ขาดแคลนหนัก! ปีหน้าการรถไฟฯ รับคนเพิ่ม 1,904 อัตรา รับรถไฟทางคู่-ไฮสปีดเทรน

การรถไฟฯ เร่งดำเนินการตามมติของคณะรัฐมนตรี ปรับกรอบอัตรากำลังและแผนการสรรหาในระยะ 10 ปี เพื่อเปิดสรรหาพนักงานใหม่ 1,904 อัตรา ให้ได้ในปี 2562 รองรับการให้บริการโครงการรถไฟทางคู่
พร้อมเร่งพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่พนักงานการรถไฟฯ ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มความปลอดภัย การถ่ายทอดองค์ความรู้เทคนิครถไฟเฉพาะทาง

สืบเนื่องมาจากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี 28 กรกฎาคม 2541 ให้สามารถรับพนักงานได้ในกรอบอัตรากำลัง ให้มีผลตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 พร้อมให้การรถไฟฯ จัดทำแผนฟื้นฟู โครงสร้างอัตรากำลัง การใช้เทคโนโลยี และเรื่องต่าง ๆ เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติอีกครั้ง

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรถไฟฯ จะเร่งดำเนินการตามมติของคณะรัฐมนตรี ในการพิจารณาปรับกรอบอัตรากำลัง และแผนการสรรหาในระยะ 10 ปี ให้มีความสอดรับกับข้อเท็จจริง และนำกรอบอัตรากำลังฯ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพร้อมกับแผนฟื้นฟูกิจการการรถไฟแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2561 – 2570) ให้พิจารณาความเหมาะสมของอัตรากำลังในภาพรวม เพื่อให้สามารถดำเนินการสรรหาเปิดรับพนักงานในปีแรกจำนวน 1,904 อัตราให้ได้ภายในปี 2562

“การที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพิ่มกรอบอัตรากำลังพนักงาน ถือเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานที่สำคัญของการรถไฟฯ เป็นอย่างมาก”

เนื่องจากผลจากมติคณะรัฐมนตรีในอดีตเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 ที่กำหนดให้รับพนักงานใหม่ได้ไม่เกิน 5% ของผู้เกษียณอายุเพื่อแก้ปัญหาขาดทุน ส่งผลให้ปัจจุบัน การรถไฟฯขาดพนักงานปฏิบัติงาน รวมกว่า 8,000 อัตรา จนส่งผลกระทบให้มีจำนวนพนักงานไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน

อีกทั้งยังต้องมีค่าใช้จ่ายค่าทำงานล่วงเวลาสูง โดยอัตรากำลังพนักงานที่มีความขาดแคลน และจำเป็นต้อง
มีการพิจารณาเร่งเปิดรับอย่างเร่งด่วนจะมีด้วยกันหลายหน่วย อาทิ พนักงานหน่วยธุรกิจการเดินรถ หน่วยธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน”

นอกจากนี้การปรับเพิ่มอัตรากำลังพนักงาน ยังเป็นการรองรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 8 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2558-2564 ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งปัจจุบันการรถไฟฯ ได้มีการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ไปแล้ว 7 โครงการ ระยะทาง 993 กิโลเมตร คิดเป็นวงเงินลงทุนรวมกว่า 213,100.41 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการทยอยก่อสร้างเสร็จ และเปิดใช้บริการได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

ตลอดจนรองรับการลงทุนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ในอนาคต ที่มีแผนลงทุนเพิ่มเติม รถไฟทางคู่ ระยะที่สองอีก 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,851 กิโลเมตร ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

ทั้งนี้ การรถไฟฯได้ตระหนักถึงความสำคัญในการมุ่งพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการเดินรถ
แก่พี่น้องประชาชนคนไทย โดยนอกจากการเร่งพิจารณาปรับกรอบอัตราพนักงานใหม่แล้ว ยังมีการเร่งพัฒนา
เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่พนักงานรถไฟในปัจจุบันให้เพิ่มมากขึ้นด้วย
เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงาน ทั้งในด้านความปลอดภัย การให้บริการในการเดินรถ ตลอดจนการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้เทคนิครถไฟเฉพาะทาง เพื่อตอบสนองต่อตัวชี้วัด และแผนฟื้นฟูการรถไฟฯ ด้วย