“แอร์พอร์ต เรล ลิงก์” เผยโฉมราวกั้นสแตนเลสบนชั้นชานชาลาเทียบชั้นมาตรฐานญี่ปุ่น

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่าจากรณีที่มีสื่อโซเชี่ยลเผยแพร่ภาพการติดตั้งราวกั้นสแตนเลสบนชั้นชานชาลาของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ กระทั่งกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากประชาชน และผู้โดยสารที่ใช้บริการจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายนั้น บริษัทขอชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงานดังกล่าวเพื่อความชัดเจน และความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้

ก่อนหน้านี้ รฟฟท.มีแผนจะดำเนินการติดตั้งระบบประตูกั้นชานชาลาแบบสูงครึ่งบาน (Platform Screen Door : PSD) ใน 7 สถานี งบประมาณ 200 ล้านบาท (ยกเว้นสถานีสุวรรณภูมิ) โดยทำการประมูลติดตั้งประตูกั้นชานชาลา แต่ต้องยกเลิกเนื่องจากมีผู้ผ่านประมูลรายเดียว ประกอบกับมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งจะได้ผู้ชนะการประมูลภายในสิ้นปี และรูปแบบสถานีของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์จะต้องเปลี่ยนไปรองรับโครงการดังกล่าว ซึ่งมีขนาดความกว้างของตัวรถไฟฟ้ามากกว่า ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารในช่วงระหว่างเปลี่ยนผ่านสู่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดิน บริษัทจึงปรับรูปแบบการดำเนินงานเป็นการติดตั้งราวกั้นชานชาลา หรือราวกั้นแบบราวสแตนเลส คล้ายรถไฟชินคันเซ็นของประเทศญี่ปุ่น และสถานีรถไฟฟ้าอื่นๆ ในต่างประเทศ

โดยบริษัทผู้ชนะการประกวดราคาจะต้องดำเนินงานติดตั้งราวกั้นชานชาลา หรือราวกั้นแบบราวสแตนเลส ดังนี้

– งานเตรียมการ ป้องกัน และงานวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ

– งานผลิตแผงกั้นราวสแตนเลสกันตกความสูงจากพื้นชั้นชานชาลา 1.2 เมตร ใช้วัสดุท่อกลมสแตนเลส
คุณภาพไม่ต่ำกว่า Grade 304 หรือดีกว่า มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 1 – 2 นิ้ว ความหนาตั้งแต่ 1.5 – 3 มิลลิเมตร ความยาวทั้งสิ้น 2,296 เมตร (2.296 กิโลเมตร) แบ่งเป็น

: สถานีพญาไท 328 เมตร
: สถานีราชปรารภ 328 เมตร
: สถานีมักกะสัน 328 เมตร
: สถานีรามคำแหง 328 เมตร
: สถานีหัวหมาก 328 เมตร
: สถานีบ้านทับช้าง 328 เมตร
: สถานีลาดกระบัง 328 เมตร

– งานขนส่งอุปกรณ์ชิ้นงาน

– งานติดตั้งป้ายสแตนเลส ป้ายตราสัญลักษณ์ SRTET ใช้วัสดุแผ่นสแตนเลส Grade 304 ขนาด 65 X 16
เซนติเมตร หนา 3 มิลลิเมตร 720 ชิ้น

– งานติดตั้งป้ายสแตนเลส ป้ายเตือนความปลอดภัย ใช้วัสดุแผ่นสแตนเลส Grade 304 ขนาด 65 X 16
เซนติเมตร หนา 3 มิลลิเมตร 560 ชิ้น

ทั้งนี้บริษัทผู้ชนะประกวดราคา จะเข้าดำเนินงานได้ในเวลาที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ปิดให้บริการแล้วเท่านั้น คือ 01.00 – 04.00 น.

ในด้านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในการดำเนินงานดังกล่าว รฟฟท.ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด และดำเนิการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) ดังนี้

– วันที่ 15 มีนาคม 2561 จัดทำแผนจัดซื้อจัดจ้าง และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (www.gprocurement.go.th), เว็บไซต์บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (www.srtet.co.th) และติดบอร์ดประชาสัมพันธ์ของส่วนจัดซื้อจัดจ้างภายในศูนย์ซ่อมบำรุงคลองตัน

– วันที่ 22 มีนาคม 2561 นำเสนอร่างประกาศประกวดราคาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อเปิดให้สาธารณชนเสนอแนะ หรือแสดงความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระยะเวลาในการประกาศเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่าไม่มีการวิจารณ์ร่างประกาศดังกล่าว

– วันที่ 29 มีนาคม 2561 ดำเนินการประกาศประกวดราคาผ่านเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, เว็บไซต์บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) และติดบอร์ดประชาสัมพันธ์ของส่วนจัดซื้อจัดจ้างภายในศูนย์ซ่อมบำรุงคลองตัน

– วันที่ 23 เมษายน 2561 เปิดยื่นข้อเสนอและราคา

ทั้งนี้มีผู้ดาวน์โหลดเอกสารจากเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จำนวน 36 บริษัท มีผู้ยื่นข้อเสนอและราคาผ่านระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จำนวน 15 บริษัท ถูกต้องตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่ รฟฟท. กำหนด 10 บริษัท โดยบริษัท แกรนด์ไลน์ อินโนเวชั่นส์ จำกัด ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหนังสือรับรอง และจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้เสนอราคาต่ำที่สุด 13,456,900 บาท
โดยราวกั้นชานชาลาแบบราวสแตนเลสดังกล่าวผลิตจากวัสดุที่ได้คุณภาพ และมีมาตรฐานตามที่ รฟฟท. กำหนด ซึ่งมีประโยชน์ในการใช้งาน ดังนี้

– ใช้ระยะเวลาการติดตั้งรวดเร็ว ( 6 เดือน)
– มีอายุการใช้งานนาน
– ทำความสะอาดง่าย
– ทนทานต่อการใช้งานรองรับแรงลมกรณีขบวนรถที่ใช้ความเร็วผ่านเข้าสถานี
– ไม่กระทบการไหลเวียนของอากาศ ทำให้ไม่เกิดความร้อนสะสมภายในสถานี

นอกจากนั้นบริษัทยังมีมาตรการรักษาความปลอดภัยบนชั้นชานชาลาที่ยังคงอยู่ โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยประจำบนชั้นชานชาลา และมีปุ่มหยุดรถฉุกเฉิน รวมถึงมีการประกาศข้อความภายในสถานี และมีการทำ Group Release เพื่อจำกัดจำนวนผู้โดยสารบนชั้นชานชาลา และจะมีการดำเนินการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ด้านความปลอดภัยเพิ่มเติมในอนาคต