“เทอร์มินอล 2” สุวรรณภูมิยังไม่จบ เร่งสร้างสนามบินใหม่ “เชียงใหม่-ภูเก็ต” รับฮับโลก

ยังคงต้องลุ้นจะฉลุยหรือถูกเก็บใส่ลิ้นชัก โครงการก่อสร้าง “อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2” ของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่กำลังถูกหลากหลายวิชาชีพค้านหัวชนฝา และส่งเสียงวิจารณ์หลากหลายแง่มุม ทั้งตำแหน่งที่ตั้ง รูปแบบอาคาร และมูลค่าโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูง 4.2 หมื่นล้าน หลายคงมีข้อกังขา งานนี้ “ทอท.-บมจ.ท่าอากาศยานไทย” ทำไมเสกอาคารหลังใหม่แทรกขึ้นมาแบบเร่งด่วน มีวาระอะไรซ่อนเร้น

ฝั่ง “ทอท.” ถึงจะเปิดพื้นที่แถลงข่าวและขึ้นเวทีดีเบตกับสภาสถาปนิก หวังดับกระแสดราม่า แต่ดูเหมือนข้อมูลที่นำมาแจกแจงต่อสาธารณะ ยังไม่สามารถคลายข้อสงสัย มีทีท่าจะบานปลายและไร้ซึ่งข้อยุติ

ม.เกษตรฯเสนอทางเลือกใหม่

ล่าสุด “ดร.นวทัศน์ ก้องสมุทร” ประธานคณะกรรมการดำเนินงานศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านการขนส่งทางอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมาเผยถึงแผนแม่บทจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ ที่ร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ศึกษา และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) และกระทรวงคมนาคมแล้ว

โดยแผนแม่บทฉบับนี้จัดทำแผนระยะยาว 20 ปี ชี้วัดอุตสาหกรรมการบินซึ่งมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าปี 2578 จะมีผู้โดยสาร 333 ล้านคนต่อปี เที่ยวบิน 2.026 ล้านเที่ยวบินต่อปี และสินค้า 1.51 ล้านตันต่อปี ซึ่งประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค

นอกจากแผนจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ประเทศ ยังมีข้อแสนอแนะการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และพื้นที่สร้างสนามบินแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ

รันเวย์ปัญหาใหญ่สุวรรณภูมิ

“ปัญหาของสุวรรณภูมิ คือ รันเวย์ที่เป็นคอขวดต่อเที่ยวบินขึ้นลง ไม่ได้อยู่ที่อาคารผู้โดยสาร การที่ ทอท.จะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A เป็นการลงทุนไม่สมเหตุสมผล ต้องใช้เงินลงทุน 4.2 หมื่นล้าน พื้นที่ก็มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับอาคารปัจจุบัน และไม่มีความสมดุลระหว่างจำนวนผู้โดยสารจะรองรับได้ 30 ล้านคนต่อปี กับหลุมจอดประชิด 14 หลุมจอด อีกทั้งยังเสียหลุมจอดระยะไกลหรือรีโมตปาร์กกิ้ง”

ในผลศึกษา มีข้อเสนอ ทอท.ปรับแผนแม่บทและสมมุติฐานใหม่ ให้ทบทวนสร้างรันเวย์ 4 ให้เร็วขึ้น จากแผนเดิมสร้างในเฟส 5 (2568-2573) เพราะมีการเวนคืนที่ดิน 1,200 ไร่ สร้างเป็นรันเวย์ระยะไกลถัดจากรันเวย์ 2 ประมาณ 1.1 กม. เยื้องขึ้นไปด้านทิศเหนือให้เป็นอิสระ จะรองรับได้ 135-140 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และสร้างอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินตรงกลางระหว่างรันเวย์ 2 และ 4 จะรองรับผู้โดยสารได้อีก 35-40 ล้านคนต่อปี

ผู้โดยสารติดอันดับ 10 ของโลก

“10 ปีข้างหน้า ไออาต้าประเมินสุวรรณภูมิจะติดอันดับ 10 ของโลก ที่มีปริมาณผู้โดยสารมากที่สุด สิ่งแรก ทอท.ควรปรับปรุงระบบเทคโนโลยีเพื่อช่วยระบายผู้โดยสาร จากนั้นเร่งขยายฝั่งตะวันออกและตะวันตกอาคารเดิมที่รับ 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้อีก 5-10 ปี และใช้เงินลงทุนประมาณ 1-2 หมื่นล้าน ซึ่งสามารถปรับรูปแบบอาคารให้สอดรับกับอาคารปัจจุบันได้ ไม่เสียอัตลักษณ์อย่างที่ ทอท.ระบุ และเมื่อ ทอท.ปรับรันเวย์ 4 แล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้านทิศใต้ ตอนนี้เทอร์มินอล 2 และรันเวย์ 3 และ 4 ยังไม่ผ่านรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อยู่ที่รัฐจะนำมาทบทวนหรือไม่”

ทั้งนี้ หากรัฐไม่ปรับรันเวย์ 4 ก็ควรจะหาพื้นที่สร้างสนามบินกรุงเทพฯแห่งที่ 3 จากผลการศึกษามองว่าควรจะอยู่ด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ รัศมีไม่เกิน 100 กม. พื้นที่ จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม มีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 10,000-15,000 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นสนามบินรองรับการเติบโต สำหรับกิจกรรมการบินด้านธุรกิจ และชาร์เตอร์ไฟลต์ เนื่องจากการขนส่งทางอากาศพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเติบโตสูง จะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก

“ไม่เห็นด้วยที่รัฐจะให้อู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ ควรจะเป็นสนามบินของอีอีซีเท่านั้น เพราะไม่สมเหตุสมผลเรื่องค่าใช้จ่ายและเวลาเดินทาง และ 10 ปีแรก อู่ตะเภาจะโตช้ามาก เพราะรถไฟความเร็วสูงจะขนคนมาที่สุวรรณภูมิหมด และไม่มีทางที่จะมีเที่ยวบินมากเท่ากับสุวรรณภูมิในทันที”

เปิดที่ตั้งแห่งที่ 2 ภูเก็ต-เชียงใหม่

นอกจากนี้ในผลศึกษายังเสนอให้สร้างสนามบินแห่งที่ 2 ที่ จ.เชียงใหม่และภูเก็ต โดยพื้นที่เหมาะสมของ จ.เชียงใหม่จะเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่าง “เชียงใหม่-ลำพูน” เนื้อที่ 4,300 ไร่ ตั้งอยู่ ต.แช่ช้าง ต.บวกค้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ และ ต.ห้วยยาบ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน เป็นพื้นที่เอกชน พื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรและชุมชนบางส่วน อยู่ใกล้กับทางหลวง 1317 ทางหลวง 1147 ทางหลวง 1189 และ ลพ.4015 ห่างจากสนามบินเชียงใหม่ ประมาณ 20 กม. ใช้เวลาเดินทาง 21 นาที ห่างจากสถานีรถไฟสารภี ประมาณ 12 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 19 นาที ใช้เงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 46,139 ล้านบาท แยกเป็น ค่าก่อสร้างเขตการบิน (airside) 26,445 ล้านบาท ค่าก่อสร้างนอกเขตการบิน (landside) 7,037 ล้านบาท และต้นทุนที่ดิน 12,657 ล้านบาท

“เชียงใหม่ควรจะต้องมีสนามบินแห่งที่ 2 ได้แล้ว เพราะสนามบินปัจจุบันด้วยเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น ทำให้เป็นการรบกวนเมือง ต้องไปสร้างอยู่ที่ใหม่ที่ไกลเมืองออกไป และปรับบทบาทสนามบินเดิมรองรับเที่ยวบินส่วนบุคคลและเครื่องทหารเท่านั้น แต่ ทอท.จะใช้ทั้ง 2 ที่ อยู่ที่นโยบายของรัฐ”

ส่วนสนามบินแห่งที่ 2 จ.ภูเก็ต มีพื้นที่ 4,700 ไร่ ตั้งอยู่ ต.โคกกลอย ต.หล่อยูง อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เป็นพื้นที่ของรัฐและบางส่วนเป็นพื้นที่ชุมชน อยู่ใกล้ทางหลวง 402 และ พง.1016 ห่างจากสนามบินภูเก็ต ประมาณ 25 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที ใช้เงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 45,122 ล้านบาท แยกเป็น ค่าก่อสร้างเขตการบิน 26,445 ล้านบาท ค่าก่อสร้างนอกเขตการบิน 10,240 ล้านบาท และต้นทุนที่ดิน 8,438 ล้านบาท

ทอท.เดินหน้าต่อเทอร์มินอล 2

ด้าน “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ทอท. กล่าวว่า จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ทาง ทอท.ได้ชี้แจงไปหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องชะลอการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของสนามบินออกไป เนื่องจากภารกิจเร่งด่วนของ ทอท.คือ การแก้ปริมาณผู้โดยสารล้นอยู่ที่ 60 ล้านคนต่อปี ขีดความสามารถของสนามบินจะรับได้ 45 ล้านคนต่อปี

ขณะนี้โครงการผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ไปแล้ว อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากสภาพัฒน์ และรายงานอีไอเอ ซึ่งได้ขออนุมัติเป็นภาพรวมทั้งหมด มีทั้งอาคารผู้โดยสารและรันเวย์ 3 และ 4 ส่วนเรื่องการออกแบบรอการตรวจสอบจากฝ่ายกฎหมาย คาดว่าน่าจะเดินหน้าได้เร็ว ๆ นี้ เนื่องจากทางกลุ่มดวงฤทธิ์ที่ชนะประมูลจะยืนราคา 329 ล้านบาทไปถึงเดือน ธ.ค.นี้

สำหรับการสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ที่เชียงใหม่และภูเก็ต ใช้เงินลงทุนกว่า 1.25 แสนล้านบาท ผ่านการอนุมัติจากบอร์ดแล้ว รอ กพท.เสนอ ครม.อนุมัติคาดว่าจะเริ่มสร้างปลายปี 2562 แล้วเสร็จในปี 2566 แต่ละแห่งจะรองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคนต่อปี