ดึงเอกชนบริหารสถานีกลางบางซื่อ “ซีพี-ไมเนอร์-แบล็คแคนยอน”ยึดสนามบิน

สถานีกลางบางซื่อ
ใหญ่สุดในภูมิภาคอาเซียน - สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่ ร.ฟ.ท.กำลังเร่งเดินหน้าก่อสร้างเพื่อให้ทันเปิดใช้ ภายในเดือน ม.ค. 2564 ด้วยเป็นสถานีรถไฟมีพื้นที่ใช้สอยใหญ่ที่สุด น้อง ๆ สนามบินสุวรรณภูมิ ล่าสุดเตรียมจะเปิดให้เอกชนมาบริหารพื้นที่ ทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่จอดรถ
นับถอยหลังเปิดหวูดรถไฟฟ้าสายสีแดง ม.ค. 2564 ร.ฟ.ท.เร่งหาเอกชนมืออาชีพบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ 3 แสน ตร.ม. ศูนย์กลางเดินทางด้านระบบรางใหญ่สุดในอาเซียน เผยเปิดพื้นที่ 7,000 ตร.ม.ผุดฟู้ดคอร์ด ร้านค้า รับผู้โดยสาร ด้าน “ซีพีฯ-ไมเนอร์ฯ-แบล็คแคนยอน” บุกสนามบินภูธร ประเดิมแม่สอด อุดรธานี คิวต่อไปลุ้นอุบลราชธานี ส่วนเอไอเอสยึดหัวหาด free WiFi 28 แห่ง

 

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้บริษัทที่ปรึกษาประเมินค่าใช้จ่ายในการบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ มีพื้นที่ใช้สอย 264,862 ตารางเมตร และจัดทำทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลหาเอกชนมาบริหารจัดการพื้นที่ทั้งหมด และแบ่งผลตอบแทนให้ ร.ฟ.ท.

พื้นที่เชิงพาณิชย์ 7 พัน ตร.ม.

เช่น พื้นที่เชิงพาณิชย์ 7,000 ตารางเมตร จะทำเป็นฟู้ดคอร์ต ร้านค้า ห้องน้ำ ที่จอดรถ การรักษาความปลอดภัย เพื่อรองรับผู้มาใช้บริการสถานีกลางบางซื่อที่จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางของระบบราง ทั้งรถไฟสายสีแดง รถไฟชานเมือง รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูง

“พื้นที่สถานีกลางบางซื่อใหญ่น้อง ๆ สนามบินสุวรรณภูมิ กระทรวงจึงให้ ร.ฟ.ท.ใช้โมเดลของสุวรรณภูมิมาเป็นต้นแบบ โดยเปิดให้เอกชนเป็นมืออาชีพรายเดียวบริหารพื้นที่ที่ไม่ไช่พื้นที่รายได้ ไม่ต้องแบ่งประมูลทีละสัญญา และไม่ต้องใช้กฎหมายร่วมทุนด้วย เป็นการจ้างดำเนินการ ส่วน ร.ฟ.ท.จะดำเนินการในส่วนที่เป็นรายได้ เช่น ป้ายโฆษณา”

ดึงเอกชนมืออาชีพบริหาร

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ต้องเร่งหาเอกชนมาดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพื่อรองรับการเปิดบริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ในเดือน ม.ค. 2564 ซึ่งงานก่อสร้างโดยภาพรวมช่วงบางซื่อ-รังสิต 26 กม. 10 สถานี ใช้เงินก่อสร้าง 93,950 ล้านบาท ผลงานทั้ง 3 สัญญาถึง 25 ต.ค.ที่ผ่านมา

สัญญาที่ 1 งานโยธาสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง เริ่มงานเมื่อ 10 ก.พ. 2556 ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ, สถานีจตุจักร, ทางรถไฟยกระดับ, ศูนย์ซ่อมบำรุง, และถนนเลียบทางรถไฟ และถนนทางข้าม มีความคืบหน้า 77.37%

สัญญาที่ 2 งานทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต เริ่มงานเมื่อ 10 ก.พ. 2556 ประกอบด้วย ทางรถไฟยกระดับและทางรถไฟระดับดิน 8 สถานี, ถนนเลียบทางรถไฟ, สะพานกลับรถ, สะพานข้ามทางรถไฟ และระบบระบายน้ำ มีความคืบหน้า 99.44%

และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล สำหรับรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต เริ่มงานเมื่อ 28 มิ.ย. 2559 คืบหน้า 38.24% ใช้ขบวนรถไฟฟ้าของฮิตาชิ แบ่งเป็น 6 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสาร 1,710 คน/เที่ยว และ 4 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสาร 1,120 คน/เที่ยว อยู่ระหว่างประกอบตัวรถ ลอตแรกจะถึงประเทศไทยในเดือน ส.ค. 2562 ตามแผนจะส่งมอบได้ทั้งหมดภายในเดือน มิ.ย. 2563 ใช้เวลาทดสอบระบบ 6 เดือน พร้อมเปิดเดินรถในเดือน ม.ค. 2564 มีผู้โดยสาร 80,000 คน/วัน และใน 5 ปีเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 คน/วัน

สร้างเสร็จ พ.ย. 62

สำหรับสถานีกลางบางซื่อปัจจุบันคืบหน้า 60.28% จะเสร็จในเดือน พ.ย. 2562 เมื่อเปิดใช้จะเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เป็นอาคาร 4 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน พื้นที่ใช้สอย 72,542 ตารางเมตร เป็นที่จอดรถรองรับได้ 1,700 คัน มีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถไปยังชั้น 1

ชั้นที่ 1 พื้นที่ใช้สอย 86,700 ตารางเมตร และชั้นลอย 12,000 ตารางเมตร รวม 98,720 ตารางเมตร เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว มีโถงพักคอย รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์และร้านค้า เชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดิน

ชั้นที่ 2 พื้นที่ใช้สอย 42,000 ตารางเมตร และชั้นลอย 8,800 ตารางเมตร รวม 50,800 ตารางเมตร เป็นส่วนชานชาลารองรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา

และชั้นที่ 3 พื้นที่ใช้สอย 42,300 ตารางเมตร เป็นชานชาลารถไฟรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เชื่อมภูมิภาค 10 ชานชาลา แบ่งเป็นสายใต้ 4 ชานชาลา สายเหนือและอีสาน 6 ชานชาลา และจะรองรับรถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง และมีทางเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีบางซื่อ

รอ ครม.เคาะบริษัทเดินรถ

“การเดินรถรอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ ร.ฟ.ท.ตั้งบริษัทลูกบริหารจัดการ ภายใน ธ.ค.นี้จะส่งรายงานการจัดตั้งบริษัทให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา จากนั้นส่งไปยังกระทรวงการคลัง โดยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือ คนร.ตรวจสอบ คาดว่าเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ก.พ. 2562 นี้” นายวรวุฒิกล่าวและว่า

บริษัทเดินรถที่จัดตั้งขึ้น ในช่วง 2 ปีแรก จะเดินรถทั้งแอร์พอร์ตเรลลิงก์และสายสีแดงระหว่างรอการเปลี่ยนผ่านระบบแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่ให้เอกชนผู้ชนะประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินรับไปดูแล จากนั้นถึงโอนย้ายพนักงานเดิมมาที่สายสีแดง โดยขณะนี้มีพนักงานของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทลูกของรถไฟที่ดูระบบแอร์พอร์ตเรลลิงก์อยู่ประมาณ 400 คน ส่วนบริษัทลูกที่จัดตั้งขึ้นใหม่ต้องการพนักงาน 800 อัตรา

ซีพี-ไมเนอร์ บุกสนามบิน

แหล่งข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า หลังกรมเปิดประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการร้านอาหารภายในอาคารผู้โดยสารอาคาร B สนามบินอุดรธานี มีผู้ชนะประมูล ได้แก่ บริษัท ซีเลค เซอร์วิส พาร์ทเนอร์ จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างไมเนอร์ ฟู้ด กับเอสเอสพี อินเตอร์เนชั่นแนล (SSP), บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด, ดิ แอทติจูด และนางรัชนี เกษคุปต์

ส่วนผลประมูลสิทธิการเช่าอาคารที่ราชพัสดุเพื่อประกอบร้านอาหารว่างและเครื่องดื่มภายในสนามบินแม่สอด จ.ตาก มีผู้ชนะ 2 ราย ได้แก่ 1.บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด ล็อก B 2 บริเวณโถงพักคอยชั้น 2 และล็อก B 7 บริเวณห้องพักผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ 2.บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด ล็อก B 3 บริเวณโถงพักคอยชั้น 2 และล็อก B 6 บริเวณห้องพักผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ ส่วนพื้นที่ที่เหลือไม่มีผู้ยื่นประมูล

เอไอเอยึด WiFi 28 แห่ง

ขณะที่ผลประมูลสิทธิการเช่าอาคารราชพัสดุเพื่อหาผู้ดำเนินกิจกรรม free WiFi ภายในสนามบินทั้ง 28 แห่งที่กรมกำกับดูแล ผู้ชนะคือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AIS)

ด้านผลการคัดเลือกเพื่อหาผู้ประกอบการโรงเรียนการบิน ณ สนามบินร้อยเอ็ด จำนวน 6 แปลง เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการบินของไทยตามนโยบายของรัฐบาล พบว่ามีผู้ยื่นประมูล 3 แปลง ได้แก่ บริษัท ไทย เอวิเอชั่น จำกัด ชนะประมูล 2 แปลง และบริษัท ดี-0507 ไฟลท์ เทรนนิ่ง จำกัด จำนวน 1 แปลง

นอกจากนี้ กรมอยู่ระหว่างเปิดประมูลให้จัดหาประโยชน์โดยการจัดให้เช่าพื้นที่ภายในที่พักผู้โดยสารของสนามบินอุบลราชธานี พื้นที่ 2,074.41 ตารางเมตร เช่น ร้านขายสินค้าของที่ระลึก ร้านอาหารว่างและเครื่องดื่ม ตู้เช็กอินอัตโนมัติ ร้านสะดวกซื้อ ศูนย์อาหาร

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!