้ไปกับความเป็นจริง พร้อมสนุกไปกับมันผมจึงต้องเตรียมความพร้อมให้กับองค์กร ให้ทุกคนรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น the new chaper of AP จะเป็นคัมภีร์ที่ช่วยให้องค์กรเดินไปอย่างถูกทาง

“กำลังใจ” และ “ผลตอบแทน” จะสมน้ำสมเนื้อ เมื่อคุณทำเต็มที่ในสูตรนี้คือผมเปลี่ยนวัดตัว หรือ KPI จากรายปีมาเป็น 3 ปี แล้วรวม “หัวใจ” ของทุกขั้นตอนมาเป็น “ผลลัพธ์” สุดท้าย

โดยรวมนโยบายการจัดวางทิศทาง, ค่าการจัดการ, กำไร, ยอดขาย, ต้นทุน และค่าอะไรจิปาถะ มารวบยอด แล้วให้ผู้บริหารจัดการกันเองกับทีมงานแต่ละกรุ๊ป ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง ซึ่งผมจะให้บัดเจตก้อนใหญ่ไปบริหารกันเอง เราเรียกว่า “independently responsible” คือ “มีอิสระในการทำงาน แต่ต้องรับผิดชอบ”

Q : รูปแบบโมเดลใหม่

ผมเรียกว่า design thinking คือ นำหลักคิดแบบวิศวกรรมมาเป็นแกน แล้วนำคนกลุ่มนี้มาวาง process เรื่องนวัตกรรม ผมเชื่อในเรื่องอินโนเวชั่นจะชนะทุกอย่าง แม้แต่โลกดิจิทัลที่ถาโถม

แต่เราต้อง speed & coolเอพีจึงต้องหามุมมองดีไซน์ใหม่ ๆ ตามโลกที่หมุนไป อย่างฟังก์ชั่นห้องคอนโดฯเรามีหลายรูปแบบมาก เพราะเรามีกลุ่มลูกค้าหลากหลาย

แต่เป้าหมายหลัก คือ การส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด หรือ quality of life ให้กับลูกค้าลูกบ้าน ขณะที่คนทำงานอย่างพวกเราก็ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขกับงานไปด้วย (หัวเราะ)

Q : ผลที่เกิดขึ้น

ดีมาก ปีนี้แนวราบโตขึ้น 35-40% คอนโดฯขึ้นกับการเปิดตัว แต่ถ้าหันกลับไปดูที่ถืออยู่ ลอนช์แล้วต้องขายของในมือให้ได้ สองปีมานี้แนวดิ่งเราโต 100%แม้ตลาดจะแข่งรุนแรง แต่เราเป็นนักพัฒนาก็ต้องเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง การ์ดต้องไม่ตก และพัฒนาให้ตรงจุดที่ลูกค้าใหม่ ๆ ต้องการซึ่งปีนี้เอพีลงทุน 38 โครงการ แนวราบเปิดไปแล้ว 17 โครงการ รอเปิดใหม่อีก 16 โครงการ ส่วนคอนโดมิเนียม 5 โครงการ เปิดแล้ว 3 โครงการ เหลืออีก 2 โครงการ จะเปิดในตุลาคม-พฤศจิกายน 2561

เอพีตั้งมา 27 ปี ผ่านร้อนหนาวมาทุกรูปแบบ ทำอสังหาฯมาแล้ว 140-150 โครงการ มีลูกบ้านมากกว่า 40,000 คน

นี่คือสิ่งที่เราบอกตัวเอง เป็นสถิติที่

การันตี แต่ในกระบวนการของเรายังต้องเดินต่อไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเป็นธุรกิจที่ต้อง “พัฒนา” โดยมีโครงการที่ยังมีการซื้อขายอยู่ ทั้งขายใหม่ ขายต่อ ให้เช่า ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะมีธุรกิจหลังการขายอีกที่ต้องไปต่อยอด

นี่ก็คือบิ๊กดาต้าของเอพี ที่ผมกำลังจัดลำดับความสำคัญ เอามาเขย่าใหม่ มาสร้าง quality of life ทำทั้ง global research และ local research เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์

Q : ปัญหาก่อสร้างที่เจอ

ก็เจอเยอะ ซึ่งผมให้ความสำคัญมากกับเรื่องงานก่อสร้าง ผู้รับเหมาเป็นคีย์ซักเซสหนึ่งที่เอพีต้องเล่นบทเข้ม ต้องเนี้ยบและเป๊ะ เพราะการอยู่อาศัยคือความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย ความแข็งแรงปัญหาทรุดหรือซึม ถ้ารู้ผมจะลงไปพื้นที่ทันที รีบไปช่วยจัดการแก้ปัญหาที่หน้างานเลย ไม่เกี่ยง ไม่อิดออด เรื่องเงินเรื่องเล็ก เรื่องความเชื่อมั่นเรื่องใหญ่ มีบางเคสก็ท้อบ้าง เพราะเป็นปัญหานิติบุคคลเก่าใหม่ขัดแย้งกันเอง ซึ่ง วสท.หรือสมาคมวิศวกรรมสถานในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็พร้อมช่วยเหลือในทางเทคนิค เมื่อเราขอไป

Q : ฟองสบู่กับการเข้มสินเชื่อ

ผมเห็นด้วยที่แบงก์ชาติออกมาปราม เพราะเป็นหน้าที่ของ regulator (ผู้กำกับดูแล) ที่ต้องคอยกำกับสถาบันการเงิน เพราะอดีตผู้ประกอบการอสังหาฯถูกมองเป็นตัวร้ายที่ทำให้เศรษฐกิจพังปี 2540 แต่มาวันนี้ ไม่รู้ว่าใคร อะไร จะทำให้พังอีก (หัวเราะ)

ส่วนผมเป็นภาคเอกชน มีหน้าที่ “พัฒนา” ก็ต้องพัฒนา คือ “ทำให้ดีขึ้น” ทั้งองค์กร และเศรษฐกิจส่วนรวม แต่ผมขอโฟกัสเฉพาะธุรกิจอสังหาฯเท่านั้น จะไม่หลงไม่เหลิง ภายใต้เป้าหมายที่บอกไป

Q : ผลกระทบจากรายใหญ่ (กว่า)

ธุรกิจนี้ใครมีเงิน มีที่ดิน ก็สามารถทำได้หมด แต่ต้องยอมรับว่าวันนี้มาร์เก็ตแชร์ของรายใหญ่ในตลาดอยู่ที่ 70% ซึ่งสูงมาก รายกลาง รายเล็กจะเหนื่อย แต่วิกฤตก็มีโอกาส ถ้าคนเห็นช่องทางและมองทะลุ

Q : ราคาอสังหาฯแพงหูฉี่

ผมเป็นเจ้าของโครงการก็อยากขายของได้ อยากปิดการขายเร็ว เพื่อทำโครงการใหม่ต่อ แต่โลกความเป็นจริง “ที่ดิน” เมืองไทยแพงเว่อร์ ผมแทบซื้อไม่ลง แต่บางครั้งจำใจ


ล่าสุด ผมไปเดินสำรวจทำเลซอยทองหล่อ โห ! ตกใจมาก เจ้าของตึกแถวช่วงต้น ๆ ซอย บอกราคาขายแบบไม่ให้เราซื้อได้ คือ ตารางวาละ 3 ล้าน บ้าไปแล้ว ถ้าพัฒนาเป็นคอนโดฯแล้ว ต้องขายตารางเมตรละเท่าไหร่ ใครจะมีปัญญาซื้อ นี่คือปัญหาใหญ่ที่ยังไม่มีใครจัดการได้