ขาใหญ่ป่วนประมูล”ด่านมอเตอร์เวย์” บีบต่างชาติร่วมทุนทางหลวงเร่งกดปุ่มก่อนเลือกตั้ง

ลุ้นประมูล - งานก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชที่เดินหน้าไปได้ครึ่งทางแล้ว แต่งานระบบเก็บค่าผ่านทางยังไม่ไปถึงไหนติดหล่มปมข้อร้องเรียนการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยกับต่างชาติ โดยทั้งโครงการคาดว่าจะเปิดบริการในปี 2563

ประมูล PPP สัมปทานด่านเก็บเงินมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจน์ ติดหล่มปมดึงต่างชาติร่วมทุน บิ๊กธุรกิจร้องหวั่นเร่ขายงาน ทิ้งโครงการ กรมทางหลวงแจงปิดทางคู่แข่งเหลือน้อยราย คาดสิ้นปีนี้ประกาศขายซอง เผยมี 7 กลุ่มตีตั๋วลงสนามชิงดำเค้ก 6 หมื่นล้าน จับตา “BEM-BTS-ซี.พี.-โทลล์เวย์” คลังปล่อยผีรัฐวิสาหกิจจีนเข้าร่วมเกิน 1 ราย ขยายเวลาก่อสร้างเป็น 3 ปี

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนขายเอกสารประมูลการให้เอกชนร่วมลงทุน PPP Gross Cost 30 ปี ดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา 196 กม. และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กม. เงินลงทุนกว่า 61,000 ล้านบาท ขณะนี้คณะกรรมการ มาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 อยู่ระหว่างปรับร่างทีโออาร์ให้เหมาะสมหลังมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงแก้ไขในบางประเด็น

บางใหญ่-กาญจน์จ่อดีเลย์

“ตอนนี้ยังยืนยันจะเปิดประมูลทั้ง 2 สายทางพร้อมกัน แต่ถ้าหากงานก่อสร้างของสายบางใหญ่-กาญจนบุรียังไม่สามารถเดินหน้าเรื่องการเวนคืนที่ดินที่รอขออนุมัติกรอบวงเงินเพิ่มจากคณะรัฐมนตรี อาจจะเปิดประมูลภายหลัง”

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ข้อเสนอแนะของเอกชนที่เสนอให้คณะกรรมการ มาตรา 35 พิจารณามีหลากหลาย อาทิ ระยะเวลาดำเนินการ ซึ่งกำหนดไว้ 2 ปี 6 เดือน เอกชนมองว่าสั้นเกินไปอาจจะขยายเป็น 3 ปี นอกจากนั้น เป็นข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะทางด้านเทคนิคและด้านคุณสมบัติ ยังไม่สรุปจอยต์เวนเจอร์ต่างชาติ

อย่างเช่น บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ในเครือ บมจ.ช.การช่าง มีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเงื่อนไขการร่วมทุน (จอยต์เวนเจอร์) กับต่างชาติ โดยระบุว่า ทีโออาร์ที่กรมทางหลวงร่างขึ้นมานั้นเปิดกว้างมากเกินไป เพราะให้ต่างชาติสามารถเข้ามาร่วมได้ทั้งรูปแบบจ้างซับคอนแทร็กเตอร์และจอยต์เวนเจอร์ (ร่วมทุน) ก็ได้ ซึ่ง BEM มองว่าควรจะเป็นการจอยต์เวนเจอร์เท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์เข้าประมูลได้

“ทีโออาร์ไม่ได้กำหนดให้ต่างชาติต้องจอยต์เวนเจอร์กับบริษัทไทยตั้งแต่แรก แต่สามารถร่วมกันได้หลังเป็นผู้ชนะแล้ว เพื่อเปิดกว้างให้มีการแข่งขันมากขึ้น ซึ่ง BEM มองว่าบริษัทไหนจะร่วมกับต่างชาติน่าจะจอยต์เวนเจอร์กันแต่แรก เพื่อร่วมรับผิดชอบโครการ หากล่าช้าและไม่ให้มีการเร่ขายงานโครงการ ทั้งนี้ หากทีโออาร์กำหนดอย่างที่ BEM เสนอจะทำให้มีคู่แข่งเข้าประมูลน้อยราย เพราะต่างชาติส่วนใหญ่ไม่ต้องการมาร่วมลงทุน หากจะร่วมทุนต้องสัดส่วนไม่เกิน 49% และบางประเทศจะติดขัดด้านข้อกฎหมาย เช่น ญี่ปุ่น ได้ไม่เกิน 10% จีนจะต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐบาล”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการ มาตรา 35 กำลังพิจารณารายละเอียดยังไม่ได้ข้อสรุป แต่คาดว่าจะมีข้อเสนอ 2-3 ข้อเพื่อเป็นทางออกจะบอกถึงข้อดี-ข้อเสียของการจอยต์เวนเจอร์และไม่จอยต์เวนเจอร์ เพื่อเดินหน้าประมูลโครงการต่อไป หลังจากที่ล่าช้ามานานแล้ว ซึ่งที่ผ่านมานายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมของซูเปอร์บอร์ด ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ มาตรา 35 คาดว่าจะมีข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้

BEM ลอยลำ

“BEM มีศักยภาพที่จะสามารถยื่นประมูลได้โดยไม่ต้องร่วมกับต่างชาติได้อยู่แล้ว แต่เอกชนรายอื่นที่ไม่มีประสบการณ์ด้านระบบทางด่วน จะต้องใช้ระบบเทคโนโลยีจากต่างชาติอย่าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (โทลล์เวย์) กลุ่ม ซี.พี. ฯลฯ ซึ่งสนใจโครงการนี้ต้องทำตามเงื่อนไข เช่น ตั้งบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติ โดยเอกชนไทยถือหุ้นเกิน 51% และให้ต่างชาติที่ร่วมทุนถือหุ้นไม่เกิน 49%”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะนี้มีเอกชนไทยหลายรายสนใจ ในเบื้องต้นมีข้อมูลยืนยันว่า ที่จะเข้าร่วมซื้อซองประมูลมี 6-7 ราย คือ 1.BEM ร่วมกับ บมจ.ช.การช่าง 2.BTS ร่วมกับ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และอาจจะมีบริษัทต่างชาติร่วม 3.บจ.เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม (เครือ ซี.พี.) จะร่วมกับบริษัท วินซี จากฝรั่งเศส 4.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จะร่วมกับจีนและสิงคโปร์ 5.บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จะร่วมกับจีนและสิงคโปร์ 6.โทลล์เวย์ จะร่วมกับ MEX รัฐวิสาหกิจจากญี่ปุ่น และ 7.รัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนจากจีน

เปิดทางรัฐวิสาหกิจจีน

“ที่น่ากลัวตอนนี้ คือ รัฐวิสาหกิจจีน ล่าสุดทางกรมบัญชีกลางวินิจฉัยแล้วว่าให้สามารถเข้าร่วมประมูลแข่งขันกันได้หลายราย เพราะถือว่าไม่เป็นการถือหุ้นไขว้กัน จากเดิมจะได้แค่รายเดียว หากยื่นหลายรายจะถือว่าไม่เป็นธรรม”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า การลงทุนโครงการมี 2 ระยะ ระยะที่ 1 เอกชนออกแบบ ลงทุนก่อสร้างงานระบบและอื่น ๆ โดยบางปะอิน-โคราช ลงทุน 7,965 ล้านบาท บางใหญ่-กาญจนบุรี 6,089 ล้านบาท ระยะที่ 2 เอกชนจะจัดเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษาตลอด 30 ปี

รายได้ค่าผ่านทางจะนำส่งคลัง โดยจ่ายค่าจ้างให้เอกชนเป็นรายปี มีค่างานระบบ ค่าบำรุงรักษาของบางปะอิน-นครราชสีมา ไม่เกิน 33,258 ล้านบาท ส่วนบางใหญ่-กาญจนบุรี 27,828 ล้านบาท รวม 2 โครงการ 61,086 ล้านบาท เอกชนที่เสนอระบบที่ดีที่สุดและราคาต่ำสุดจะเป็นผู้ชนะประมูล