ครม.อนุมัติขยายเส้นทางบิน”อินโดฯ-มาเลย์-ไทย”หนุนเที่ยว14จังหวัดภาคใต้ร่วมประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน 8-9 พ.ย.นี้

นายอาคม เติมพิทยา​ไพสิฐ​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม​ แถลงผลการประชุมคณะ​รัฐมนตรี​ (ครม.)​ ที่เกี่ยวกับกระทรวง โดย ครม.มีมติใน 4 ประเด็นได้แก่

1.อนุมัติรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อประกอบการขอความเห็นชอบและลงนามร่างพิธีสารแก้ไขบันทึกความเข้าใจ (MOU)​ ระหว่างรัฐบาล 3 ประเทศ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และไทย ว่าด้วยการขยายเส้นทางการบิน ตามกรอบการประชุมระดับผู้นำ IMT-GT เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

เพื่อส่งเสริมการบินร่วมกัน​แต่ไม่ครอบคลุม​ทั่วประเทศ​ เป็นกรอบเล็กที่หารือร่วมกัน ในส่วนของไทยมีเฉพาะ 14 จังหวัดภาคใต้ ด้านหนึ่งจึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรองของรัฐบาลด้วย เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับอนุภูมิภาค

โดยเห็นพ้องกันในหลายประเด็น เช่น การเพิ่มจุดบิน อย่างในไทยก็ทำการเพิ่มจุดบินจาก 5 เป็น 6 จุด, การเชื่อมเส้นทางบิน โดยให้ 3 ประเทศสามารถใช้สิทธิ์​รับขนส่งการจราจรเสรีภาพที่ 3 4 และ 5 ให้เป็นไปตามมาตรฐาน​ของอาเซียน, เที่ยวบินภายในประเทศ (Domestic Codeshare) เป็นต้น

2.รายงานการแก้ไขร่างพิธีสารและ MOU ในการแก้ไขและปรับปรุงความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศในจุดระหว่างและพ้นไปจากอาณาเขตของตน รวมถึงสิทธิการบินระหว่างรัฐบาลไทยและอิสราเอล เพราะปัจจุบันประเทศไทยไม่มีเที่ยวบินตรงไปอิสราเอลแล้ว แต่อิสราเอลมีเที่ยวบินตรงมาไทยหลายเที่ยวบิน โดยไม่เคยมีการจำกัดจำนวนเที่ยวบินมาก่อน จึงต้องจำกัดให้มีเที่ยวบินแค่ 28 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ส่วนการบินมาไทยเพื่อต่อเครื่องไปประเทศอื่นและการขนส่งสินค้าจำกัดอยู่ที่ 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์

และมีการเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าหน้าที่เดินอากาศใหม่ ของไทยเปลี่ยนแปลงจากตำแหน่ง “Minister Of Communication” เป็น “Minister of Transport” ส่วนอิสราเอลเปลี่ยนจาก “Minister of Transport” เป็น “Minister of Transport and Safety”

3.เห็นชอบร่างเอกสารที่จะมีการรับรองและลงนามระหว่างการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 8-9 พ.ย.นี้ ที่ประเทศไทย สำหรับเอกสารที่จะร่วมรับรองมี 4 ฉบับ

3.1 แนวทางการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของเรือที่ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของอนุสัญญา (Guideline for Safety For Non-Convention Ship) เป็นการรวมแนวปฏิบัติเพื่อช่วยในการตรวจสอบเรือสินค้าที่ไม่อยู่ใต้อนุสัญญาให้เกิดความปลอดภัยในการเดินเรือในภูมิภาคอาเซียน โดยเรือที่ไม่อยู่ภายใต้อนุสัญญา คือ เรือบรรทุกสินค้า, เรือประมง, เรือสำราญ และเรือสำเภาที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 500 ตันกรอส

3.2 แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional oil Spill Contigency Plan)

3.3 มาตรฐานและวิธีปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Search and Rescue Standard Operation Procedures)

และ 3.4 แผนงานร่วมมือด้านการขนส่งอาเซียน-จีน 2561-2563 (Action Program of The Revised Strategic Plan For ASEAN-China 2018-2020) โดยจะมีการลงนามในร่างเอกสารมี 2 ฉบับคือ 1.ร่างพิธีสาร 4 ว่าด้วยสิทธิการบินเชื่อมจุดในประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และรองรับการเดินทางระหว่างประเทศ โดยการขยายสิทธิการบินเชื่อมจุดของสายการบินที่กำหนดของคู่ภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายในการให้บริการ 2 จุดหรือมากกว่านั้นในอีกประเทศหนึ่งในเส้นทางการบินเดียวกัน

และ 2.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยและการตรวจควบคุมเรือที่ไม่อยู่ภายใต้การบังคับของอนุสัญญาระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยทั้ง 2 ฉบับจะลงนามในวันที่ 9 พ.ย.นี้

และ 4.รับทราบผลสรุปการประชุมระดับรัฐมนตรีของการประชุมมหาสมุทร (Ocean Meeting 2018) โดยมีประเด็นสำคัญ 4 ข้อ คือ 1.เชิญชวนให้นานาชาติร่วมสร้างนวัตกรรมและแสวงหาพลังงานสะอาด และให้ความร่วมมือในการยับยั้งปัญหามลพิษทางทะเล โดยไทยจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 50% ภายในปี 2050 (2593)

2.ให้ความสำคัญกับ “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” หรือเศรษฐกิจทางทะเล ครอบคลุมทั้งการขนส่งและใช้ทรัพยากรจากทะเล โดยไทยเสนอโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นโครงการต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล และรับรองปฏิญญาการประชุมระดับรัฐมนตรีของการประชุมมหาสมุทร และมีการบังคับใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเรือกำมะถันต่ำกว่าร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นข้อกำหนดขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO)