ไทย-ญี่ปุ่นถกไม่ลงตัวไฮสปีด”กทม.-พิษณุโลก”เล็งนำโมเดลเท็กซัสเป็นต้นแบบลงทุนผ่านกองทุนJOIN

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม. เงินลงทุนประมาณ 420,000 ล้านบาท เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศญี่ปุ่น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนในประเด็นเรื่องการร่วมลงทุน ยังอยู่ในระหว่างการหารือร่วมกันอยู่

เนื่องจากโครงการนี้มีรายละเอียดที่ซับซ้อน จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งเรื่องขบวนรถ, งานโครงสร้างโยธา, งานบำรุงรักษาโครงการ, การพัฒนาพื้นที่ (TOD)​ และงานเดินรถ และประเทศไทยไม่เคยมีโครงการรถไฟความเร็วสูงมาก่อน

ทั้งนี้ไทยและญี่ปุ่นเริ่มทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการในระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. เงินลงทุน 276,225 ล้านบาท ตั้งแต่ ธ.ค. 2558 และศึกษาแล้วเสร็จในเดือนพ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ขณะนี้ผลการศึกษาอยู่กับสนข.แล้ว

สำหรับแผนก่อนหน้านี้ วางแผนที่จะพัฒนาโครงการในรูปแบบรัฐบาลกับรัฐบาล (จีทูจี)​ในสัดส่วน 50:50 แต่ต่อไปจะหารือร่วมกัน เพื่อหาสัดส่วนที่เหมาะสมและทั้งสองฝ่ายรับได้ เช่น ไทย 70:ญี่ปุ่น 30 หรือ 80:20 หรืออาจจะเป็นการร่วมทุนในส่วนงานโยธาน้อย และเพิ่มงานด้านอื่น เช่น การพัฒนาพื้นที่, งานระบบ เป็นต้น

โดยการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านคมนาคมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ทางไทยยังยืนยันว่า ประเทศญี่ปุ่นจะต้องร่วมลงทุนกับฝ่ายเรา (Joint Investment)​ แต่ญี่ปุ่นยังสงวนท่าทีอยู่ อย่างไรก็ตาม ได้เสนอให้ญี่ปุ่นพิจารณารูปแบบการดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกับโครงการรถไฟความเร็ว​สูง​รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา​ ที่ลงทุนผ่านกองทุน JOIN (Japan Oversea Infrastructure Investment Corporation for Transport and Urban Development)​

จึงมอบหมายให้คณะทำงานทั้งสองฝ่าย (ไทย-ญี่ปุ่น) ร่วมกันศึกษาและหารือในรายละเอียดดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องการร่วมลงทุนในโครงการนี้โดยเร็วต่อไป ซึ่งจะมีการหารือกับทูตญี่ปุ่นและไจก้าในต้นเดือนพ.ย.นี้

“หากญี่ปุ่นไม่สนใจที่จะมาร่วมลงทุนกับเราจริงๆ การศึกษาโดยรัฐบาลเอง 100% คงจะต้องนำเรื่องนี้กลับไปพิจารณาลำดับความสำคัญใหม่ เพราะเรามีแผนสร้างรถไฟความเร็วสูงอีก 3 เส้นทางคือ 1. รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพ-หนองคาย)​ 2. รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน​ (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ​-อู่ตะเภา)​ และ3. รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หัวหิน อาจจะทำเส้นทางสั้นๆก่อน แต่เราก็อยากให้ญี่ปุ่นมาร่วม เพราะเป็นการยกระดับความสัมพันธ์​ระหว่างประเทศ แถมยังถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงให้เราด้วย เพราะทางเขาก็พัฒนาไม่หยุดนิ่งและเราก็อยากได้เทคโนโลยีของเขามาใช้ด้วย”