อัด 5.2 หมื่นล้านตัดด่วนใหม่ 3 สาย เชื่อมโทลล์เวย์ทะลวงคอขวดตะวันออก-ตะวันตก

เปิดภารกิจด่วน ผู้ว่าการการทางพิเศษฯคนใหม่ “สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์” จัดคิวตัดด่วนใหม่ 8 สายทาง กว่า 1 แสนล้าน ต่อเชื่อมท่าเรือกรุงเทพ พื้นที่อีอีซี นครนายก สระบุรี ภูเก็ต เร่งผุด 3 โครงข่ายใหม่กว่า 5.2 หมื่นล้าน เชื่อมโซนตะวันออก-ตะวันตก ประเดิมปีหน้าเปิดประมูลสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก ดึงรับเหมาไทย-เทศร่วมชิงเค้ก 5 สัญญา เดินหน้าฟื้นตอม่อเกษตร-นวมินทร์ เปิดโต๊ะเจรจาโทลล์เวย์ และ BEM ลงทุน PPP กว่า 7.5 พันล้าน ผุดทางเชื่อมแยกรัชวิภา ระยะทาง 2.6 กม. ทะลวงคอขวด แก้รถติด คาดตอกเข็มปี”63

นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภารกิจเร่งด่วนที่จะดำเนินการในทันที คือ เร่งก่อสร้าง 3 โครงการทางด่วนสายใหม่ที่อยู่ในแผนงานเพื่อแก้ปัญหาการจราจร โดยจะใช้เงินลงทุนจากการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบวงเงิน 44,819 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะเปิดขายหน่วยกองทุนในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อก่อสร้าง 2 โครงการ

ปีหน้าประมูลแน่ด่วนพระราม 3

ประกอบด้วย ทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. เงินลงทุน 30,437 ล้านบาท และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก และช่วงทดแทนช่วงที่ 1 จะเชื่อมจากแยกเกษตร-นวมินทร์ เลาะไปด้านหลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมระยะทางประมาณ 17 กม. เงินลงทุน 14,382 ล้านบาท นอกจากนี้จะเร่งสร้างทางยกระดับเชื่อมระหว่างโทลล์เวย์กับทางด่วนศรีรัชบริเวณแยกรัชวิภา ระยะทาง 2.6 กม. วงเงิน 7,591 ล้านบาท

“โครงการแรกจะประมูล ทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก จะเริ่มประมูลภายในต้นปี 2562 จะประมูลแบบนานาชาติ เพื่อเปิดให้บริษัทต่างชาติเข้าร่วมด้วย”

ดึงต่างชาติเข้าร่วม

โดยแบ่งประมูลก่อสร้าง 5 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 งานโครงสร้างยกระดับระหว่าง กม.0+000-กม.6-369 ระยะทาง 6.9 กม. วงเงิน 7,008 ล้านบาท สัญญาที่ 2 โครงการสร้างยกระดับช่วง กม.6+369-กม.11+690.577 ระยะทาง 5.3 กม. วงเงิน 7,153 ล้านบาท

สัญญาที่ 3 โครงสร้างยกระดับช่วง กม.11+690.577-กม.16+694.752 ระยะทาง 5 กม. วงเงิน 6,733 ล้านบาท สัญญาที่ 4 งานสะพานบริเวณ กม.16+964.752 ถึงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ ระยะทาง 2 กม. วงเงิน 8,042 ล้านบาท และสัญญาที่ 5 งานระบบเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมการจราจรและระบบสื่อสาร วงเงิน 990 ล้านบาท โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2565

สำหรับแนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อทางยกระดับถนนสาย 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) ช่วง กม.13+000-กม.11+200 จากนั้นสร้างบนเกาะกลางถนนพระราม 2 เป็นทางยกระดับ 6 ช่องจราจร จนถึงด่านผ่านทางดาวคะนอง แล้วสร้างทับซ้อนบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) จนถึงบริเวณถนนพระราม 3 ใกล้กับทางแยกต่างระดับบางโคล่ จะช่วยแบ่งเบาการจราจรบน ถ.พระราม 2 และรองรับการปิดซ่อมใหญ่สะพานพระราม 9 ที่ใช้งานมากว่า 30 ปี

เร่งเชื่อมโทลล์เวย์-ทางด่วน

นายสุชาติกล่าวอีกว่า ส่วนทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วง N2 เชื่อมกับวงแหวนรอบนอกตะวันออก จะดำเนินการคู่ขนานไปกับสายพระราม 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอที่ทำเพิ่มเติม เพราะจะมีสร้างทางสายใหม่เพื่อทดแทนช่วง N1 ที่จะสร้างเป็นทางยกระดับจากแยกรัชวิภาจะเชื่อมกับโทลล์เวย์ และทางด่วนศรีรัช-วงแหวนตะวันตก เลาะไปตาม ถ.วิภาวดีรังสิต เลี้ยวขวาที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ไปตามถนนเลียบคลองบางเขน ยกข้าม ถ.พหลโยธิน เลี้ยวขวาไปตามแนวคลองบางบัว ผ่านวัดบางบัว เข้าถนนผลาสินธุ์ เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.เกษตร-นวมินทร์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 และเสร็จในปี 2566

“งานต่อไปที่จะเร่งรัด จะเซ็นสัญญาสร้างฐานเชื่อมโทลล์เวย์กับทางด่วน ซึ่ง กทพ.จะลงทุนก่อสร้างฐานรากและตอม่อให้ก่อน เพราะใช้พื้นที่ของการรถไฟฯ โครงการนี้จะให้เอกชนร่วมลงทุน PPP ในปีหน้าจะเร่งเจรจา บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง ผู้รับสัมปทานโทลล์เวย์ และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ผู้รับสัมปทานทางด่วน ให้ได้ข้อยุติเรื่องลงทุน จากนั้นจะเริ่มสร้าง ใช้เวลา 3 ปี แล้วเสร็จในปี 2565 มีปริมาณการจราจร 64,500 เที่ยวคันต่อปี จะเป็นโครงข่ายเชื่อมการเดินทางฝั่งตะวันตกและตะวันออกได้สะดวกรวดเร็วขึ้น รูปแบบจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร แนวเส้นทางเริ่มต้นที่บริเวณต่างระดับแยกรัชวิภา ไปตามแนว ถ.กำแพงเพชร 2 ข้ามทางพิเศษศรีรัช ไปเชื่อมกับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก จะมีการสร้างด่านตรงนี้เพิ่ม แต่ไม่มีเก็บค่าผ่านทางเพิ่มแต่อย่างใด”

กะทู้-ป่าตองรอปี”63

นายสุชาติกล่าวอีกว่า สำหรับโครงการที่เหลือจะทยอยดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กม. เงินลงทุน 13,916 ล้านบาท อยู่ระหว่างการเสนอโครงการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมทุน เนื่องจากจะลงทุนโดยรูปแบบ PPP คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 และแล้วเสร็จในปี 2567

โครงการส่วนต่อขยายทางด่วนฉลองรัชไปนครนายก-สระบุรี ระยะทาง 104.7 กม. เงินลงทุน 80,594 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอการอนุมัติอีไอเอ, โครงการทางเชื่อมท่าเรือกรุงเทพ และทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ สถานะตอนนี้กำลังพิจารณาแนวทางการดำเนินการ ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะเป็นผู้รับผิดชอบศึกษาออกแบบรายละเอียดและความเหมาะสมของโครงการ ตั้งเป้าจะก่อสร้างในปี 2565 และแล้วเสร็จในปี 2567 และโครงการทางเชื่อมต่อทางด่วนบูรพาวิถี และถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี ระยะทาง 3.5 กม. อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมของโครงการ จะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 และแล้วเสร็จในปี 2568

ปริมาณจราจรแตะ 2 ล้านคัน

นายสุชาติกล่าวว่า ปัจจุบัน กทพ.ได้พัฒนาก่อสร้างทางด่วนที่เปิดบริการแล้ว รวมทั้งสิ้น 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 224.6 กม. มีรายได้จากค่าผ่านทางเฉลี่ย 71 ล้านบาทต่อวัน มีปริมาณการจราจรทั้งระบบกว่า 1.86 ล้านคันต่อวัน ซึ่งปัจจุบันปริมาณการจราจรมีการเติบโตที่ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 1-2% เนื่องจากผิวจราจรใกล้เต็มความจุและติดขัดในจุดที่เป็นคอขวด ทำให้ กทพ.ต้องเร่งขยายโครงข่ายใหม่มารองรับ ตามแผนมี 8 โครงการ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท โดยเน้นเชื่อมโครงข่ายกรุงเทพฯโซนตะวันออกและตะวันตกมากขึ้น เนื่องจากเมืองมีการขยายตัวออกไปมากตามการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. กล่าวว่า งานด่วนที่จะให้ผู้ว่าการ กทพ.คนใหม่เร่งดำเนินการ คือ สร้างฐานรากทางเชื่อมระหว่างโทลล์เวย์กับทางด่วนศรีรัช และจุดเชื่อมต่ออื่น ๆ เช่น ทางด่วนฉลองรัชกับเกษตร-นวมินทร์ เพื่อแก้รถคอขวดและรถติดในเมือง อีกทั้งให้เร่งระดมทุนจากกองทุน TFF มาก่อสร้างทางด่วนสายพระราม 3-วงแหวนรอบนอกตะวันตก และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ให้เป็นไปตามแผน พร้อมกับเร่งรัดศึกษาสร้างทางด่วนเชื่อมท่าเรือกรุงเทพและมอเตอร์เวย์ เสริมศักยภาพการขนส่งของพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)