คมนาคมเฟ้นโครงการใหญ่ เร่งสร้างจุดพักรถ-สนามบิน

คมนาคมเข็น 31 โปรเจ็กต์หลุดโค้งปี”61 บรรจุแผนลงทุนด่วนปี”62 ปลุกลงทุนต่อเนื่อง อัดเพิ่ม 12 โครงการใหม่ เร่งเครื่องที่พักริมทางมอเตอร์เวย์ 3 สาย จุดพักรถศรีราชา ไทยแลนด์ริเวียร่า ชุมพร-สงขลา ส่วนต่อขยายด่วนบางนา เส้นทางเดินเรือเฟอรี่บูมเที่ยวเกาะสมุย ปรับโฉมท่าช้าง-ท่าเตียน เดินหน้าพัฒนาสนามบินตรัง โคราช เชียงใหม่ ดอนเมือง ยันทุกโครงการเดินหน้าไม่ถูกรื้อหลังเลือกตั้ง

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำลังคัดเลือกโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทยปี 2558-2565 จัดทำเป็นแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วน หรือ Action Plan 2562 เพื่อให้การขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีความต่อเนื่องในระยะต่อไป และเพื่อให้หน่วยงานใช้เป็นแนวทางการดำเนินโครงการต่อไป

เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกโครงการ อาทิ เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท หรือเป็นโครงการที่มีผลประโยชน์เชิงโลจิสติกส์หรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2562 เป็นโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการ เช่น มีผลการศึกษาความเหมาะสม ทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หรือการออกแบบรายละเอียด เป็นโครงการที่มีความพร้อม สามารถนำเสนอให้หน่วยงานกลางพิจารณาได้ เช่น คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

นอกจากนี้ยังเป็นโครงการที่มีประโยชน์และได้รับความคาดหวังสูงจากประชาชน เป็นโครงการเดิมที่บรรจุในแผนเร่งด่วนปี 2560-2561 ที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายหรือยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง

“โครงการที่บรรจุในแผนเร่งด่วนปี 2562 มีเป้าหมายจะต้องเสนอให้บอร์ด PPP และคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ได้ เพื่อนำไปสู่การประมูลและเริ่มก่อสร้างได้”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การพิจารณาคัดเลือกโครงการเบื้องต้นของ สนข. มีประมาณ 43 โครงการ โดยอยู่ระหว่างเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา แบ่งเป็นโครงการที่ผลักดันต่อเนื่องปี 2559-2561 ประมาณ 31 โครงการ อาทิ โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม, มอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ, มอเตอร์เวย์ หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์, ส่วนต่อขยายโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน, ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต, จัดซื้อรถโดยสารดีเซล-ไฮบริด จำนวน 1,452 คัน และรถโดยสารไฟฟ้า จำนวน 35 คัน

Advertisment

รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, รถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, รถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย, ช่วงจิระ-อุบลราชธานี, ช่วงขอนแก่น-หนองคาย, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี, ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา, ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์, ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่, ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และช่วงบ้านไผ่-นครพนม รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์,

สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช, สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง, รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, รถไฟฟ้า จ.ภูเก็ต, รถไฟฟ้า จ.นครราชสีมาโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3, โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ, โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา

Advertisment

ส่วนโครงการใหม่ 12 โครงการ อาทิ โครงการที่พักริมทางมอเตอร์เวย์ สายพัทยา-มาบตาพุด, สายบางใหญ่-กาญจนบุรี, สายบางปะอิน-นครราชสีมา, โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา จ.ชลบุรี, โครงการไทยแลนด์ริเวียร่า เชื่อมเมืองรอง จ.ชุมพร-สงขลา, ส่วนต่อขยายทางด่วนบางนา-ชลบุรี เชื่อมต่อกับทางเลี่ยงเมืองชลบุรี

โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือเฟอร์รี่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี, โครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกท่าเรือท่าช้างและท่าเรือท่าเตียน, โครงการพัฒนาปรับปรุงสนามบิน จ.ตรัง และนครราชสีมา, โครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ระยะที่ 1 และสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การจัดทำแผนลงทุนเร่งด่วนปี 2562 จะเป็นโครงการที่ยังไม่สามารถผลักดันในปี 2561 ได้ และเป็นโครงการใหม่ที่สอดรับนโยบายการขับเคลื่อนการลงทุนของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส่วนที่หลายส่วนมีข้อกังวลว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในปี 2562 อาจจะรื้อโครงการต่าง ๆ นั้น ไม่ต้องกังวล เนื่องจากแผนงานต่าง ๆ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ทันที

“โครงการใน Action Plan นำมาจากแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย 2558-2565 หรือแผน 8 ปี มาบรรจุไว้ โดยกระทรวงยึดแผน 8 ปีนี้มาเป็นหลักในการบริหารอยู่แล้ว จึงไม่ต้องห่วงว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่ ที่เป็นขั้วตรงข้ามกับรัฐบาลนี้มาบริหารประเทศแล้วจะรื้อโครงการต่าง ๆ ทิ้ง”

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง จะเร่งรัดนำโครงการลงทุนของกระทรวงคมนาคมเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติทั้งหมด โดยเฉพาะรถไฟฟ้าจะเร่งรัดเส้นทางที่เหลือให้ได้รับการอนุมัติโครงการให้ครบ 10 เส้นทางตามแผนแม่บท อาทิ ส่วนต่อขยายสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา สายสีส้มตะวันตกศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ สายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ