“มังกรคีรี” เจ้าพ่อบีทีเอส จัดทัพทีมไทยแลนด์สู้ศึกไฮสปีดอีอีซี

หลังใช้เวลาร่วม 20 ปี สร้างอาณาจักรรถไฟฟ้าบีทีเอสจนปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 1 แสนล้านบาท

ล่าสุด “คีรี กาญจนพาสน์” บิ๊กบอส บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กำลังขยายฐานสู่สนามประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท เมกะโปรเจ็กต์ไฮไลต์รัฐบาล คสช. จะยื่นประมูลวันที่ 12 พ.ย.นี้

แม้เป็นงานใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง แต่ถึงนาทีนี้ “คีรี” ลั่นพร้อมจะลงสนามแข่ง หลังทุ่มเม็ดเงินกว่า 135 ล้านบาท ศึกษาความเป็นไปได้โครงการ

“ทิศทางการลงทุนโครงการระบบรางของบีทีเอส ผมขอใช้คำว่าเป็นหน้าที่ เรามีความเชื่อมั่น จะลงทุนรถไฟความเร็วสูงที่ใช้เงินลงทุนไม่ใช่น้อย ๆ ถ้าไม่พร้อมจริง ๆ ก็ไม่อยากจะเสียเวลาหรอกครับ เพราะการเตรียมตัวตั้งแต่เริ่มจนถึงวันประมูลใช้เงินร่วม 135 ล้านบาททั้งค่าที่ปรึกษาและทีมงาน” บิ๊กบีทีเอสเปิดใจ

“เป็นโครงการที่ไม่ง่าย แต่ยังเชื่อมั่นเพราะอยู่ธุรกิจนี้มานาน รู้ว่าจะหารายได้และเซฟต้นทุนยังไง ก็…ยังไหวอยู่ เราไม่ได้ฉลาดกว่าใคร แต่มีความตั้งใจจริง ถ้าตัวเลขออกมาแล้วไม่ได้ ก็ไม่ทำ แต่ถ้ามีคนทำแล้ว เราก็โอเค”

ถามว่ามั่นใจแค่ไหน “คีรี” ย้ำว่า ตอนนี้กลุ่ม BSR ประกอบด้วยบีทีเอส ซิโน-ไทยฯ และราชบุรีโฮลดิ้ง ไม่ต้องร่วมกับใครก็ประมูลได้ บีทีเอสมีประสบการณ์ธุรกิจรถไฟฟ้ามา 20 ปี แค่โครงการนี้เดินรถด้วยสปีดที่เร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งเรารู้ว่าจะไปหาใครมาร่วม ประมาณปลายเดือน ต.ค.นี้จะชัดเจน

“การร่วมกับพันธมิตรต่างชาติจะต้องเป็นผู้ซื้อทีโออาร์เท่านั้นถึงจะร่วมทุนกันได้ ทั้ง 17 รายที่ซื้อทีโออาร์ ส่วนใหญ่ไปจับมือกับรายอื่นหมดแล้ว ของเราอาจจะเป็นบริษัทคนไทยร่วมกันเป็นกลุ่มไทยแลนด์ รวมพลังกันยื่นประมูล คาดว่าจะมีคู่แข่ง 2-3 กลุ่ม ตอนนี้ยังไม่ได้ยินว่าใครจะลงทุน นอกจาก ซี.พี.จะรวมกันหลายบริษัท ส่วน ปตท.อาจจะมาร่วมภายหลัง เพราะเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจมีรัฐถือหุ้น ต้องระมัดระวังการเข้าร่วมทุนกับรายใดรายหนึ่ง ซึ่งเราก็ไม่ติดใจ”

ส่วนการพัฒนาที่ดินบีทีเอสกรุ๊ปก็ดำเนินการอยู่แล้ว โดย บมจ.ยูซิตี้ และร่วมกับ บมจ.แสนสิริ การก่อสร้างมีซิโน-ไทยฯ ดังนั้นเราพร้อมที่สุด ส่วนเงินทุนถ้าไม่มี ผมคงไม่เข้าร่วมประมูล ตอนนี้มี 5 แบงก์พร้อมจะออกหนังสือแสดงเจตจำนงจะปล่อยกู้โครงการ 120,000 ล้านบาท เช่น กรุงเทพ

“ตอนนี้ไม่อยากจะพูดเยอะ เป็นเรื่องของธุรกิจและเซนซิทีฟมาก เป็นงานประมูลขนาดใหญ่ ถ้าพูดแบบจริงจัง โครงการนี้ทำไม่ง่าย ภาษาชาวบ้านเรียกว่าไม่หมู แต่เราอยู่ในธุรกิจเมื่อมีโครงการออกมาก็ต้องเข้าไปดู เพราะเป็นธุรกิจหลัก และอาชีพของเรา แต่ต้องดูอย่างจริงจัง ไม่ใช่ว่าดูเพื่อหาเสียง”

ถึงจะยาก แต่ “คีรี” ประเมินว่าจะเป็นโครงการที่ดีในอนาคต เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งโครงการโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นโครงการแรก ๆ ที่ต้องลงทุน ซึ่งบีทีเอสก็พิจารณาโครงการอย่างซีเรียส เพราะลงทุนสูงกว่า 2 แสนล้านบาท แต่คงจะมีอะไรที่เข้ามาเสริมทำให้โครงการเป็นไปได้

ทั้งนี้ยังมีบางเรื่องยังไม่เคลียร์ เช่น จ่ายค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชา จะพัฒนาเป็น TOD (พื้นที่รอบสถานี) ตามทีโออาร์ให้เฉลี่ยจ่ายรายปีตลอด 50 ปี

แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างควรจะให้ผู้ลงทุนจ่ายก้อนเดียวได้หรือไม่ ปกติผมเช่าที่กรมธนารักษ์ หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนใหญ่จะจ่ายก้อนใหญ่ก่อน ส่วนก้อนเล็กก็ผ่อนจ่าย 30 ปี การแบ่งจ่ายกับแบบก้อนเดียวไม่ใช่ว่าแบบไหนดีกว่ากัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบการพัฒนา เช่น ถ้าพัฒนาโรงแรม การแบ่งจ่ายรายปีก็ถือว่าดี แต่ถ้าเป็นคอนโดมิเนียมเพื่อขาย ในทางบัญชีอาจจะไม่ดี จะเป็นหนี้ยาว และมีภาระดอกเบี้ย

“ส่วนรูปแบบการพัฒนาทั้งมักกะสันและศรีราชาคงเปิดเผยไม่ได้ เป็นเรื่องการแข่งขัน หนีไม่พ้นเป็นมิกซ์ยูส มีคอนโดมิเนียม สำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม ขณะที่การพัฒนาที่ดินแปลงอื่นมาต่อยอดโครงการน่าจะเสนอเป็นข้อเสนอพิเศษ หรือซองที่ 4 เหมือนกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง”

ถามว่าหากเป็นผู้ชนะประมูล จะบริหารแอร์พอร์ตลิงก์แบบไหน “คีรี” อธิบายว่า จะดำเนินการเหมือนรถไฟฟ้าบีทีเอส จะเพิ่มรถก็ต้องเพิ่ม หรืออะไรบางอย่างที่ต้องเพิ่มเพื่อความสะดวกของผู้โดยสารก็ต้องทำ และเป็นสิ่งต้องทำทันที ไม่ใช่ว่าผู้บริหารโครงการเดิมทำไว้ไม่ดี แต่อาจจะมีเหตุผลบางอย่างที่ติดขัด เพราะต้องดำเนินการภายใต้ระบบของราชการ

ไม่ใช่รถไฟความเร็วสูงที่ “คีรี” กำลังจะรุกคืบ ยังสนใจจะเดินรถสายสีส้ม ลงทุนรถไฟฟ้าภูเก็ตและเชียงใหม่

“เรายกมือไว้ก่อนว่าจะทำ อะไรที่เกี่ยวกับการสร้างระบบรางของประเทศไทย ด้วยศักยภาพเราเข้าร่วมประมูลแน่ ขอให้ทีโออาร์ออกมา ตอนนี้มีความรู้สึกว่าคนอยากทำธุรกิจรถไฟฟ้าเยอะ ที่ต่างประเทศเขารวมตัวกันทำ ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งทำ ผมไม่ได้พูดประชดใคร แค่จะบอกว่ามีคนที่อยู่ในวงการ และเป็นมืออาชีพที่พร้อมจะทำ”

พร้อมกล่าวอย่างมั่นใจว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ๆ จะได้รับการผลักดัน เพราะเป็นการลงทุนที่สำคัญของประเทศให้เจริญก้าวหน้า ซึ่งบีทีเอสพร้อมจะลงประมูลทุกโครงการ เพื่อนำบีทีเอสไปสู่การเติบโตที่ใน 5 ปีจากนี้ จะมีรายได้และกำไรเติบโตปีละ 25% โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจรถไฟฟ้า 65% และธุรกิจของวีจีไอ 35%