เคาะ 4 จังหวัดผุดท่าเรือบกดึงเอกชนร่วมทุนหมื่นล้าน30ปี นำร่องอ.บ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทราแห่งแรกหนุน EEC

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินงานศึกษาจัดทำแผนพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผนพัฒนาท่าเรือบก ให้เป็นกลไกสำคัญตอบสนองการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของไทยและของประเทศเพื่อนบ้านผ่านท่าเรือแหลมฉบัง

เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค หรือกลุ่มประเทศ CLMV และกำหนดแนวทางการพัฒนาและพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือบก เพื่อรองรับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งกำลังเปิดประมูล เมื่อแล้วเสร็จจะมีขีดความสามารถรองรับการขนส่งสินค้าได้ 1.8 ล้านทูยูต่อปี จะทำให้เกิดความแออัดมาก

จากผลการศึกษาพบว่าพื้นที่ที่มีความเหมาะสมจะพัฒนาท่าเรือบก มี 4 แห่ง โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) เกิน 12% และอยู่ในแนวโครงการรถไฟทางคู่ ประกอบด้วย 1.อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา 2.อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา 3.อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และ 4.อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ แต่ละแห่งจะใช้พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 1,000-1,800 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณแห่งละ 2,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับต้นทุนที่ดิน คาดว่าทั้ง 4 แห่งจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท

“ตามไทม์ไลน์ภายในเดือน พ.ย.นี้ จะเสนอผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ แต่ยังกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอคณะกรรมการโลจิสติกส์แห่งชาติที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาในเดือน ธ.ค.นี้ ”

โดยจะเริ่มดำเนินการที่ จ.ฉะเชิงเทราเป็นแห่งแรก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี คาดว่าจะเปิดประมูลปลายปี 2562 เริ่มสร้างปี 2563 เปิดบริการในปี 2567 ส่วนที่โคราชและขอนแก่นจะดำเนินการเป็นอันดับต่อไป คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568 จากนั้นจะเป็นที่นครสวรรค์จะเปิดดำเนินการในปี 2570

สำหรับรูปแบบการลงทุนจะเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐจะเป็นผู้จัดหาที่ดิน ส่วนเอกชนจะลงทุนพัฒนาโครงการโดยได้รับสัมปทานเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยมีการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

เมื่อท่าจะเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังจากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 5.5% เพิ่มเป็น 30% โดยท่าเรือบกที่จะพัฒนานี้ ทำหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าเหมือนท่าเรือ ประกอบด้วย 3 ชนิด 1.ท่าเรือบกใกล้ท่าเรือ (Close Dry Port) 2.ท่าเรือบกระยะกลางประมาณ 300 กม.จากท่าเรือ (Mid-range Dry Port) และ 3.ท่าเรือบกที่ชายแดน (Distant Dry Port) เพื่อตอบสนองต่อปริมาณการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตในแต่ละพื้นที่

​โดยหัวใจความสำเร็จของการพัฒนาท่าเรือบกนี้ คือ 1.การบริการจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยภาครัฐจะให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนและบริหารจัดการท่าเรือบก 2.กฎระเบียบที่อำนวยความสะดวกด้านการขนส่งเพื่อการนำเข้าและส่งออก 3.การขนส่งทางรถไฟที่จะต้องมีความแน่นอน ตรงต่อเวลา และมีค่าใช้จ่ายที่แข่งขันได้ และ 4.การเชื่อมโยงระบบข้อมูลการขนส่งให้สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ