องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน-ทีดีอาร์ไอ เปิดเวทีถกพิมพ์เขียวสุวรรณภูมิ”บิ๊กทอท.”เบี้ยวไม่มา นักวิชาการแนะขยับทำเลสร้างเทอร์มินอล2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2561 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงานเสนาหัวข้อ “สุวรรณภูมิ สนามบิน 1 ใน 3 ของโลก…ฝันหรือเป็นได้จริง?” โดยนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ยกเลิกที่จะเข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ จากเดิมมีโปรแกรมจะขึ้นพูดบนเวทีเสวนาด้วย

@ สนามบินสุวรรณภูมิหน้าตาของประเทศ

นายวิเชียร พงศธร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากกรณีที่โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ มีมูลค่าลงทุน 4.2 หมื่นล้านบาท ของบมจ.ท่าอากาศยานไทย(ทอท.) ได้รับความสนใจจากประชาชนหลายสาขาอาชีพ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง พร้อมเกิดข้อกังวล สงสัยต่างๆ และมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ในขณะนี้นั้น ทั้งประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่าลอกเลียนแบบ และเป็นโครงการที่อยู่นอกแผนแม่บทเดิม (มาสเตอร์แพลน)

ทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิเปรียบเสมือนประตูแรกที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว นักธุรกิจและนักเดินทางจากทั่วโลก นับว่าเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่นำรายได้เข้าประเทศมหาศาล จึงมีความจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่น การลงุทนพัฒนาต้องทำได้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ตอบโจทย์ผู้โดยสาร
​​​​​​​​​​
ดังนั้น ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะองค์กรภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนพลังสังคม เพื่อต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย จึงร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดการเสวนานี้ขึ้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หาแนวทางออกที่สร้างสรรค์ เพื่อนำไปพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ให้กลายเป็นสนามบินชั้นนำของโลกต่อไป

“การเสวนาทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ และหน่วยงานที่ร่วมจัดไม่ได้ต้องการให้เป็นเวทีที่มาต่อว่ากันว่าใครผิดหรือถูก เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ถือเป็นเรื่องปกติ สิ่งสำคัญที่อยากเห็น คือ ทุกฝ่ายรวมทั้งผู้ที่เข้าร่วมฟังเสวนา เปิดใจกว้างในการรับฟังข้อคิดเห็นที่แตกต่าง ช่วยกันเสนอแนะ และร่วมแสวงหาแนวทางออกอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้สนามบินสุวรรณภูมิ ได้กลายเป็นสนามบินชั้นนำของโลกได้จริง ไม่ใช่ฝันที่เกินจริงอีกต่อไป”

@ เทรนด์การใช้สนามบินเปลี่ยน

นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นับเป็นความท้าทายอย่างมากที่จะทำให้สนามบินสุวรณภูมิเป็น 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งปัจจุบันสุวรรณภูมิถูกจัดอันดับอยู่ที่ 36 ของโลก ซึ่งท่าอากาศยานนั้นเป็นหน้าตาและเอกลักษณ์ของประเทศ จะต้องมองในหลายมิติ ไม่ใช่เรื่องการขึ้น-ลงของเครื่องบินอย่างเดียว ต้องปรับเปลี่ยนมายเซตท่าอากาศยานอย่างมืออาชีพ

เนื่องจากปัจจุบันการใช้สนามบินทั่วโลกเปลี่ยนไป เช่น ผู้โดยสารสามารถเช็กอินเองได้โดยเครื่องอัตโนมัติ ไม่ต้องรอคิวตรวจคนเข้าเมือง มีบริการอินเตอร์เน็ตฟรี มีโรบอร์ตช่วยให้คำแนะนำ ซึ่งหากสุวรรณภูมิมีการบริการจัดการระบบต่างๆ ให้ดีๆ จะเป็นสนามบินที่ไม่แพ้ที่อื่นในโลก

อย่างไรก็ตามยอมรับว่าสิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวอยากสัมผัส คือ การช้อปปิ้ง แต่การกำหนดพื้นที่ดิวตี้ฟรีก็ต้องให้เหมาะสมกับจำนวนร้านค้า จะต้องไม่เบียดพื้นที่สำหรับผู้โดยสารที่จะต้องนั่งรอขึ้นเครื่อง จะต้องเอาผู้โดยสารเป็นตัวตั้ง

@ สภาสถาปนิกกระเทาะปัญหา

พล.อ.ต.ม.ล.ประกิตติ เกษมสันต์ เลขาธิการสภาสถาปนิก กล่าวว่า การที่ ทอท.จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในทำเลที่นอกเหนือจากแผนแม่บทเดิมนั้น มองว่า ทอท.ควรจะมุ่งภารกิจด้านการบินเป็นหลักไม่ใช่เรื่องการพาณิชย์ และการนำแบบอาคารที่ใช้เงินลงทุน 4.2 หมื่นล้านบาทไปก่อสร้างจริง จะทำให้เกิดความเสียหายของเชิงคุณภาพคิดเป็นมูลค่า 1,200 ล้านบาท

อีกทั้งมองว่าจะมีปัญหาที่ตามมา คือ 1.ผลลัพธ์ที่จะไม่สอดรับกับยุทธศาสตร์ ที่ต้องการจะเป็น 1 ใน 3 ของโลก แต่ตอนนี้เราเป็นที่ 2 ของอำเภอ จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น 2.จำนวนผู้โดยสาร

3.ปัญหาการจราจร เพราะทางเข้าเท่าเดิม เพิ่มเติมคืออาคารผู้โดยสารหลังใหม่ และให้ผู้ออกแบบเป็นผู้ออกแบบการจราจรจะทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาความแออัดได้

4.การให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าของโครงการ เช่น ผู้ถือหุ้น 5.ค่าออกแบบที่ต่ำเกินไปไม่ถึง 1% อาจจะเกิดปัญหาตามมาในอนาคต เช่น เรื่องการก่อสร้าง และแผนแม่บทที่ ทอท.ทำเองตั้งเป้าจะรองรับผู้โดยสาร 150 ล้านคนต่อปี จะต้องมีอะไรมารองรับด้วย และปัจจุบันสนามบินที่รับผู้โดยสารได้สูงสุดอยู่ที่ 103 ล้านคนต่อปีเท่านั้น

@ ทีดีอาร์ไอแนะอย่าผูกขาดธุรกิจดิวตี้ฟรี

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า สนามบินจะต้องเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขัน และไม่ผูกขาด เช่น พื้นที่ดิวตี้ฟรี ไม่ใช่ให้สัมปทานแค่รายเดียว จะต้องมีหลายสัมปทาน อย่างที่ต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นโตเกียวมีถึง 6 ราย จะทำให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น ซึ่งทั่วโลกอยู่ที่ 40% ขณะที่สุวรรณภูมิอยู่ที่ 17%

“ทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐที่มีผลประกอบการดี ปีที่แล้วมีกำไร 31,400 ล้านบาท มีโบนัส 7.5 เดือน ซึ่งเป็นผลมาจากการท่องเที่ยวของประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง ดังนั้นจะต้องมีการบริหารสนามบินสุวรรณภูมิให้มีการบริการที่ดีและมีคุณภาพ ไม่ใช่บริหารแบบง่ายๆ ”

ดร.เดือนเด่นกล่าวอีกว่า ทั้งนี้สนามบินสุวรรณภูมิมีอะไรที่จะต้องปรับปรุงอีกมาก ทั้งด้านการบริการและเชิงคุณภาพ ซึ่งกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น จะต้องปรับระบบโบนัสกรรมการ พนักงานให้สอดรับกับเป้าหมายการดำเนินการโดยมีผู้เป็นมืออาชีพเป็นผู้ประเมิน และสำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลจะต้องกำหนดมาตรฐาน ออกหลักเกณฑ์ในการกำหนดอัตราค่าบริการ ค่าธรรมเนียม ตามคุณภาพของการบริการ ถ้าทำไม่ได้ก็เป็นความฝันจะเป็น 1 ใน 3 ของระดับโลก

@ ทอท.ต้องเปิดเผยข้อมูล

ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ผู้แทนโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) กล่าวว่า สุวรรณภูมิเป็นสนามบินติด 1 ใน 10 ของระดับโลกได้ก็ถือว่าเป็นบุญแล้ว ถ้ายังบริหารจัดการแบบนี้อยู่

ที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเป็น 1 ในโครงการที่รัฐบาลให้มีการใช้ระบบ coST จากประเทศอังกฤษเข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการ แต่ที่ผ่านมา ทอท.ไม่เคยให้ความร่วมมือที่จะเปิดเผยข้อมูลโครงการเท่าไหร่ รวมถึงโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่ ทอท.ไม่เปิดเผยรายละเอียด โดยอ้างว่ายังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี จริงๆ แค่คิดว่าจะพัฒนาโครงการก็ต้องส่งข้อมูลให้พิจารณาแล้ว

@ นักวิชาการแนะปรับตำแหน่งใหม่

ด้าน ดร.นวทัศน์ ก้องสมุทร ประธานคณะกรรมการดำเนินงานศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านการขนส่งอากาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่ ทอท.จะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 บริเวณนั้น เพราะทำให้เกิดความแออัด ไม่บาลานซ์ของการใช้พื้นที่ มีหลุมจอด 14 หลุม และต้องเสียพื้นที่รีโมทปาร์คกิ้งไปอีก

อย่างไรก็ตาม ทางคณะได้ศึกษาจัดทำแผนแม่บทสนามบินทั้งประเทศให้กับ กพท.ที่จะพัฒนา 20 ปี รองรับผู้โดยสาร 320 ล้านคนต่อไป ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะสำหรับสนามบินสุวรรณภูมิรวมอยู่ในนั้นด้วย โดยมองว่า ทอท.ควรจะขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังเดิมด้านตะวันออกและตะวันตก จะรับได้ 30 ล้านคนต่อปี เพราะใช้เงินลงทุนน้อยประมาณ 1-2 หมื่นล้าน สามารถดำเนินการได้ทันทีและรองรับผู้โดยสารได้อีก 5-10 ปี

และทบทวนการสร้างรันเวย์ที่ 4 เป็นรันเวย์ระยะไกล แยกสร้างเป็นรันเวย์อิสระ โดยขยับไปจากแผนเดิมประมาณ 1 กม. และสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ที่ขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่มากรับผู้โดยสารได้ไม่เกิน 10- 15 ล้านคนต่อปีทางด้านทิศเหนืออยู่ระหว่างกึ่งกลางรันเวย์ 2 และ 4

“เห็นด้วยที่จะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทิศเหนือ เพราะจะเป็นผลดีต่อการขึ้นลงของเครื่องบิน แต่ควรจะขยับตำแหน่งใหม่ ส่วนอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ที่จะสร้างทางด้านใต้ ถ้าสร้างหลังที่ 2 แล้วก็ไม่ควรจะสร้าง”

อย่างไรก็ตามเห็นตรงกันเรื่องปริมาณผู้โดยสารที่ ทอท.ระบุว่าหากพัฒนาตามแผนแม่บทที่จัดทำขึ้นจะรับได้ 150 ล้านคนต่อปี เนื่องการอุตสาหกรรมการบินมีการเติบโตสูงมาก