ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ บิ๊กโปรเจ็กต์มีข้อจำกัด

สัมภาษณ์ ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ

นับถอยหลังจากนี้เหลือเวลา 2 ปีที่ “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ปลัดกระทรวงคมนาคมคนใหม่ จะต้องเร่งสางงานที่ตกค้าง เดินหน้าจัดทัพแผนลงทุนโครงการในมือมีอยู่กว่า 2 ล้านล้านบาท

เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ “ปลัดชัยวัฒน์” มอบนโยบายให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม

“การทำงานของกระทรวงต่อจากนี้ จะต้องยึดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นเข็มทิศในการทำงาน เพราะถ้าไม่ทำเราจะอธิบายกับรัฐบาลไม่ได้เลยว่า แผนงานต่าง ๆ เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีหรือไม่ อีกทั้งสำนักงบประมาณกำชับให้โครงการและแผนงานที่จะของบประมาณต้องอธิบายให้ได้ว่า เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติข้อไหน ผลที่ได้คืออะไร จึงเตรียมข้อมูลให้พร้อม”

ส่วนภารกิจสำคัญเป็นนโยบายของรัฐบาล มี 2 เรื่องหลัก ๆ ที่กระทรวงต้องเร่งขับเคลื่อน คือ การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั้งถนน มอเตอร์เวย์ รถไฟ ท่าเรือ ให้รองรับกับการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี และการส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรองที่รัฐบาลกำลังมีนโยบายขับเคลื่อน

“หากติดขัดกระบวนการใด เช่น เรื่องกฎหมาย หรือข้อมูลอื่น ๆ ทุกหน่วยงานจะต้องแจ้งให้รัฐมนตรีทราบ เพื่อให้ท่านได้สั่งการอย่างถูกต้อง และทุกหน่วยงานต้องดำเนินการภายใต้นโยบาย one transport one family เพราะไม่ใช่งานของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ทุกภารกิจของทุกหน่วยงานเท่ากับเป็นภารกิจของกระทรวง ต้องบูรณาการร่วมกัน”

ไม่อยากให้มีภาพของโครงการที่ทำเสร็จแล้วแต่ไม่เชื่อมต่อกับโครงการอื่น เช่น ทำสนามบินแต่ไม่มีถนนเชื่อมต่อ หรือทำถนนเสร็จแล้วแต่ไม่เชื่อมต่อกับอีกถนนหนึ่ง การทำแผนงานของแต่ละโครงการจึงต้องคุยกับหน่วยงานข้างเคียง เพื่อเตรียมแผนงานต่าง ๆ ให้ครบ ให้เชื่อมถึงกัน และต้อง take action กับแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการรายงานให้ทราบทันที เพื่อจะได้เร่งแก้ไขทันที

“การมาดำรงตำแหน่งนี้สร้างความหนักใจให้กับผมมาก เพราะรัฐบาลทราบว่าช่วงที่ผมเป็นผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. คิดและศึกษาโครงการต่าง ๆ ไว้มาก ตอนนี้จึงอยากให้ช่วยทำให้สิ่งที่คิดที่ศึกษาไว้ให้เป็นความจริง แต่มั่นใจในการทำหน้าที่นี้ ใส่เกียร์เดินหน้าไม่เคยถอย และจะเป็นอย่างนี้ไปจนวันสุดท้ายที่รับตำแหน่งนี้ แต่ข้อจำกัดก็มี ผมเรียกรวมว่า งานมาก ยากขึ้น เวลาน้อย คาดหวังสูง”

เนื่องจากแผนงานโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงมีมากตามที่เห็น และเป็นการลงทุนในระยะยาว 5-8 ปี แถมมีความยากในการขออนุมัติในแต่ละขั้นตอน ซึ่งแต่ละหน่วยงาน เวลาก็น้อย

ขณะที่ผมจะอยู่ในตำแหน่งนี้ก็เพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น และเวลาที่ต้องทำตามรัฐบาลเร่งรัดมา บางครั้งขอใน 2 สัปดาห์บ้าง 1 เดือนบ้าง และมีความคาดหวังสูงจากหลาย ๆ ฝ่าย

“บทบาทผมอยู่ตรงกลางระหว่างการรับนโยบายจากรัฐบาลและการนำมาส่งต่อให้แต่ละหน่วยงานไปปฏิบัติ ผมคนเดียวทำไม่ได้แน่ ต้องขอแรงทุกคนทุกฝ่ายช่วยเหลือกัน ผมขอปวารณาตัวว่า จะช่วยเหลือทุกหน่วยงานในกระทรวงคมนาคมอย่างสุดความสามารถ มีเรื่องใดต้องใช้งานผม ยินดีทำงานเต็มที่ เพื่อให้โครงการในแผนที่พูดถึงกันมานานให้เริ่มนับหนึ่ง”

งานด่วนคือสร้างรถไฟฟ้าให้ครบ 10 สายทางตามแผนแม่บท จัดทำแผนแม่บทรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ระยะที่ 2 การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ที่พหลโยธิน ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟสแรกให้เสร็จตามแผนปี 2562-2564 ควบคู่ทยอยเปิดประมูลทางคู่ระยะที่ 2 อีก 9 เส้นทาง เดินหน้ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเส้นกรุงเทพฯ-นครราชสีมาให้ก่อสร้างได้ตามแผน ร่วมกับญี่ปุ่นออกแบบรายละเอียดรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก และสร้างจุดพักรถ 40 แห่งทั่วประเทศ