โหมขยายสนามบินบูมเมืองรอง ทอท.อัพเกรด “อุดร” โฉบลงทุน “อู่ตะเภา”

หลังไลฟ์สไตล์การเดินทางของคนไปยังภูมิภาค ที่นิยมชมชอบใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์กันมากขึ้น ทำให้ “ทย.-กรมท่าอากาศยาน” ไม่นิ่งนอนใจทำแผนแม่บทพัฒนาสนามบิน 29 แห่งที่อยู่ในความดูแล ในภาคเหนือ 10 แห่ง ภาคใต้ 10 แห่ง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 แห่ง ให้ทันสมัยและตอบโจทย์การเดินทางที่ต่อไปจะต้องมีระบบฟีดเดอร์จากสนามบินเชื่อมโยงการเดินทางทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ ท่าเรือ สถานีขนส่งผู้โดยสาร

เหนือสิ่งอื่นใดก็เพื่อเสริมแกร่งการท่องเที่ยว 55 เมืองรองตามนโยบายของรัฐบาล คสช.ที่กำลังโหมโปรโมต หวังกระตุ้นการท่องเที่ยวของไทยให้คึกคักสร้างรายได้เท่าเทียมกันทั้งประเทศ

“ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรมท่าอากาศยานมีแผน 20 ปี (2561-2580) เพิ่มขีดความสามารถผู้โดยสาร 29 สนามบิน (รวมเบตง) อยู่ภายใต้การดูแล คาดว่าปี 2580 อยู่ที่ 50 ล้านคน/ปี และเที่ยวบิน 55,000 เที่ยวบิน/วัน เพิ่มจากปี 2561 อยู่ที่ 19.5 ล้านคน และเที่ยวบิน 21,480 เที่ยวบิน/วัน

10 ปีลงทุน 3.4 หมื่นล้าน

แบ่งดำเนินงาน 2 ช่วง ในช่วง 10 ปีแรก (2561-2570) วงเงิน 34,507 ล้านบาท และช่วง 10 ปีหลัง (2571-2580) อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเพื่อพัฒนาพื้นที่ต่อไป โดย 10 ปีแรกแบ่งพัฒนา 2 ระยะ ระยะที่ 1 (2561-2565) วงเงิน 27,248 ล้านบาท ปรับปรุง 17 สนามบิน ได้เแก่ 1.ภาคเหนือ 2,529 ล้านบาท ที่ลำปาง, แพร่, แม่สอด จ.ตาก 2.ภาคอีสาน 4,692 ล้านบาท ที่เลย, สกลนคร, อุดรธานี, อุบลราชธานี, ร้อยเอ็ด, ขอนแก่น, บุรีรัมย์ และ 3.ภาคใต้ 20,027 ล้านบาท ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, กระบี่, ตรัง, นราธิวาส และเบตง จ.ยะลา และระยะที่ 2 (2566-2570) วงเงิน 7,259 ล้านบาท ปรับปรุง 8 สนามบิน ได้แก่ 1.ภาคเหนือ 732 ล้านบาท ที่ปาย และแพร่ 2.ภาคอีสาน 5,158 ล้านบาท ที่สกลนคร, เลย, อุดรธานี, อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด และ 3.ภาคใต้ 1,369 ล้านบาท ที่สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

ดึงเอกชนร่วม PPP

“เพื่อประหยัดงบประมาณรัฐ จะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนรูปแบบ PPP กรมท่าอากาศยานกำลังคัดเลือก 3-4 สนามบิน มีเพชรบูรณ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และหัวหิน เตรียมจะเสนอ

ให้กระทรวงคมนาคมอนุมัติโครงการ” นายไพรินทร์กล่าวและว่า เมื่อแผนพัฒนาแล้วเสร็จจะเสริมยุทธศาสตร์แต่ละภูมิภาคอย่าง “ภาคเหนือ” สนามบินแม่ฮ่องสอน ปาย ลำปาง แพร่ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และประเทศในกลุ่ม CLMV

ขณะที่ “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” สนามบินอุดรธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น นครราชสีมา นครพนม จะเป็นประตูเชื่อมโยงการค้าสู่ CLMV ส่วนเลย สกลนคร ร้อยเอ็ด จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ขณะที่บุรีรัมย์จะรองรับการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ทาง “ภาคใต้” สนามบินหัวหิน ชุมพร ระนอง จะส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยแลนด์ริเวียร่า เชื่อมการค้าสู่ประเทศ BIMSTEC ส่วนสนามบินกระบี่ ตรัง จะเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทะเลฝั่งอันดามัน ส่วนฝั่งอ่าวไทยจะมีสนามบินสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เชื่อมโยงการท่องเที่ยว ขณะที่สนามบินปัตตานี นราธิวาส และเบตง เป็นการพัฒนาสนามบินเพื่อความมั่นคงของประเทศ

ทอท.เร่งรีโนเวต 4 สนามบินรัฐ

ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กล่าวว่า ต้นเดือน พ.ย.นี้จะขออนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับปรุง 4 สนามบิน วงเงิน 3,500 ล้านบาท ที่รับมอบจากกรมท่าอากาศยาน ได้แก่ สนามบินอุดรธานี ชุมพร ตาก และสกลนคร หลังมีข้อยุติด้านข้อกฎหมายและกรมธนารักษ์เรื่องดำเนินการโอนย้ายแล้ว คาดว่าจะเข้าบริหารทั้ง 4 สนามบินได้ในไตรมาส 3 ปี 2562

“การปรับปรุงแบ่ง 2 ระยะ ระยะแรกใช้เงิน 1,500 ล้านบาท ระยะที่ 2 ประมาณ 2,000 ล้านบาท หลัก ๆ จะนำไปปรัปปรุงสนามบินอุดรธานี 1,200 ล้านบาท ให้ได้มาตรฐาน ICAO เพื่อเพิ่มเที่ยวบินและเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างประเทศจากยุโรปมายังอุดรธานีที่มีชาวต่างชาติเดินทางมา 3.5 แสนคนต่อปี จากทั้งหมด 5 แสนคนต่อปี เพราะเป็นจังหวัดที่มีเขยฝรั่งอยู่มาก ตั้งเป้าจะเริ่มเปิดตารางบินฤดูหนาวปี 2563 หรือในเดือน ต.ค. 2562”

สนลงทุนอู่ตะเภา

นอกจากนี้ ทอท.ยังสนใจจะร่วมประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา บนพื้นที่ 6,500 ไร่ มูลค่าการลงทุน 2 แสนล้านบาท ขณะนี้รอดูรายละเอียดทีโออาร์ที่จะประกาศเชิญชวนในเดือน ต.ค.นี้ เช่น ธุรกิจที่จะเปิดประมูลจะเป็นทั้งแพ็กเกจหรือแยกเป็นรายโครงการ รวมถึงรูปแบบการร่วมทุน

การที่ ทอท.สนใจจะลงทุนเนื่องจากมีประสบการณ์บริหารสนามบินหลักทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมือง ที่มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี และยังมีสนามบินภูมิภาคอีก 4 แห่ง ที่ภูเก็ต เชียงใหม่ แม่ฟ้าหลวง หาดใหญ่ ที่ผ่านมา ทอท.ได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ไว้รองรับเพื่อดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจคลังสินค้า มีการตั้งบริษัท ขนส่งสินค้าอากาศยาน (คาร์โก้) ซึ่งปัจจุบันขึ้นเป็นอันดับที่ 15 ของโลกแล้ว

“ทอท.มีฐานะการเงินที่พร้อมจะลงทุน ซึ่งการเปิดสนามบินอู่ตะเภาอย่างเต็มรูปแบบ จะไม่กระทบต่อการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิที่เหลืออีก 3 เฟส เพราะยังมีสายการบินที่มีความต้องการมาใช้บริการ และอู่ตะเภาถือว่าเป็นกิ่งสาขาหนึ่ง ตามหลักการเป็นการเกื้อหนุนกันมากกว่า และการลงทุนครั้งนี้จะทำให้ประเทศ win-win มากกว่า” นายนิตินัยกล่าวทิ้งท้าย