ทุนใหญ่ฮุบทำเลทองมิกซ์ยูส ริมเจ้าพระยา-พระราม4เดือด

ทุนยักษ์เดินเครื่องเมกะโปรเจ็กต์ชิง “สร้างเมืองใหม่ในเมืองเก่า” ทำเลทองริมเจ้าพระยา-พระราม 4เดือด เจ้าสัวเจริญโหมตอกเข็ม”วัน แบงค็อก” โปรเจ็กต์ 1.2 แสนล้านผุดแลนด์มาร์ก 104 ไร่ หลัง EIA ฉลุยทุ่มทุนเจาะอุโมงค์เชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดินและทางด่วน “เซ็นทรัล-กลุ่มดุสิต” ดีเดย์ทุบดุสิตธานีต้นปีหน้า ขึ้นมิกซ์ยูสยักษ์ ฟากเจียรวนนท์-สยามพิวรรธน์ ได้ฤกษ์อวดโฉม “ไอคอนสยาม” ริมเจ้าพระยา 9 พ.ย.นี้

แม้เศรษฐกิจในภาพรวมยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ภาครัฐกำลังเร่งขับเคลื่อน โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าหลากหลายสีทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑล การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่คืบหน้า บวกกับโรดแมปการเมืองและการนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งชัดเจนขึ้น ทำให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ถือที่ดินทำเลทองอยู่ในมือเพื่อเตรียมพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ รูปแบบโครงการมิกซ์ยูสครบวงจรเริ่มเคลื่อนไหวปักหมุดก่อสร้างคึกคัก

ทั้งทำเลย่านใจกลางกรุงอย่างโครงการวัน แบงค็อกโครงการร่วมทุนระหว่างกลุ่มโรงแรมดุสิตธานีกับเซ็นทรัล ย่าถนนพระราม 4-สีลม โครงการเจ้าพระยา เอสเตท ของกลุ่มตระกูลเตชะอุบล รวมทั้งโครงการไอคอนสยาม โปรเจ็กต์ร่วมทุนของตระกูลเจียรวนนท์ กับกลุ่มสยามพิวรรธน์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนเจริญกรุง ฯลฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดมีโครงการอสังหาริมทรัพย์มิกซ์ยูสที่กลุ่มทุนใหญ่ ตระกูลดัง กำลังเร่งเครื่องพัฒนา และใกล้แล้วเสร็จเตรียมเปิดให้บริการภายในปีนี้หลายโครงการ

ช้างชนยักษ์บนถนนพระราม 4

แหล่งข่าวจากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อประมาณ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทางผู้พัฒนาโครงการวัน แบงค็อก ได้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคารตามมาตรา 39 ทวิ ซึ่ง กทม.ได้ออกใบแจ้งการก่อสร้างให้แล้ว โดยที่โครงการสามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ทันทีหลังได้รับใบอนุญาตแล้ว โดยจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จใน 3 ปี

ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัลและดุสิตธานี ที่เช่าที่ดิน23 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนพระราม 4-สีลม จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ยื่นขออนุญาตรื้อถอนโครงสร้างเก่าออก จะเริ่มดำเนินการภายในเดือน ม.ค. 2562 และจะใช้เวลารื้อถอน 4-5 เดือน แต่ยังไม่ได้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างโครงการใหม่แต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเซ็นทรัลและดุสิตธานีมีแผนพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส ประกอบด้วย ศูนย์การค้า โรงแรม และที่อยู่อาศัย มีพื้นที่ใช้สอย 403,000 ตารางเมตร มูลค่าโครงการ 36,700 ล้านบาท พร้อมลงทุนเจาะอุโมงค์เชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสีลมดึงคนเข้าศูนย์การค้าที่อยู่ใต้ดิน เป็นลักษณะไลฟ์สไตล์มอลล์แบบโลว์ไรส์ 2-3 ชั้น ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ที่จอดรถอีก 2 ชั้น

โปรเจ็กต์ “วัน แบงค็อก” ฉลุย

แหล่งข่าวจากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า โครงการวัน แบงค็อก สามารถขอต่อใบอนุญาตได้หากไม่สามารถดำเนินการได้ทันเวลากำหนด

“โครงการได้ยื่นขออนุญาตก่อสร้าง หลัง่ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอแล้ว เป็นการขอตามมาตรา 39 ทวิ ซึ่งสามารถก่อสร้างโครงการได้ทันที แต่ กทม.จะตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งภายใน 120 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในเดือน ต.ค.นี้”

โครงการวัน แบงค็อก (One Bangkok) ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มูลค่าโครงการ 120,000 ล้านบาท ภายใต้การลงทุนของบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด (FCL) ตั้งอยู่บนพื้นที่ 104 ไร่ โรงเรียนเตรียมทหารเดิม ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ บนหัวมุมถนนพระราม 4 และถนนวิทยุ ให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ โดยจะพัฒนาส่วนแรกเพื่อเปิดให้บริการในปี 2564 และเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการในปี 2568

ภายในโครงการประกอบด้วย อาคารสำนักงานเกรดเอ มาตรฐาน LEED และ WELL 5 อาคาร โรงแรมหรู 5 โรงแรม ที่พักอาศัยระดับอัลตราลักเซอรี่ 3 อาคาร ร้านค้าปลีก และพื้นที่ทำกิจกรรมที่หลากหลายและครบครัน พื้นที่กิจกรรมและศิลปวัฒนธรรม 10,000 ตารางเมตร พื้นที่สีเขียวและพื้นที่เปิดโล่งขนาดรวมกัน 50 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด

สร้างเมืองใหม่กลางเมือง

แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า โครงการ “วัน แบงค็อก” ได้รับอนุมัติรายงานอีไอเอแล้วเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2561 บนพื้นที่ 104 ไร่เศษ พัฒนาเป็นโครงการอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ จำนวน 1 อาคาร 10 ทาวเวอร์ พื้นที่ใช้สอยอาคารรวม 1,837,486 ตารางเมตร โดยทั้ง 10 ทาวเวอร์เชื่อมกันที่ชั้นใต้ดิน 4 ถึงชั้นที่ 4 แบ่งเป็น 5 ส่วน ได้แก่

1.โรงแรม 2 ทาวเวอร์ ได้แก่ ทางเวอร์ H2A ขนาดความสูง 21 ชั้น หรือสูง 100.70 เมตร จำนวนห้องพัก 237 ห้อง ทาวเวอร์ H2B ขนาดความสูง 16 ชั้น หรือความสูง 66.20 เมตร จำนวนห้องพัก 175 ห้อง

2.สำนักงาน 3 ทาวเวอร์ ได้แก่ ทาวเวอร์ O1B ขนาดความสูง 50 ชั้น หรือความสูง 263.50 เมตร ทางเวอร์ O2 ขนาดความสูง 58 ชั้น หรือความสูง 274.20 เมตร ทาวเวอร์ O3 ขนาดความสูง 40 ชั้น หรือความสูง 182.65 เมตร

3.ส่วนพักอาศัยรวม 2 ทาวเวอร์ ได้แก่ ทาวเวอร์ C3B ขนาดความสูง 61 ชั้น หรือความสูง 277.65 เมตร จำนวนห้องพัก 400 ห้อง ทาวเวอร์ C5 ขนาดความสูง 65 ชั้น หรือความสูง 251.20 เมตร จำนวน 838 ห้อง

4.สำนักงานและโรงแรม 2 ทาวเวอร์ ได้แก่ ทาวเวอร์ O1A/H1 ขนาดความสูง 60 ชั้น หรือความสูง 284.70 เมตร จำนวนห้องพัก 400 ห้อง ทาวเวอร์ O4/H4 ขนาดความสูง 92 ชั้น หรือความสูง 437.03 เมตร จำนวนห้องพัก 135 ห้อง และ 5.ส่วนพักอาศัยรวมและโรงแรม จำนวน 1 ทาวเวอร์ ได้แก่ ทาวเวอร์ H3/C3A ขนาดความสูง 50 ชั้น หรือความสูง 216.40 เมตร มีจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้น 371 ห้อง แบ่งเป็นจำนวนห้องพักส่วนโรงแรม 260 ห้อง และจำนวนห้องพักส่วนอาคารพักอาศัยรวม 121 ห้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ โครงการ “วัน แบงค็อก” ยังลงทุนสร้างทางอุโมงค์เชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีลุมพินีหัว-ท้ายทะลุเข้าโครงการและสร้างทางเชื่อมกับทางด่วน เพื่อแก้ปัญหาการจราจรโดยรอบ และทำให้การเดินทางเข้า-ออกโครงการสะดวกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากหลังโครงการแล้วเสร็จจะมีคนเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในบริเวณดังกล่าวจำนวนมาก

ไอคอนสยามเปิด 9 พ.ย.นี้

สำหรับไฮไลต์ใหญ่ปลายปีนี้ก็คือ “โครงการไอคอนสยาม” โปรเจ็กต์ยักษ์ที่ได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการวันที่ 9 พ.ย.นี้ เป็นโครงการที่ “บจ.แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น” หรือ MQDC ธุรกิจอสังหาฯใต้ปีก “ตระกูลเจียรวนนท์” ร่วมทุนกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มสยามพิวรรธน์ บนที่ดิน 55 ไร่ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นศูนย์การค้า 2 อาคาร คอนโดมิเนียมหรู 2 อาคาร สูง 70 ชั้น และ 52 ชั้น ศูนย์ประชุมระดับโลก และศูนย์รวมความมหัศจรรย์ด้านศิลปะและวัฒนธรรม มูลค่ากว่า 54,000 ล้านบาท ด้วยพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารกว่า 750,000 ตารางเมตร

นอกจากนี้ กลุ่มไอคอนสยามยังร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองเชื่อมต่อการเดินทางจากรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีกรุงธนบุรีมายังโครงการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างเฟสแรก “กรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน” จะแล้วเสร็จเปิดบริการปลายปี 2563

บูมพระราม 4-ริมเจ้าพระยา

นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กทม. กล่าวว่า โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ที่ภาคเอกชนลงทุนพัฒนาเป็นการ “สร้างเมืองใหม่ในเมืองเก่า” ในทำเลที่มีศักยภาพทั้งใจกลางเมืองและริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในอนาคตเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้สภาพของเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากอย่างแน่นอน เพราะเป็นการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งโดยภาพรวมมีการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเต็มที่แล้ว

ทั้งนี้ ผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงจะประกาศใช้ปลายปี 2562 จะส่งเสริมย่านพระราม 4 เจริญกรุง คลองสาน เป็นย่านนวัตกรรมสร้างสรรค์ และสมาร์ทซิตี้ รองรับธุรกิจการค้าและบริการ โดยกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดงพาณิชยกรรมพิเศษ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ บริษัท คันทรี กรุ๊ป ได้เปิดตัวโครงการเจ้าพระยา เอสเตท มูลค่า 32,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โรงแรมหรูริมแม่น้ำระดับ 6 ดาว สองแห่ง ภายใต้การบริหารของเชนระดับโลก คือ โฟร์ซีซั่นส์ และคาเพลลา บนพื้นที่รวม 36 ไร่


นอกจากนี้ ยังมีโครงการโฟร์ซีซั่น ไพรเวท เรสซิเดนส์ จุดเด่นคืออาคารสูง 73 ชั้น ประกอบด้วยห้องพักหรูทั้งหมด 355 ห้องและอีกโครงการหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นของบริษัทยูซิตี้ ในเครือบีทีเอส กรุ๊ป ที่ได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาโครงการบนที่ดินแปลงโรงภาษีร้อยชักสาม ที่ราชพัสดุ ตามแผนจะพัฒนาเป็นโรงแรมสไตล์อนุรักษ์ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ตรงข้ามกับโครงการไอคอนสยาม