กทพ.ไกล่เกลี่ย BEM แลกชดเชยทางด่วน 4 พันล.

ทางแข่งขัน - โทลล์เวย์ที่ต่อขยายไปถึงรังสิต มีแนวเส้นทางคู่ขนานไปกับทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ทำให้ NECL ผู้รับสัมปทานเรียกค่าชดเชยรายได้จาก กทพ.

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2561 ให้ กทพ.ชดเชยรายได้ให้กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) ในเครือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM เป็นจำนวนเงิน 1,790 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยให้ชำระภายใน 90 วัน นับตั้งแต่คดีถึงที่สุด เป็นผลจากการที่กรมทางหลวง (ทล.) สร้างส่วนต่อขยายโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต ทำให้เกิดการแข่งขันกับทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ดนั้น ขณะนี้กำลังหาวิธีการและแนวทางในการเยียวยา ซึ่งมีแนวทางที่จะเจรจากันได้และไม่เกินความสามารถ ขอแค่ให้มีเวลาและจังหวะหารือร่วมกับเอกชนก่อน

นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการ กทพ. ฝ่ายกฎหมายและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กล่าวว่า ได้รายงานให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแล กทพ. รับทราบแล้ว โดยขอให้กระทรวงเสนอเรื่องดังกล่าวรายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ จากนั้น กทพ.จะหาแนวทางดำเนินการต่อไปในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติ

“เรื่องนี้ความเสียหายไม่ได้เกิดจากการที่ กทพ.ละเมิดสัญญา ต้องดูว่า กทพ.จำเป็นต้องรับผิดชอบหรือไม่ ซึ่งคดีนี้เป็นคดีแรกที่ กทพ.เป็นฝ่ายแพ้คดี กทพ.จะขอเจรจากับเอกชนก่อน เพราะเป็น

เรื่องที่ยังไม่เคยเกิดมาก่อน ก็มีหลายวิธีที่พิจารณาไว้ เช่น ขอผ่อนชำระเป็นรายปี จากนั้น กทพ.จะไปต่อรองกับรัฐบาล ขอหักรายได้ที่จะส่งเข้ากระทรวงการคลังออก ประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าชดเชยแทน เป็นต้น”

รายงานข่าวจาก กทพ.กล่าวว่า ปัจจุบัน กทพ.กับ BEM คู่สัญญาสัมปทานทางด่วนมีข้อพิพาทกันประมาณ 11 คดี คิดเป็นวงเงินประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท อยู่ในชั้นศาลปกครองกลาง จำนวน 2 เรื่อง ที่สิ้นสุดมีค่าชดเชยทางแข่งขันที่ศาลตัดสินแล้ว ยังเหลือคดีปรับค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 2 เมื่อปี 2546 ที่คณะอนุญาโตตุลาการให้ กทพ.จ่ายค่าชดเชยกว่า 8,000 ล้านบาท ให้กับ BEM ส่วนที่เหลืออยู่คณะอนุญาโตตุลาการ”ตอนนี้กำลังลุ้นว่า BEM จะยื่นข้อพิพาทเพิ่มเรื่องปรับค่าผ่านทางล่าสุดที่ครบกำหนดเดือน ก.ย.นี้หรือไม่ เพราะเขาขอสงวนสิทธิ์ไว้ อาจจะยื่นข้อพิพาทก็ได้ เพราะไม่เห็นด้วยที่ กทพ.จะไม่ปรับค่าผ่านทาง หลังคำนวณดัชนีผู้บริโภค หรือ CPI แล้ว กทพ.มองว่าควรจะปัดเศษลง เพราะไม่ถึง 5 บาท ส่วนเอกชนมองว่าควรจะปัดเศษขึ้น ต่างคนต่างยึดแนวทางของตัวเองตั้งแต่แรก จึงเป็นข้อพิพาทกันมาทุกรอบที่มีการปรับค่าผ่านทาง”

รายงานข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เป็นที่จับตาว่าการเจรจาไกล่เกลี่ยกับเอกชนกรณีจ่ายค่าชดเชยทางแข่งขันจะมีการนำเรื่องสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 มาพิจารณาด้วยหรือไม่ เนื่องจากจะสิ้นสุดสัญญาในปี 2563 ล่าสุด กทพ.อยู่ระหว่างศึกษาการนำโครงการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 ซึ่งตามสัญญาจะต้องเจรจารายเดิมเป็นรายแรก โดยที่ผ่านมาทาง กทพ.พยายามไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับเอกชนมาโดยตลอด

นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า คดีข้อพิพาทต่าง ๆ ระหว่าง กทพ.และเอกชนที่ค้างคากันอยู่หลายคดี เป็นภารกิจแรกที่จะเข้ามาดำเนินการ หากสามารถไกล่เกลี่ยกันได้ก็จะดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย