การรถไฟเปิดไทม์ไลน์ ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน คาดเซ็นสัญญา 31 ม.ค.ปีหน้า

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)​ กล่าวว่า การเปิดให้เอกชนที่ซื้อซองเอกสาร เข้ายื่นซองเสนอราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)​ ระยะทาง​ 220​ กม. เงินลงทุนรวม 224,544.36 ล้านบาท ในวันนี้ ที่สำนักบริหารโครงการระบบรถไฟฟ้า มักกะสัน ตั้งแต่เวลา 09.00น.- 15.00 น.นั้น ปรากฎว่า มีเอกชนมายื่นซองเสนอราคาจำนวน 2 ราย ได้แก่

1. เวลา 11.11 น. กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) , บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) , บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (ประเทศไทย)

และ 2. เวลา 14.03 น. กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย) , บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ประเทศไทย)​ , China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) , บมจ. ช.การช่าง (ประเทศไทย) , บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (ประเทศไทย)

หลังจากนี้ ในวันพรุ่งนี้ (13 พ.ย.) จะทำการเปิดซองคุณสมบัติของทั้ง 2 บริษัท เพื่อตรวจสอบ จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ (13-19 พ.ย.) แล้วจะประกาศชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในซองนี้ ส่วนซองที่ 2 คุณสมบัติด้านเทคนิค จะใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 3 สัปดาห์ (20 พ.ย.-11 ธ.ค.) แล้วจึงประกาศผล จากนั้นจะตรวจสอบซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการเงิน จะใช้เวลาพิจารณาอีก 6 วัน (12 – 17 ธ.ค.) แล้วจะมีการเจรจาต่อรองเงื่อนไขกับผู้ที่ผ่านการพิจารณา (18 ธ.ค.2561-1 ม.ค. 2562) จากนั้นจะส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ (2-14 ม.ค. 2562)

เมื่ออัยการสูงสุดตรวจสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะนำเสนอผลการคัดเลือกต่อคณะกรรมการนโยบายเขต พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในช่วงกลางเดือน ม.ค.2562 และคาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ประมาณวันที่ 31 ม.ค. 2562

“ผู้ที่ชนะคือ ผู้ที่เสนอให้รัฐอุดหนุนการก่อสร้างน้อยที่สุด โดยกรอบที่รัฐบาลอนุมัติให้ร่วมทุนได้สูงสุดอยู่ที่ 119,425 ล้าน บาท ใครที่ให้รัฐออกเงินได้น้อยที่สุดก็ชนะไป”

ส่วนการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นกระบวนการภายหลังที่เอกชนที่ผ่านการพิจารณาจะต้องไปทำให้ผ่าน ก่อนเริ่มกระบวนการก่อสร้าง ไม่ส่งผลต่อการลงนามในสัญญา

หากว่ามีผู้ผ่านคุณสมบัติเพียงรายเดียว จะต้องหารือกับคณะกรรมการคัดเลือกก่อน เพื่อหารือว่าจะทำอบ่างไรต่อ โดยในทีโออาร์เปิดให้คณะกรรมการคัดเลือกเป็นผู้พิจารณาได้

ส่วนการหาพันธมิตรมาร่วมลงทุนในภายหลัง ขึ้นอยู่กับผู้ชนะ สามารถร้องขอได้ แต่ต้องมีเหตุผลประกอบ ส่วนการเปลี่ยแปลงสัดส่วนต้องยื่นขอมาที่ ร.ฟ.ท. ก่อน หากจะนำพันธมิตรที่ไม่ได้ซื้อซองมาร่วมสัดส่วนก็ต้องอธิบายเหตุผลมาให้ ร.ฟ.ท.ประกอบการพิจารณา แต่เอกชนที่ผ่านการคัดเลือกก็อาจจะนำพันธมิตรเข้าร่วมในฐานะผู้รับจ้างก็ได้ ไม่จำเป็นต้องร่วมทุน

ขณะที่การส่งมอบพื้นที่ อยู่ระหว่างการรางวัด คาดเดือนก พ.2562 จะแล้วเสร็จและส่งมอบได้ทั้งที่มักกะสันและศรีราชา ส่วน EIA ต้องให้เอกชนที่ผ่านการคัดเลือกออกแบบโครงสร้างของโครงการก่อน แล้วจึงเสนอเป็นรายงาน EIA ต่อไป