ศึกชิงไฮสปีด CP-BTS เดิมพันธุรกิจ เดิมพันประเทศ

แฟ้มภาพ

ไม่เหนือความคาดหมาย เมื่อ 2 ทุนยักษ์ “ซี.พี.-บีทีเอส” ตบเท้าเข้าร่วมกระดานประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อภิมหาโปรเจ็กต์ของประเทศ เม็ดเงินลงทุน 224,544 ล้านบาท

โปรเจ็กต์นี้ “รัฐบาลทหาร” คาดหวังจะเป็นแม่เหล็กดูดต่างชาติเข้ามาปักหมุดลงทุนในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่กำลังจุดพลุ เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และทรานส์ฟอร์มเศรษฐกิจไทยเชื่อมกับหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน

เพราะเป็นโครงการลงทุนใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ ใช้เงินลงทุนมหาศาล หากสำเร็จจะเป็นโครงการ 1 ในหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย 2 ยักษ์ใหญ่ที่มีศักยภาพทั้งทุน-คอนเน็กชั่นพิเศษ ย่อมไม่พ้นเงาของ 2 มหาเศรษฐีเมืองไทย “ธนินท์ เจียรวนนท์และคีรี กาญจนพาสน์” ที่อาสาสวมหัวใจสิงห์แจ้งเกิดตั้งแต่โครงการยังอยู่ในพิมพ์เขียว

แม้ “ซี.พี.-บีทีเอส” จะไม่มีประสบการณ์รถไฟความเร็วสูงมาก่อน แต่ด้วย “ศักดิ์ศรีและชื่อชั้น” หวังสร้างอนุสาวรีย์ทางเศรษฐกิจ 2 ยักษ์จึงไม่มีใครยอมถอย

หลังใช้เวลาร่วม 4 เดือน เจียระไนไส้ในทีโออาร์ที่มีเป็นหมื่น ๆหน้า เฟ้นหาพันธมิตรจากนานาชาติ “ซี.พี.-บีทีเอส” ได้เผยโฉมหน้าผู้ร่วมทุนตีตั๋วขบวนวันยื่นซองประมูล 12 พ.ย.ที่ผ่านมา

กลุ่มบีทีเอสยื่นในนามกิจการร่วมค้า BSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชันและ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง พันธมิตรเดิมที่ร่วมลงทุนโมโนเรลสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)

ส่วนกลุ่ม ซี.พี.มาฟอร์มใหญ่ ยื่นในนามกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บจ. เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC) จากจีน, บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)

ไม่เพียงเป็นเวทีประจันหน้า 2 ผู้ท้าชิงเค้ก ยังเป็นการประจันหน้าของ 2 ทายาทเจ้าสัว ระหว่าง “กวิน กาญจนพาสน์” บิ๊กบอสบีทีเอสกรุ๊ป และ “ศุภชัย เจียรวนนท์” บิ๊กบอส ซี.พี.ที่เป็นผู้นำทีมยื่นซองประมูลด้วยตัวเอง

วันนั้นทั้ง 2 กลุ่มใช้ฤกษ์ดียื่นซอง “บีทีเอส” ถือฤกษ์ 11.11 ส่วนซี.พี.ก่อนยื่นซอง ตอนเช้า “ศุภชัย” นำทีมคณะผู้บริหาร กราบสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ก่อตั้งกรมรถไฟ เพื่อสานต่อพระราชปณิธาน ในการพัฒนาการรถไฟให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรและเศรษฐกิจให้กับคนไทยทั้งชาติ

“ศุภชัย” กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นโครงการที่สร้างความมั่นใจและการสนับสนุนโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและเชื่อมโยงนโยบายอีอีซีที่เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ ที่จะเปิดให้ต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทย

“โครงการนี้ ซี.พี.เป็นแกนนำหลักในการลงทุน ถือหุ้น 70% ช.การช่างและ BEM 15% CRCC 10% และอิตาเลียนไทย 5% ยังมีพันธมิตรที่แสดงความจำนงที่จะร่วมลงทุนอีก แต่อาจจะต้องรอให้เราชนะประมูลก่อน”

โดยพันธมิตรใหม่จะมาเติมเต็มให้โครงการสำเร็จ ที่ “ศุภชัย” ไล่เรียง มีทั้งพันธมิตรร่วมค้าและเชิงกลยุทธ์จากทั่วโลก มีธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และกองทุน JOIN จากประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนทางการเงิน, ซิติกกรุ๊ป, ไชน่า รีสอร์ซ และ CRRC-Sifang จากจีนบริษัท Ferrovie dello Stato Italiane จากอิตาลี สนใจลงทุนการเดินรถและงานบำรุงรักษา, กลุ่มฮุนไดจากเกาหลี และซีเมนส์ จากเยอรมนี จะร่วมจัดหาขบวนรถ รวมถึง ปตท. ต้องการชวนมาร่วมลงทุนด้วย เนื่องจากโครงการมีการลงทุนหลายส่วน ยังมีงานพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่สถานีมักกะสันและศรีราชา

“การลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานได้ผลตอบแทนไม่สูง แต่ระยะยาวจะมีความมั่นคง อีกทั้งเป็นการลงทุนแบบ PPP คิดว่าการสนับสนุนและนโยบายจากภาครัฐในภาพรวม โดยมีอีอีซีเป็นฐาน จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับโครงการต่าง ๆ เช่น สนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงสายเหนือและอีสาน ทำให้โครงการต่าง ๆ มีความมั่นคงไปด้วย” นายศุภชัยกล่าวและว่า

“การพัฒนาเชิงพาณิชย์จะพัฒนาสถานีมักกะสัน 150 ไร่ ให้เต็มประสิทธิภาพ ให้เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงจะทำงานกับท้องถิ่น ชุมชน ในแนวเส้นทาง จะใส่ในซองที่ 4 (ข้อเสนอเพิ่มเติม) แล้ว เราต้องการทำงานกับชุมชนและพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนและเสนอให้ผู้พิการเดินทางฟรีตลอดชีวิต”

ฟากบีทีเอสถึงจะมีพันธมิตรน้อยราย แต่พกความมั่นใจมาเต็มร้อย โดย “สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการ บมจ.บีทีเอสกรุ๊ปโฮลดิ้งส์ กล่าวว่า โครงการนี้บีทีเอสถือหุ้น 60% ซิโนไทยฯและราชบุรีโฮลดิ้งถือคนละ 20% สำหรับระบบรถอาจจะใช้ของพันธมิตรทวีปยุโรป

“เราใช้เวลา 4-5 เดือนศึกษาโครงการ พบว่ามีความเป็นไปได้จะลงทุน แต่ต้องพัฒนาเชิงพาณิชย์ด้วย ซึ่งเราได้ยื่นเป็นข้อเสนอซองที่ 4 ด้วย เพราะมีพาร์ตเนอร์เป็นผู้รับเหมาระดับประเทศ มีประสบการณ์เดินรถไฟฟ้ามา 19 ปี แม้ครั้งนี้จะเป็นรถไฟความเร็วสูง แต่ในหลักการไม่ต่างกันมาก ส่วนที่ ซี.พี.มีพันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศไม่ได้สร้างความหนักใจกับบีทีเอส หากเราได้งานจะกระจายงานให้ผู้รับเหมารายอื่นด้วย เพราะเป็นโครงการใหญ่”

วงการผู้รับเหมายักษ์จับตาไม่กะพริบ กระซิบผ่าน “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มที่มีความเป็นไปได้สูงคือ กลุ่ม ซี.พี. ถึงจะไม่มีประสบการณ์รถไฟฟ้า แต่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นทางการเมือง มีเงินทุนหนา และมีพันธมิตรใหญ่ทั้งอิตาเลียนไทยและ ช.การช่าง มีประสบกาณ์สร้างรถไฟฟ้าหลายสาย

“ยังได้ CRCC ผู้ผลิตระบบและยักษ์ก่อสร้างจากจีน คาดว่า ซี.พี.จะใช้ระบบรถไฟของจีน และมีบริษัทยุโรปอย่างอิตาลีและฝรั่งเศสเป็นพี่เลี้ยงโครงการ ส่วน BEM จะรับช่วงบริหารโครงการต่อในระยะยาว อีกทั้ง ซี.พี.ยังมีที่ดินหลายแปลงที่รอพัฒนา เช่น สถานีฉะเชิงเทรา ที่มีแผนจะพัฒนาเมืองใหม่ 10,000 ไร่”

“ส่วนบีทีเอสก็มีความตั้งใจจริง เคยบริหารรถไฟฟ้ามาก่อน จะรู้ว่าจะลดต้นทุนโครงการได้จากไหน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาที่แต่ละรายเสนอ ใครที่ให้รัฐอุดหนุนค่าก่อสร้างไม่เกิน 119,425 ล้านบาท จะได้เป็นผู้ชนะ”

จนกว่าจะถึงสิ้นเดือน ม.ค. 62 จึงจะเห็นโฉมหน้าผู้ชนะ


เสร็จศึกประมูลไฮสปีดอีอีซี ยังมีคิวประมูลของท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ท่าเรือมาบตาพุด เมืองการบินอู่ตะเภา ที่กำลังจะลั่นกลองรบให้จบก่อนเสียงเลือกตั้งจะดังขึ้น