“คมนาคม” ส่งสัญญาณขึ้นค่าโดยสารรถร่วม ขสมก. 3 บาท หลังปีใหม่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการรถเอกชนร่วมบริการ ขสมก. (รถร่วมฯ) วันนี้ (19 พ.ย.) ว่ากระทรวงคมนาคมเห็นใจผู้ประกอบการรถร่วมฯ เพราะผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนบุคลากร ค่าซ่อมบำรุง และมาตรการช่วยอุดหนุนราคาก๊าซธรรมชาติ (NGV) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็กำลังจะหมดลงในเดือนพฤษภาคม 2562

กระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นำข้อเสนอขอปรับขึ้นค่าโดยสารของผู้ประกอบการทั้ง 3 ประเด็น ไปเสนอให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางพิจารณาภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2561 โดยคณะกรรมการฯ มีอำนาจพิจารณาว่าควรปรับขึ้นค่าโดยสารหรือไม่ ควรปรับในอัตราเท่าไหร่ และควรดำเนินการเมื่อไหร่ ซึ่งถ้าหากคณะกรรมการฯ อนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสาร กลุ่มรถร่วมฯ ก็ควรดำเนินการหลังเทศกาลปีใหม่ 2562 เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในช่วงนี้

อย่างไรก็ตาม รถร่วมฯ ถือเป็นบริการสาธารณะ จึงไม่ใช่ธุรกิจที่ต้องได้ผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ โดยอาจมีกำไรบ้าง เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ นอกจากนี้ได้หารือกับผู้ประกอบการว่า ต้องปรับปรุงบริการในภาพรวมให้ดีขึ้น มีการติดตั้งระบบอี-ทิคเก็ต, จีพีเอส และปรับปรุงมารยาทพนักงานบนรถ ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการรถร่วมฯ และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ก็พร้อมให้ความร่วมมือ

นายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชน เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการรถร่วมฯ พอใจกับผลประชุมครั้งนี้ โดยถ้าหากที่ประชุมคณะกรรมการขนส่งทางบกอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารตามข้อเสนอ ผู้ประกอบการรถร่วมฯ ก็อาจจะปรับขึ้นค่าโดยสารในวันที่ 5 หรือ 6 มกราคม 2562 และพร้อมยกระดับบริการให้ดีขึ้นภายในระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้ต้องการให้กระทรวงคมนาคมเข้ามาดูช่วยแผนธุรกิจ ตั้งแต่เรื่องต้นทุน ความคุ้มค่า และช่วงเวลาการคืนทุนเหมือนธุรกิจขนส่งมวลชนอื่นๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ประกอบการกล้าลงทุนและสามารถอยู่รอดได้

นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า ยอมรับว่าตอนนี้คุณภาพของรถร่วมฯ อยู่ในเกณฑ์ต่ำ เพราะผู้ประกอบการไม่มีทุนไปพัฒนา ซึ่งถ้าหากได้รับการปรับขึ้นค่าโดยสารก็จะนำเงินไปปรับปรุงสภาพรถและพัฒนาคุณภาพบริการให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับข้อเสนอขอปรับขึ้นค่าโดยสารมีทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ 1) ขอปรับค่าโดยสารรถเมล์ร้อน จาก 9 บาทตลอดสาย เป็น 12 บาทตลอดสาย 2) รถเมล์ปรับอากาศ (รถเมล์แอร์) จาก 13 บาทเป็น 15 บาท พร้อมปรับเพิ่มระยะทางละ 2 บาท และ 3) รถเมล์ใหม่ที่จะเข้าสู่โครงการปฏิรูป ขอให้จัดเก็บค่าโดยสารเริ่มต้น 20 บาทใน 4 กิโลเมตรแรก และระยะต่อไปให้จัดเก็บ 25 บาท โดยมีแค่ 2 อัตราเท่านั้น

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ผลการศึกษาเรื่องอัตราค่าโดยสารของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เสนอแนะว่าควรปรับขึ้นค่าโดยสารให้รถใหม่ แต่ไม่ได้ระบุว่าควรปรับค่าโดยสารรถเก่าอย่างไร ดังนั้นจึงต้องเป็นอำนาจตัดสินใจของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ที่มีนายกฤชเทพ สิมลี รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน แต่เบื้องต้นมีแนวโน้มว่าจะมีการปรับขึ้นค่าโดยสารให้กลุ่มรถร่วมฯ เพราะผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้นจริง โดยเฉพาะรถเมล์ที่วิ่งเส้นทางระยะไกลมากกว่า 30 กิโลเมตร ซึ่งต้องแบกรับต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีมากกว่าผู้ประกอบการในเส้นทางสายสั้น

 


ที่มา : มติชนออนไลน์