เวนคืน640ล้านผุดมอเตอร์​เวย์ “บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว” ทางหลวงประเดิม10กม.ถึงมหาชัย เปิดประมูลพ.ย.นี้หมื่นล้าน

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.)​ กล่าวว่า การจัดประเมินความสนใจของเอกชน (Market Sounding)​ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน-ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. มูลค่าโครงการรวม 48,310 ล้านบาท จัดขึ้นเพื่อรวบรวมความคิดเห็นของเอกชนและผู้สนใจร่วมลงทุนไปประกอบรายงานการศึกษาของโครงการ ก่อนที่จะมีการจัด Market Sounding เพื่อรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่งในปลายเดือน พ.ย.นี้ โดยโครงการนี้อยู่แผนลงทุนของกระทรวงคมนาคม​ด้วย

สำหรับความคืบหน้าของโครงการ ขณะนี้รายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)​ ได้ผ่านการพิจารณา​ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้ว ต่อไปจะเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยรูปแบบโครงการจะเป็นทางยกระดับบนเกาะกลาง ถ.พระราม 2 (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35) มี 6 ช่องจราจรไปกลับ กว้างช่องละ 3.6 เมตร

ส่วนผลการศึกษารูปแบบการลงทุนและผลตอบแทน (รายงาน PPP)​ คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการนโยบาย การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP)​ ได้ช่วงต้นปี 2562 ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)​ พิจารณา เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 และจะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างปลายปี 2562 เพื่อดำเนินการก่อสร้างช่วงต้นปี 2563 ใช้เวลาก่อสร้างงานโยธาพร้อมงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง 3 ปี จะแล้วเสร็จประมาณปี 2566 และเมื่อสร้างเสร็จแล้ว เอกชนจะต้องโอนกรรมสิทธิ์​ในทรัพย์สินทั้งหมดให้รัฐทันที (BTO-Build Transfer Operation)​ โดยยังมีสิทธิในการบริหารจัดการและดูแลทรัพย์สินตามระยะเวลาในสัญญา

“รูปแบบการลงทุนเป็นแบบ PPP Net Cost ระยะเวลาดำเนินการ 33 ปี ก่อสร้าง 3 ปี-​งานบำรุงรักษา 30 ปี​มูลค่าโครงการรวม 48,310​ ล้าน​บาท แบ่งเป็นค่าลงทุน 32,210 ล้านบาท โดย ทล.จะลงทุนก่อสร้างงานโยธาช่วงต่อจากโครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ตั้งแต่ด่านบางขุนเทียนถึงด่านมหาชัย 1 รวมระยะทาง 10 กม. เงินลงทุน 10,500 ล้านบาท ส่วนเอกชนจะต้องลงทุนงานโยธาที่เหลืออีก 15 กม. รวมถึงงานติดตั้งระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และงานอาคารต่างๆ ในโครงการทั้งเส้นทาง พูดง่ายๆ คือในปี 2566 ทั้งงานโยธาและงานติดตั้งระบบจัดเก็บ​ค่าผ่านทางจะต้องเสร็จพร้อมกัน”

คาดว่าในปีที่เปิดให้บริการคือปี 2566 จะมีปริมาณ​รถยนต์เฉลี่ย 48,000 คัน/วัน สามารถเก็บค่าผ่านได้เฉลี่ย 3 ล้านบาท/วัน โดยอัตราค่าผ่านทางกำหนดให้รถ 4 ล้อ เก็บที่ 10+2.5 บาท/กม., รถ 6 ล้อ 16+3.2 บาท/กม. และรถมากกว่า 6 ล้อขึ้นไป 23+4.6 บาท/กม.

ส่วนการเวนคืนที่ดินของโครงการ ได้จัดงบไว้ 640 ล้านบาท โดยพื้นที่ที่จะเวนคืนของโครงการมีอยู่ 2 จุด ได้แก่ 1. บริเวณด่านบางขุนเทียน​และด่านมหาชัย 1 เพื่อสร้างทางแยกต่างระดับ (Interchange)​ บริเวณด่านดังกล่าว คิดเป็นค่าเวนคืน 300 ล้านบาท และจุดที่ 2 ปั้มน้ำมันและพื้นที่ว่างใกล้กับด่านสมุทรสาคร 1 รวม 12 ไร่ เพื่อทำทางขึ้นลงของด่าน คิดเป็นค่าเวนคืนประมาณ 340 ล้านบาท

ในส่วนของช่วง 10 กม.แรกที่ ทล.จะก่อสร้างนั้น นายอานนท์กล่าวว่า ดำเนินการตามขั้นตอนราชการปกติ โดยจะเปิดประมูลในช่วงเดือน พ.ย. และจะได้ผู้รับจ้างประมาณปลายเดือน ธ.ค.2561 ถึงต้นเดือนม.ค. 2562 เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกชนที่เข้าร่วม มีจำนวนรวมรวม 19 ราย เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสถาบันการเงินอย่างธนาคารจีนและญี่ปุ่นเข้ามาร่วมฟังด้วย เช่น Bank of China และธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น เป็นต้น