กทม.ทุ่ม3หมื่นล้านทะลวงฝั่งธนฯ ตัดโครงข่ายใหม่ “สุขสวัสดิ์-เพชรเกษม-กาญจนภิเษก”

แฟ้มภาพ

กทม.ทุ่ม 3 หมื่นล้านแก้จราจรฝั่งธนฯ โครงข่ายใหม่ “สุขสวัสดิ์-เพชรเกษม-กาญจนภิเษก” ลุยก่อสร้าง-เวนคืนประมูล 6 โครงการเชื่อมวิภาวดี-พหลฯ รามคำแหง 24 แสมดำสนามชัย ได้ฤกษ์เวนคืนเกียกกาย อุโมงค์แยกศรีอยุธยา ตัดถนนเชื่อมนิมิตใหม่ ปัดฝุ่นถนน 2 ชั้นอโศก

นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กทม.กำลังเร่งรัดโครงการก่อสร้างถนน อุโมงค์ สะพาน ทางยกระดับ ที่อยู่ในแผนงานปี 2561-2564 จะใช้เงินก่อสร้างและเวนคืนกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาจราจร เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ กทม.และปริมณฑลมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง อาทิ สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ฯลฯ และเพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง โดยเฉพาะฝั่งธนบุรี และพื้นที่โซนตะวันออกของ กทม.ที่เติบโตมาก จึงต้องมีโครงข่ายการคมนาคมสายใหม่เข้าไปรองรับ

5 ธ.ค. กทม.เปิด 2 อุโมงค์แก้รถติด 

ภายในวันที่ 5 ธ.ค.นี้จะเปิดใช้อุโมงค์ทางลอด 2 แห่ง คือ 1.ทางลอดถนนพัฒนาการ-รามคำแหง-ถาวรธวัช ขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทาง 1.25 กม. เปิดการจราจรเวลา 05.00-23.00 น. ช่วยแก้ปัญหารถติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน จากนั้นเวลา 23.00-05.00 น. จะปิดการจราจรชั่วคราวเก็บรายละเอียดเนื้องาน ตัวโครงการจะแล้วเสร็จสมบูรณ์วันที่ 25 ธ.ค.นี้ จะช่วยบรรเทาการจราจรย่านรามคำแหง และศรีนครินทร์ และ 2.ทางลอดถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า บริเวณถนนร่มเกล้า ส่วนงานสะพานข้ามถนนกาญจนาภิเษกจะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย. 2562

“ต้องเร่งโครงการที่กำลังก่อสร้างให้เสร็จเร็วขึ้น หรือให้ผู้รับเหมาสร้างให้ได้ตามแผน เพื่อช่วยบรรเทาการจราจร ล่าสุด กทม.มี 5 โครงการใหม่ ใช้งบฯก่อสร้าง 3,794 ล้านบาท ที่เริ่มก่อสร้าง เช่น สะพานข้ามแยก ณ ระนอง ทางลอดรัชดาฯ-ราชพฤกษ์ ถนนต่อเชื่อมกาญจนาภิเษก-พุทธมณฑล สาย 2 ขยายถนนศาลาธรรมสพน์ จากถนนพุทธมณฑล สาย 2 ถึงถนนทวีวัฒนา เป็น 4 ช่องจราจร และขยายถนนสามวา อาจกระทบการจราจรบ้าง กว่าโครงการจะเสร็จในปี 2563-2564” 

ปี”62 ประมูล 6 โครงการใหญ่ 

นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า สำหรับปี 2562 จะเปิดประมูลก่อสร้างโครงการใหม่อีก 6 โครงการ วงเงินรวม 4,917 ล้านบาท ภายในเดือน ก.พ.-มี.ค. จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย. ได้แก่ 1.ถนนต่อเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิต กับถนนพหลโยธิน 50 ได้งบฯเวนคืน 2,000 ล้านบาท เพื่อเร่งเวนคืนที่ดินส่วนเหลือ 13 แปลง บริเวณติดกับถนนวิภาวดีฯ จะเริ่มสร้างปี 2562 แล้วเสร็จปี 2564 เป็นถนนตัดใหม่ 4-6 ช่องจราจร ระยะทาง 2.8 กม. ค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท แบ่งประมูล 2 สัญญา สัญญาละ 900 ล้านบาท

แนวเส้นทางเริ่มจากถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้กับร้านเจ้เล้ง ดอนเมือง จากนั้นตัดผ่านที่ดินบางส่วนของโรงแรมแอร์พอร์ต กรุงเทพ สวีท โฮเทล ตัดตรงถึงถนนพหลโยธินซอย 50 แล้วสร้างสะพานข้ามแยกไปเชื่อมถนนใหม่ ที่เชื่อมจากพหลโยธิน-รัตนโกสินทร์สมโภช (ถนนเทพารักษ์) เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางลัด และเป็นถนนต่อเชื่อมไปยังรถไฟฟ้าทั้งสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) และสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต)

2.ทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ช่วงตลาดลาดกระบัง-แยกเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 3.5 กม. ค่าก่อสร้าง 1,670 ล้านบาท เสร็จปี 2565 รูปแบบเป็นทางยกระดับสร้างบนถนนลาดกระบัง ขนาด 4 ช่องจราจร

ขยาย 4 เลนเลียบคลองบางเขน

3.ก่อสร้างถนนเลียบคลองบางเขน ด้านหลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากปัจจุบันเป็นถนนชั่วคราว 2 ช่องจราจร สร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมพนังกั้นน้ำริมคลอง ระยะทาง 2 กม. ค่าก่อสร้าง 375 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 540 วัน แล้วเสร็จในปี 2563

4.ขยายถนนแสมดำ จากพระราม 2-คลองสนามชัย ขนาด 2-4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 3.8 กม. ค่าก่อสร้าง 300 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 600 วัน แล้วเสร็จในปี 2563 5.ก่อสร้างถนนเทิดราชันเชื่อมถนนเชิดวุฒากาศ เป็นขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมเขื่อนริมคลองตลอดแนว ระยะทาง 1 กม. ค่าก่อสร้าง 321 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 540 วัน แล้วเสร็จปี 2563

6.ขยายถนนรามคำแหง 24 พร้อมทางสะพานลอยยกระดับจากแยกถาวรธวัช-หน้ามหาวิทยาลัยเอแบค เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 1 กม. ค่าก่อสร้าง 450 ล้านบาท จะเร่งให้สร้างเสร็จใน 1 ปี เนื่องจากเป็นโครงการที่สร้างอยู่ในพื้นที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า

“ปีหน้าจะเป็นปีเปิดประมูล ไล่เซ็นสัญญา เริ่มงานก่อสร้าง ทั้งโครงการใหม่ และโครงการเก่าที่ตกค้างมานานแล้ว”

เร่งเวนคืนเกียกกาย-ถนนนิมิตใหม่ 

นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ ในปี 2562 กทม.ยังได้งบฯเวนคืนที่ดินโครงการที่ล่าช้า เช่น สะพานเกียกกาย วงเงิน 1,300 ล้านบาท ล่าสุด ได้ข้อสรุปแบบก่อสร้างช่วงรัฐสภาใหม่ จะไม่สร้างทางขึ้นลงบริเวณดังกล่าว เพื่อเลี่ยงการใช้พื้นที่ของรัฐสภา ส่วนค่าก่อสร้างจะของบฯในปี 2563

รูปแบบก่อสร้างเป็นสะพานยกระดับและถนนต่อเชื่อมยกระดับ 4-6 ช่องจราจร เชื่อมการเดินทาง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีจุดเริ่มต้นอยู่ถนนคู่ขนานทางรถไฟสายใต้ ผ่านโครงการบ้านฉัตรเพชร บ้านบางส่วนในชุมชนสงวนทรัพย์ ซอยจรัญฯ 93/1 ร้านอาหารหัวปลาช่องนนทรี และร้านอาหาร Pier 92 แล้วข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านวัดแก้วฟ้าจุฬามณี รัฐสภาแห่งใหม่ จากนั้นผ่านแยกเกียกกาย เมื่อถึงแยกสะพานแดง แล้วเลี้ยวซ้ายใช้ถนนเลียบทางรถไฟสายเหนือฝั่งตะวันตก หรือถนนกำแพงเพชร 6 แล้วผ่านแยกสะพานดำ ถนนกำแพงเพชร ถนนพหลโยธิน สิ้นสุดบริเวณหมอชิตเก่าที่สวนจตุจักร ระยะทาง 5.9 กม. มีสะพานข้ามแม่น้ำ 1 แห่ง และทางขึ้นลง 9 แห่งและจะเร่งเวนคืนที่ดินตัดถนนรัตนโกสินทร์สมโภช-นิมิตใหม่ จำนวน 500 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 300 ราย มีค่าเวนคืน 2,500 ล้านบาท ส่วนค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท จะของบฯปี 2563 เป็นถนนตัดใหม่ 6 ช่องจราจร พร้อมทางต่างระดับช่วงต่อเชื่อมถนนวงแหวนรอบนอก เมื่อก่อสร้างเสร็จจะเป็นโครงข่ายถนนสายหลักในแนวตะวันออก-ตะวันตก เพิ่มทางเลือกการเดินทางและแก้ปัญหาจราจรพื้นที่ปิดล้อมเขตบางเขน คลองสามวา และหนองจอก

ปัดฝุ่นทางยกระดับอโศก-มนตรี 

นอกจากนี้ กทม.เตรียมจะของบฯก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกศรีอยุธยา-ถนนพระรามที่ 6 ขนาด 4 ช่องจราจร ความยาว 837 เมตร วงเงิน 1,000 ล้านบาท สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณราชวงศ์-ท่าดินแดง 837 ล้านบาท สร้างเป็นสะพาน 2 ช่องจราจร พร้อมทางเดิน 480 เมตร อีกโครงการเป็นการก่อสร้างถนนตัดใหม่ขนาด 4-6 ช่องจราจร จากถนนสุขสวัสดิ์-พระรามที่ 2-เอกชัย-เพชรเกษม-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯฝั่งใต้ ระยะทาง 30 กม. ใช้เงินเวนคืนก่อสร้างร่วม 2 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบันกำลังเตรียมการออก พ.ร.ฎ.เวนคืน มีที่ดินถูกเวนคืน 1,887 แปลง สิ่งที่ปลูกสร้าง 1,431 รายการ ค่าเวนคืนกว่า 8,000 ล้านบาท รวมถึงจะนำโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอโศก-มนตรี ที่ กทม.เคยศึกษาไว้จาก พระราม 9-บริเวณถนนสุขุมวิท ก่อสร้างเป็นทางยกระดับระยะทาง 3-4 กม.กลับมาทบทวนและเดินหน้าโครงการ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่ กทม.ตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี