การรถไฟฯผงะพบผู้บุกรุกที่ดินย่านสถานีแม่น้ำ 86 ไร่ เผยบริษัทใหญ่แอบสร้างแคมป์คนงาน

คณะทํางานเฉพาะกิจเพื่อดําเนินการกับผู้บุกรุกหรือรุกล้ำที่ดินรถไฟ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยลงตรวจที่ดินย่านสถานีแม่น้ำพบผู้บุกรุกหรือรุกล้ำ 86 ไร่ เทียบเท่ากับ 1 ใน 3 ของที่ดินทั้งหมด

และได้เร่งผลักดันผู้บุกรุกออกจากพื้นที่ พร้อมดำเนินคดีกฎหมายอย่างเด็ดขาด หลังพบบริษัทขนาดใหญ่บุกรุกสร้างห้องพักคนงาน ทำเป็นจุดจำหน่ายทราย และแหล่งทิ้งขยะขนาดใหญ่ แต่ยืนยันไม่กระทบต่อชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่

ตามที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย มีมติให้การรถไฟฯ เร่งดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีแม่น้ำ ได้ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุน ในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ซึ่งจะต้องเริ่มดําเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีแม่น้ำภายในกําหนดเวลา 2 ปี

โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดําเนินการโครงการและเป็นการป้องกันปัญหาผู้บุกรุกเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ย่านสถานีแม่น้ำ โดยผู้ที่มีสัญญาเช่ากับการรถไฟฯ เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุด ห้ามไม่ให้ต่อสัญญาเช่าอีก และให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ยื่นเรื่องขอเช่า แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เช่า และผู้เข้าใช้ประโยชน์โดยไม่มีหนังสือขอเช่าในที่ดินย่านสถานีแม่น้ำ พร้อมกับผลักดันผู้บุกรุกออกจากพื้นที่โดยด่วน รวมถึงให้พิจารณาว่าจ้างสํานักงานทนายความจากภายนอก เพื่อเร่งดําเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่งกับผู้ที่บุกรุกที่ดิน

นายสมยุทธิ์ เรือนงาม รองผู้อํานวยการด้านปฏิบัติการ ฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทํางานเฉพาะกิจเพื่อดําเนินการกับผู้บุกรุกหรือรุกล้ำที่ดินรถไฟ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการรถไฟฯ ได้มีนโยบายในการแก้ปัญหาการบุกรุกหรือรุกล้ำที่ดินของการรถไฟฯ ย่านสถานีแม่น้ำ ล่าสุด คณะทํางานเฉพาะกิจเพื่อดําเนินการกับผู้บุกรุกหรือรุกล้ำที่ดินรถไฟ ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยจัดประชุมและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้มีการลงตรวจที่ดินย่านสถานีแม่น้ำ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสถานีแม่น้ำ ถนนเชื้อเพลิง แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 25-31 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา

ปรากฏผลดังนี้ ที่ดินย่านสถานีแม่น้ำของการรถไฟฯ ตามโฉนด มีเนื้อที่ทั้งหมด 260 ไร่ 1 งาน 7 ตารางวา พบพื้นที่บุกรุกหรือรุกล้ำเนื้อที่ประมาณ 86 ไร่ 35 ตารางวา หรือคิดเป็น 137,740 ตารางเมตร เท่ากับร้อยละ 33 ของที่ดินทั้งแปลง

ทั้งนี้ มีผู้บุกรุกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทผู้ประกอบการรายใหญ่ที่บุกรุกพื้นที่โดยไม่มีสัญญาเช่า มีประมาณ 38 ราย กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มบริษัทรายใหญ่มีสัญญาเช่า 19 ราย ซึ่งทยอยหมดอายุสัญญาเช่าในปี 2562 และกลุ่มที่สามผู้บุกรุกที่เป็นชาวบ้านแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือคนทำงานให้กับบริษัทผู้ประกอบการรายใหญ่ในพื้นที่และสร้างบ้านพักอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว และกลุ่มที่สองคือกลุ่มชาวบ้านผู้บุกรุกทั่วไป

สำหรับแนวทางการดำเนินการกับผู้บุกรุกพื้นที่นั้น การรถไฟฯ ได้รวบรวมพยานหลักฐานแจ้งความ
ร้องทุกข์ไว้แล้ว 12 ราย เป็นบุคคลธรรมดา 4 ราย และนิติบุคคล 8 ราย เพื่อดำเนินคดีทางแพ่ง เรียกค่าเสียหายกับผู้บุกรุก โดยจะมีการดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของการรถไฟฯ และปกป้องดูแลสมบัติของประเทศอย่างเคร่งครัด ส่วนผู้ที่มีสัญญากับการรถไฟฯ และใกล้หมดสัญญา จะไม่มีการขยายสัญญาให้อีก ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีแม่น้ำเพื่อนำเงินรายได้มาพัฒนาปรับปรุงในด้านการให้บริการแก่ประชาชนต่อไป