“สมคิด” อนุมัติต่อขยายสายสีเหลือง-ชมพู ลุยสร้างรถไฟฟ้าภูธร เดินหน้าทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

นายชัยวัตน์​ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม​ เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการจัดการระบบจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 2/2561 มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ ส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม. และส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงแยกรัชดาลาดพร้าว – แยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม.บรรจุลงในแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP 2)

@ ชงต่อขยายสายสีชมพู-เหลืองเข้า ครม.

โดยมีกลุ่มกิจการร่วมค้ากลุ่มบริษัท BSR เป็นผู้ลงทุน และให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เจรจาในรายละเอียดต่อไป เมื่อ คจร.เห็นชอบแล้ว ก็จะเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป

สำหรับเส้นทางส่วนต่อขยายสายสีชมพู จะเริ่มจากเริ่มต้นจาก ถ.แจ้งวัฒนะ บริเวณสถานีศรีรัชของสายหลัก ไปทางทิศตะวันตก เลี้ยวขวาเข้าสู่เมืองทองธานีไปตามซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 แนวทางเดียวกันกับทางพิเศษอุดรรัถยา ต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี ประกอบด้วยสถานีรับส่งผู้โดยสาร 2 สถานี ได้แก่ สถานี MT-01 ตั้งอยู่บริเวณอิมแพ็คชาเลนเจอร์ (Impact Challenger) และสถานี MT-02 ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของทะเลสาบเมืองทองธานี

ส่วนสายสีเหลือง แนวเส้นทางเริ่มจากจากบริเวณแยกรัชดา – ลาดพร้าว ไปตามแนว ถ.รัชดาภิเษก จนถึงบริเวณแยกรัชโยธิน เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – คูคต มีสถานี YLEX-01 อยู่บริเวณหน้าอาคารจอดรถของสำนักงานศาลยุติธรรม และสถานี YLEX-02 ตั้งอยู่เหนือทางเท้าบริเวณสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน และมีทางเดินเชื่อมยกระดับ (Skywalk) ไปยังสถานีพหลโยธิน 24 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

@ เคาะโอนหนี้สายสีเขียวกลาง พ.ย.นี้

ขณะที่การรับโอนหนี้สินและทรัพย์สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงิน 111,175.20 ล้านบาท ระหว่าง กทม. และ รฟม. ที่ประชุม คจร. มีมติรับทราบผลสรุปแล้ว ขั้นตอนต่อไป กทม. รฟม. กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง

โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะร่วมกันร่าง MOU การรับโอนหนี้สินและทรัพย์สิน จะเสนอที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่าง MOU ประมาณกลางเดือน พ.ย. และ กทม.กับ รฟม.จะลงนามกันในวันที่ 1 ธ.ค.ก่อนที่รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ จะเปิดให้บริการในวันที่ 5 ธ.ค. ส่วนเรื่องค่าโดยสาร กทม. กับ รฟม.ต้องไปคุยกัน

ส่วนการทำรายละเอียดการรับโอนหนี้สินทรัพย์สิน กทม. และ รฟม.จะจัดทำในช่วงเดือน ธ.ค. 2561 – ม.ค.2562 เพราะยังมีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ตัวเลขยังไม่นิ่ง เช่น ดอกเบี้ยที่ต้องชำระ, ค่าอุทธรณ์การเวนคืนที่ดิน เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีการรับโอนหนี้สินทรัพย์สินจริงเกิดขึ้นในช่วงเดือน มี.ค. 2562

ด้านโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ขณะนี้ผลการศึกษายังไม่เสร็จ แต่คาดว่าจะเสร็จในเดือน พ.ย.นี้ ตอนนี้เสนอรูปแบบของโครงการทั้ง 3 แบบให้ ม.เกษตรศาสตร์พิจารณาอยู่

@ จัดรถเมล์-เรือแก้รถติด กทม.

ส่วนการแก้ไขปัญหาจราจรใน กทม.จากการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย (ชมพู เหลือง ส้มตะวันออก) ที่ประชุมรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาใน 2 เรื่อง คือ 1.การบริหารจัดการจราจร มีกองบังคับการตำรวจ จราจร (บก.จร.) กำกับดูแลร่วมกับสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ที่เกี่ยวข้อง ขอความร่วมมือโครงการรถไฟฟ้าที่มีการก่อสร้างแล้วเสร็จจะต้องเร่งคืนพื้นที่จราจร และจะขอความร่วมมือให้แต่ละโครงการดำเนินการก่อสร้างในเวลากลางคืนมากขึ้น

2.การจัดระบบขนส่งสาธารณะ จะมีมาตรการเพิ่มรถ Shutter Bus ในช่วงเร่งด่วนมากขึ้น โดย ขสมก. ปรับเส้นทางรถเมล์ในเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าดังนี้ 1.สายสีส้ม สาย 168 สวนสยาม-อนุสาวรีย์ชัยฯ จะปรับให้เข้าถ.มอเตอร์เวย์ หมายเลข 9 และ 7 เชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช เพื่อเข้าอนุสาวรีชัยฯ และ 2.สายสีเหลือง สาย 145 สมุทรปราการ – หมอชิต 2 จะปรับให้ขึ้นทางด่วนบริเวณ ถ.ลาดพร้าว 84 ใช้ทางพิเศษฉลองรัชและศรีรัช เข้าสู่แยกพัฒนาการ ถ.ศรีนครินทร์

รวมทั้งจะมีการเพิ่มเรือโดยสารพิเศษ (Express Boat) ในช่วงเร่งด่วนตอนเช้าในคลองแสนแสบ จะปรับให้จอดเพียง 6 ท่าสำคัญที่เชื่อมกับรถไฟฟ้า ไม่ให้จอดทั้ง 28 ท่า ส่วน กทม.ได้เสนอเส้นทางเดินเรือจากท่าวัดศรีบุญเรือง – มีนบุรี เพื่อทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น

@ อนุมัติรถไฟฟ้าภูมิภาค

ขณะที่โครงการระบบขนส่งสาธารณะในภูมิภาค ที่ประชุมเห็นชอบแผนแม่บททั้ง 3 เส้นทางของ จ.ขอนแก่นแล้ว และให้ทาง จ.ขอนแก่นเป็นผู้พัฒนาและบริหารจัดการในโครงการนำร่องสายสีแดงช่วงสำราญ – ท่าพระ ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร ส่วนพิษณุโลก ได้รายงานในที่ประชุมว่า ผลการศึกษาดำเนินการเสร็จแล้ว และมอบ รฟม.ไปดำเนินการตามขั้นตอน โดยต้องศึกษารายละเอียดเส้นทางรถรางล้อยาง (Auto Tram) สายสีแดง ช่วงสถานีขนส่งแห่งที่ 2 – เซ็นทรัลพิษณุโลก ระยะทาง 12 กม.

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการศึกษาโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่ครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ในส่วนของกทม. ทางกทม.ได้ศึกษาเสร็จแล้ว รวมระยะทางประมาณ 57 กม. ส่วนอีก 3 จังหวัดที่สนข.ศึกษา มีระยะทางรวมประมาณ 70 กม. โดยให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย ไปร่วมกันทำแผน

ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมเสนอการพัฒนาโครงการนำร่อง คือโครงการ P5 นำร่องพื้นที่ท่าน้ำนนทบุรีช่วงสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ (สะพานนนทบุรี 1) ถึงสะพานพระราม 5 ระยะทางฝั่งละ 4.9 กม. วงเงิน 5,129 ล้านบาท โดยจะมีการหารือกับกระทรวงมหาดไทยและจ.นนทบุรีต่อไป หากก่อสร้างจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีจึงแล้วเสร็จ ส่วนการดำเนินการในระยะที่เหลือ ต้องรอให้โครงการนำร่องแล้วเสร็จ เพื่อดูว่าประชาชนมีเสียงตอบรับกับโครงการนี้อย่างไรก่อน จึงจะดำเนินการต่อ