“ไอคอนสยาม”ทุ่มเชื่อมรถ-ราง-เรือ 3 พันล. บูมเมืองใหม่ฝั่งธนเร่งเปิดรถไฟฟ้าสายสีทอง

ไอคอนสยาม
“ไอคอนสยาม” ทุ่มกว่า 3 พันล้านบูรณาการโครงข่ายคมนาคม “รถ-ราง-เรือ” เชื่อมโครงการ บูมเมืองใหม่ฝั่งธนบุรี รับมือปัญหา จราจร กทม.เร่งสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองเฟสแรก ระยะทาง 1.7 กม. จากบีทีเอสกรุงธนบุรี-คลองสาน เปิดหวูดปลายปี”62 ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย ส่วนเฟส 2 คลองสาน-ประชาธิปก ยังไม่มีผู้ลงทุน รอความชัดเจนสายสีแดงและสีม่วงใต้ กรมเจ้าท่าเท 40 ล้าน ปรับโฉม 8 ท่าเรือหนุนอีกแรง

 

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวในงานสัมมนา “Thailand 2019” ตอนหนึ่งว่า การพัฒนาโครงการไอคอนสยาม ที่ร่วมกับบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) โครงการมิกซ์ยูส มูลค่า 54,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 50 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เท่ากับเป็นการพัฒนาเมืองใหม่ที่ฝั่งธนบุรี ท่ามกลาง 13 ชุมชนเดิมที่อยู่โดยรอบ ดังนั้น จึงต้องคิดถึงผลกระทบ การเปลี่ยนแปลง การจราจรที่จะเกิดขึ้น

ทุ่มเชื่อมรถ-ราง-เรือ

โดยใช้เงินลงทุนมากกว่า 3,000 ล้านบาท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง “รถ-ราง-เรือ” เชื่อมเข้ากับโครงการ อาทิ ลงทุน 2,000 ล้านบาท สร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีทอง พัฒนาท่าเรือ 4 ท่า วงเงิน 500 ล้านบาท ที่ทุกคนสามารถใช้จอดได้ เพื่อสร้างความสะดวกให้กับประชาชนที่เดินทางมายังไอคอนสยาม และบรรเทาปัญหารถติดบนถนนเจริญนคร

“ขอบคุณคุณคีรี กาญจนพาสน์ ที่เสนอแนะให้สร้างรถไฟฟ้าสายทอง เพื่อทำเป็นระบบฟีดเดอร์ไลน์ เชื่อมรถไฟฟ้า 3 สาย คือ สายสีเขียว (บีทีเอส) สายสีแดง และสายสีม่วงใต้ในอนาคต ซึ่งได้ขอกู้แบงก์เพิ่มเพื่อลงทุนฟีดเดอร์ไลน์ โดยเราให้เงินทุนสนับสนุน กทม. ดำเนินการผ่านกรุงเทพธนาคม จริง ๆ สายสีทองจะต้องสร้างเสร็จก่อนที่ไอคอนสยามจะเปิด ถึงจะใช้เวลานานแต่เราก็ภูมิใจ และอนาคตแนวเส้นทางจะไปถึงประชาธิปก เชื่อมกับสายสีม่วงใต้” นางชฎาทิพกล่าวและว่า

กัน 5 ไร่ปอดคนกรุง

“การมาของไอคอนสยาม คือ การเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาพักผ่อน มาใช้บริการ ซึ่งเราได้กันพื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 5-6 ไร่ จัดเป็นพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำ”

นอกจากนี้ ยังสร้างจุดเชื่อมต่อการคมนาคมทางน้ำเพื่อบรรเทาการจราจรทางน้ำ โดยร่วมกับผู้ประกอบการท่าเรือ 73 แห่ง ในระยะทาง 10 กม. ปรับปรุงท่าเรือใหม่ให้สวยงามและปลอดภัย โดยไอคอนสยามได้จ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษารายละเอียดโครงการ และทำงานร่วมกับกรมเจ้าท่า (จท.)มา 2 ปี พร้อมกับส่งมอบผลศึกษาให้กรมเจ้าท่า เพื่อใช้เป็นแผนพัฒนาท่าเรือต่าง ๆ และกรมเจ้าท่าได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2562 ปรับปรุงแล้ว

ไอคอนสยาม

รถไฟฟ้าสายสีทองคืบ 10.54%

นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) วิสาหกิจกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปิดบริการไอคอนสยาม เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ต้องเร่งรัดผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองระยะแรก 1.7 กม. จากบีทีเอสกรุงธนบุรี-คลองสานให้เสร็จโดยเร็ว มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสกรุงธนบุรี วิ่งไปตามถนนกรุงธนบุรี เลี้ยวเข้าถนนเจริญนคร ผ่านวัดสุวรรณ จากนั้นแนวเส้นทางเกาะไปตามถนนเจริญนคร ถนนเจริญรัถ จนถึงแยกคลองสาน และสิ้นสุดบริเวณหน้าโรงพยาบาลตากสิน

โดยมี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง และมี บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นผู้ติดตั้งและจัดหาระบบพร้อมรับจ้างเดินรถให้เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยบีทีเอสเสนอใช้ระบบอาณัติสัญญาณ และรถไฟฟ้าของบอมบาร์ดิเอร์ รุ่นอินโนวา 300 จำนวน 2 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ รวม 6 ตู้ เป็นระบบขนส่งมวลชนนำทางอัตโนมัติ (AGT) ระบบล้อยาง ควบคุมการเดินรถด้วยระบบคอมพิวเตอร์แบบไร้คนขับ ซึ่งรถ 1 ตู้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 80-100 คน และต่อพ่วงได้ถึง 6 ตู้ วิ่งด้วยความเร็ว 3 นาทีต่อขบวน

ปัจจุบันภาพรวมงานก่อสร้างโครงการอยู่ที่ 10.54% มีผลงานก่อสร้างงานโยธา 4.99% และงานระบบเดินรถ 18.28% ตามแผนจะสร้างเสร็จพร้อมเปิดบริการปลายปี 2562 จะเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย มี 3 สถานี ได้แก่ 1.สถานีกรุงธนบุรี เชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส 2.สถานีเจริญนคร (ไอคอนสยาม) อยู่บริเวณเจริญนคร 6 บริเวณสะพานข้ามคลองวัดทองเพลง และ 3.สถานีคลองสาน อยู่เยื้องกับโรงพยาบาลตากสิน มีทางเดิน หรือ sky walk เดินทางเข้าสู่โรงพยาบาลตากสินได้ และจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (หัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย) ในอนาคต

เร่งสร้างเสร็จเร็วขึ้น

“จะให้นักศึกษาด้านระบบรางของมหาวิทยาลัยนวมินทร์สังกัด กทม. มาช่วยอิตาเลียนไทยและบีทีเอสดูเรื่องการก่อสร้างและงานระบบต่าง ๆ เพื่อให้งานสามารถเดินหน้าได้เร็วขึ้น”

นายมานิตกล่าวอีกว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีทองระยะแรก ทางไอคอนสยามเป็นผู้สนับสนุนวงเงินลงทุนโครงการ 2,080 ล้านบาท ด้วยการซื้อพื้นที่โฆษณาภายในสถานีเป็นระยะเวลา 30 ปี มีสถานีอยู่หน้าไอคอนสยาม โดยสร้างสกายวอล์กเชื่อมเข้าโครงการ รวมถึงโครงการหอชมเมืองที่อยู่ติดกันอีกด้วย

เฟส 2 รอสายสีแดง-สีม่วงใต้

ส่วนการสร้างระยะที่ 2 เป็นส่วนต่อขยายเริ่มจากโรงพยาบาลตากสิน-วัดอนงคารามวรวิหาร ระยะทาง 0.9 กม. มี 1 สถานี ได้แก่ สถานีประชาธิปก อยู่บริเวณซอยสมเด็จเจ้าพระยา 6 กับซอยสมเด็จเจ้าพระยา 8 อนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ตามแผนจะดำเนินการระยะถัดไป ใช้เงินลงทุน 1,333 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดการก่อสร้าง และผู้ที่จะลงทุนก่อสร้างโครงการ เนื่องจากไอคอนสยามร่วมกับ กทม.แค่ระยะแรก อีกทั้งยังไม่ได้ออกแบบรายละเอียดและต้องรอความชัดเจนของสายสีแดงและสีม่วงใต้ที่จะสร้างไปเชื่อมต่อด้วย

ทุ่ม 40 ล้านปรับโฉมท่าเรือรับ

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า กรมได้รับแผนพัฒนาท่าเรือจากไอคอนสยามแล้ว ซึ่งทางไอคอนสยามได้ปรับปรุงท่าเรือทั้งหมด 5 ท่า แยกเป็นท่าเก่า 2 ท่า และท่าสร้างใหม่ 3 ท่า บริเวณหน้าโครงการ ทั้งนี้ ไอคอนสยามเสนอจะปรับปรุงท่าเรือสาทร ท่าดินแดง และท่าราชวงศ์ใหม่ โดยจะออกเงินให้ที่ท่าสาทร เช่น สร้างโป๊ะ และศาลาที่พักผู้โดยสารใหม่ ขนาด 72 ตารางเมตร


ส่วนที่เหลือกรมจะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งในปี 2562 กรมได้รับงบประมาณจำนวน 40 ล้านบาท ปรับปรุงพัฒนา 8 ท่า ได้แก่ ท่าสาทร ท่าดินแดง ท่าราชวงศ์ ท่าโอเรียนเต็ล ท่าราชินี ท่าสี่พระยา ท่าเทเวศร์ และท่าน้ำนนท์ เช่น ปรับปรุงพื้นที่ท่าเทียบเรือให้เป็นทางเรียบและที่พักผู้โดยสารใหม่ โดยใช้แบบที่ไอคอนสยามเป็นผู้ออกแบบไว้ให้