ปตท.รอลุ้นสมาร์ทซิตี้มักกะสัน ‘บีทีเอส-ซีพี’ผนึกพันธมิตรสู้เกมไฮสปีด

แฟ้มภาพ

จับตาโค้งสุดท้ายชิงเค้กไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ปตท.สับเกียร์ถอย รอเสียบสมาร์ทซิตี้มักกะสัน มาแน่ “ซี.พี.” ผนึกจีน ฝรั่งเศส อิตาลี บีทีเอสจับพันธมิตรเดิม เผย 5 แบงก์ยักษ์หนุนเต็มที่ สะพัด “ยูนิคฯ” ควงเกาหลีโผล่แจม ร.ฟ.ท.ยันไม่ปรับทีโออาร์ 

นับถอยหลังถึงวันที่ 12 พ.ย. 2561 ยังเหลือเวลาอีก 17 วัน จะถึงวันยื่นซองประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา 220 กม. ลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท มีนักลงทุนไทยและต่างชาติซื้อซอง 31 ราย

หลังจากคณะกรรมการ (บอร์ด) บมจ.ปตท. มีมติให้ บจ.เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ (EnCo) บริษัทลูกซึ่งเป็น 1 ที่ซื้อซอง ให้เข้าร่วมลงทุนโครงการภายหลังได้ผู้ชนะประมูลแล้ว เพื่อมีเวลาศึกษาเทคนิคและรูปแบบธุรกิจ (business mod-el) ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้างเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สาเหตุที่กลุ่ม ปตท.ไม่ร่วมยืนประมูลตั้งแต่แรก อาจจะเป็นเพราะประเมินแล้วหากจะเป็นแกนนำหรือยื่นประมูลรายเดียว คงไม่สามารถจะแข่งขันกับคู่แข่งได้ เนื่องจาก ปตท.ไม่มีความถนัดเรื่องโครงการรถไฟฟ้า และก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนรัฐบาล กรณี ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจไปร่วมกับเอกชนรายใดอาจไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มอื่น การเจรจาร่วมทุนระหว่าง ปตท.กับบีทีเอสจึงต้องยุติลง

“ปตท.เป็นบริษัทใหญ่ คงไม่อยากจะเป็นผู้แพ้ เพราะงานนี้คู่แข่งในสนามมีความพร้อมทั้งการเงินและพันธมิตรที่จะลงทุนโครงการอย่างเต็มที่ ขณะที่ ปตท.ก็สนใจการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ที่สถานีมักกะสันอย่างเดียว สามารถร่วมลงทุนเฉพาะบางส่วนกับผู้ชนะภายหลังได้”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่คาดว่าจะยื่นซองประมูลมีประมาณ 2 ราย คือ กลุ่มแรกกลุ่ม ซี.พี. ที่จะร่วมกับพันธมิตรจากเอเชียและยุโรป โดยจะร่วมกับบริษัท ทางรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส (SNCF) และบริษัท ทรานส์เดฟ กรุ๊ป จากฝรั่งเศส บริษัท ทางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (FS) จัดหาระบบการเดินรถและบริหารจัดการโครงการในระยะยาว อีกทั้งจะร่วมกับ 7 บริษัทจากจีน ได้แก่ บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC), บจ.ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป, บจ.ไชน่า คอมมูนิเคชั่น คอนสตรัคชั่น, บจ.ไชน่า รีเสิร์ซ โฮลดิ้งส์, บจ.ซิติก กรุ๊ป, บจ.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น และ บจ.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น นอกจากนี้อาจจะซับงานให้กับผู้รับเหมาไทย เช่น บมจ.อิตาเลียนไทยฯ และ บมจ.ช.การช่าง โดย ซี.พี.สามารถนำผลงานของอิตาเลียนไทยฯ หรือ ช.การช่าง นำไปใช้ประกอบในการเข้าร่วมประมูลได้

“ทีโออาร์เปิดช่องให้สามารถนำผลงานของซับคอนแทร็กต์ร่วมได้ รวมถึงเปิดให้เอกชนยื่นซองพิเศษ หรือซองที่ 4 ได้ มีแนวโน้มที่กลุ่ม ซี.พี.จะเสนอซองที่ 4 เพื่อย้ายตำแหน่งสถานีฉะเชิงเทราเข้าไปอยู่ในตำแหน่งใกล้กับโครงการเมืองใหม่”

แหล่งข่าวกล่าว่า ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มบีทีเอส ที่จะร่วมกับพันธมิตรเดิม คือ บมจ.ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง ยื่นในนามกิจการร่วมค้า BSR ส่วนงานระบบและการเดินรถจะซับคอนแทร็กต์ให้กับบริษัทต่างชาติ กำลังเจรจากับทั้งกลุ่มยุโรป เช่น บอมบาร์ดิเอร์ ซีเมนส์ รวมถึงจีนและญี่ปุ่น

“มี 2 กลุ่มที่จะยื่นประมูลจริงจัง เพราะลงทุนศึกษาโครงการไปเยอะ แต่ล่าสุด มีกระแสข่าวออกมาว่าจะมีกลุ่มยูนิคฯจะร่วมกับบริษัท โคเรียไทย ไฮสปีด จากประเทศเกาหลี”

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหารและกรรมการ บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า บริษัทคิดว่าจะเข้าร่วมประมูลในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR โดยบีทีเอสจะถือหุ้นไม่น้อยกว่า 60% ส่วนซิโน-ไทยและราชบุรีโฮลดิ้งอยู่ระหว่างรอบอร์ดบริษัทอนุมัติ ด้านเงินลงทุน มีแบงก์ใหญ่ 4-5 แห่ง พร้อมที่จะออกหนังสือเจตจำนงการให้กู้โครงการนี้ให้กับบีทีเอส”

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูล 2 กลุ่มใหญ่ที่อาจจะร่วมกันหลายบริษัท ขณะนี้ ร.ฟ.ท.กำลังจะรวบรวมคำถามที่เอกชนสอบถามจำนวนมากเพื่อพิจารณา ก่อนที่จะเปิดให้ยื่นซองประมูลวันที่ 12 พ.ย.นี้

“คงไม่มีการปรับรายละเอียดทีโออาร์ แต่หากเอกชนมีข้อเสนอแนะ เช่น จ่ายค่าเช่าพัฒนาที่ดินสถานีมักกะสันและศรีราชา แบบเป็นก้อนเดียวกว่า 14,000 ล้านบาท จากที่ทีโออาร์ให้จ่ายเป็นรายปีตลอดอายุสัญญา 50 ปี รวมเป็นวงเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท เจรจาต่อรองได้”