เจ้าสัวแท็กทีม “โสภณพนิช” ล้างอาถรรพ์ที่ดินบางนาหมื่นล้าน

ถ้าไม่ใช่บิ๊กดีล วันดีเดย์ประมูลทอดตลาดที่ดิน 4,379 ไร่ หลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ 9.9 พันล้านบาท คดีแบงก์กรุงไทย ของ บจ.โกลเด้น อินดัสเตรียล พาร์ค ซึ่งเดิมเป็นบริษัทในเครือ บมจ.กฤษดามหานคร ของนายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตบิ๊กบอส “กฤษดานคร” หรือ KMC ที่ห้องประมูลทรัพย์สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อ 17 ต.ค. 2561 คงไม่ได้เป็นจุดนัดหมายรวมพลของเจ้าสัว กลุ่มธุรกิจตระกูลดัง ที่หมายตาที่ดินแปลงอาถรรพ์

เพราะนอกจากจะเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในคดีดังระดับชาติแล้ว 2 ครั้งที่ผ่านมา ในเดือน ธ.ค. 2560 และ มิ.ย. 2561 ยังไม่เคยนำออกประมูลได้สำเร็จ เนื่องจากถูกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยื่นคัดค้านทั้ง 2 ครั้งรวด

2 เจ้าสัวนั่งบัญชาการถึงที่

บรรยากาศการประมูลในวันดังกล่าว แม้จะมีผู้เข้าร่วมเกือบ 50 คน แต่ส่วนใหญ่มาสังเกตการณ์ ขณะเดียวกันแม้จะมีผู้ลงทะเบียน 2 ราย แต่สุดท้ายวางหลักประกันและยื่นเสนอราคาเพียงแค่รายเดียว คือ บจ.ทีอาร์เอ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จึงชนะการประมูลในราคาขั้นต่ำเท่าราคาประเมินที่ 8,914,070,000 บาท เนื่องจากไม่มีคู่แข่ง

งานนี้นอกจากจะมีตัวแทน บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้ถือหุ้นใหญ่ 50% ใน “ทีอาร์เอ แลนด์” นายชาลี โสภณพนิช กรรมการ กลุ่มไทคอนฯ และกรรมการผู้อำนวยการ บจ.นิคมอุตสาหกรรมเอเซียฯ กับนายดิเรก วานิชบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ และนายชาย วานิชบุตร กรรมการ กลุ่มบริษัท ไทคอนฯ และกรรมการ บจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งร่วมถือหุ้นใน “ทีอาร์เอ แลนด์” อีกรายละ 25% เท่ากัน ยังลงทุนมานั่งบัญชาการด้วยตัวเอง

ชี้ปิ๊งศักยภาพที่ดิน 4 พันไร่

นายชาลีกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังชนะการประมูลว่า ที่ดินผืนนี้ถือเป็นที่ดินทำเลดี มีศักยภาพสูงมาก ส่วนใหญ่อยู่ในผังเมืองโซนสีม่วง แต่กลุ่มผู้ร่วมทุนยังไม่มีแผนชัดเจนว่าจะลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้านใดบ้าง คงต้องหารือกันก่อน

ขณะที่นายดิเรก ซีอีโอสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ระบุว่า พันธมิตร 3 ราย คือ ไทคอนฯ นิคมอุตสาหกรรมเอเซียฯ และสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จับมือกันเข้าร่วมประมูลที่ดินผืนนี้ ในนามบริษัท ทีอาร์เอ แลนด์ แต่ยังไม่มีการแบ่งสัดส่วนหรือจัดสรรว่าจะนำที่ดินไปทำอะไรบ้าง บางส่วนอาจเป็นนิคมอุตสาหกรรม คลังสินค้า หรือพัฒนาในรูปอื่นตามความเหมาะสม โดยยังคงลงทุนร่วมกันระหว่าง 3 ผู้ถือหุ้น ไม่มีพันธมิตรต่างชาติเข้ามาได้อานิสงส์อีอีซี

แต่ด้วยศักยภาพของที่ดินแปลงใหญ่ แถมอยู่ในทำเลโซนกรุงเทพฯตะวันออก เขตติดต่อโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หน้ากว้างติดถนนบางนา-ตราด กม.32.5 กว่า 260 เมตร ขนาดความยาว 6 กม.จากบางนา-ตราด จดถนนมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิราว 16 กม. นอกจากพัฒนาเป็นนิคมอุตฯ คลังสินค้าแล้ว ที่ดินบางส่วนในจำนวนทั้งหมดกว่า 4 พันไร่ มีศักยภาพพอที่จะนำมาพัฒนาในลักษณะมิกซ์ยูสได้หลากหลายรูปแบบ

ที่สำคัญการชนะการประมูลซื้อที่ดินแปลงนี้ในราคา 8.9 พันล้านบาทเท่าราคากลาง เทียบกับราคาประกาศขายช่วงก่อนหน้านี้ ผ่านทางหลายเว็บไซต์ อาทิ www.jshomegroup.com ขายยกแปลงในราคา 13,500 ล้านบาท www.teedin108.com ขายรวม 15,000 ล้านบาท เท่ากับทีอาร์เอ แลนด์ ประมูลซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่า

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บมจ.เอคิว เอสเตท หรือ บมจ.กฤษดามหานคร เดิมซึ่งมีนักลงทุนกลุ่มใหม่เข้ามาถือหุ้น และต้องการจะตัดขายที่ดินแปลงนี้เพื่อนำไปเคลียร์หนี้แบงก์กรุงไทย มีนักลงทุนทั้งไทย ต่างชาติหลายกลุ่มแสดงความสนใจซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มทุนจีน ซึ่งต้องการนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มรับอีอีซี

จากก่อนหน้านี้กว่า 10 ปี นายวิชัย อดีตบิ๊ก KMC เคยมีแผนจับมือกับกลุ่มทุนจีน จากเมืองซิวเจียง ลงทุนพัฒนาเมืองแฝด โครงการสุวรรณภูมิเซ็นเตอร์ รองรับสนามบินสุวรรณภูมิ นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ดินหนึ่งในทางเลือกที่รัฐบาลยุคที่ผ่านมาต้องการใช้ก่อสร้างอาคารที่ทำการรัฐสภาแห่งใหม่

เปิดช่อง 15 วัน KMC ค้านได้

อย่างไรก็ตาม หลังเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีเคาะให้ทีอาร์เอ แลนด์ เคาะประมูลคว้าที่ดินผืนนี้ไปครองในมือ ต้องจับตาดูว่าจะสามารถล้างอาถรรพ์ ขายที่แปลงใหญ่ได้สำเร็จ วิน-วินเกมด้วยกันทุกฝ่ายหรือไม่ โดยเฉพาะเสี่ยวิชัย เจ้าของที่ดินเดิมที่พยายามอ้างสิทธิ์ ใช้กระบวนการทางกฎหมายต่อสู้สุดฤทธิ์

เพราะตามขั้นตอนภายใน 15 วันนับจากวันที่ขายทอดตลาด ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถคัดค้านการประมูลได้ ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทำเอกสารชี้แจงไปยังศาลถึงขั้นตอนต่าง ๆ ว่าได้ทำครบถ้วนอย่างไร จากนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลจะพิจารณา 2 กรณีคือ ยกคำร้องของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือเพิกถอนการขายทอดตลาด อีกไม่ถึง 15 วันได้รู้กัน