เมืองการบิน 3 แสนล.เนื้อหอม 42 ยักษ์ธุรกิจทั่วโลกชิงประมูล

ประมูลเมืองการบินร้อนแรง เอกชน 42 รายทั่วโลก แห่ซื้อซองมากกว่าไฮสปีดเทรน ชิงเค้กก้อนใหญ่กองทัพเรือมูลค่าเฉียด 3 แสนล้าน เนรมิต 6,500 ไร่เป็นเมืองใหม่สมบูรณ์แบบ ศูนย์กลางเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี มาครบทุกธุรกิจ ทั้งรับเหมา สายการบิน รถไฟฟ้า อสังหาฯ ค้าปลีก ดิ้วตี้ฟรี สื่อสาร เปิดยื่นซอง 28 ก.พ. ปีหน้า

พลเรือเอก โสภณ วัฒนมงคล รองผู้บัญชาการทหารเรือ (ทร.) กล่าวว่า หลังกองทัพเรือเปิดให้เอกชนซื้อซองประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก พื้นที่ 6,500 ไร่ มูลค่าโครงการ 290,000 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 16-29 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีเอกชนให้ความสนใจเข้ามาซื้อซองประมูลทั้งสิ้น 42 ราย เป็นเอกชนไทย 24 ราย และเอกชนต่างประเทศ 18 ราย มีทั้งเป็นบริษัทลงทุน รับเหมาก่อสร้าง พัฒนาที่ดิน ดิวตี้ฟรี รถไฟฟ้า พลังงาน ค้าปลีก การบินและการสื่อสาร

เปิดรายชื่อ 42 บริษัทซื้อ TOR

โดยเอกชนไทย ได้แก่ มจ.การบินกรุงเทพ, บทจ.การบินไทย, บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้, บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น, บจ.คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, บจ.จี.วาย.ที. เอ็นจิเนียริ่ง, บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง (ซี.พี.), บมจ.ช.การช่าง, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา, บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น, บจ.ไทยแอร์เอเชีย, บจ.ธนโฮลดิ้ง, บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บจ.บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้งส์, บจ.แปซิฟิก ภูเก็ต, บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง, บจ.พีทีที เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่นส์, บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง, บมจ.ยูนีค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์, บจ.เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป, บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บจ.Orient Success International

จีนมี 6 บริษัท ได้แก่ บจ.ไชน่า คอมมูนิเคชั่นส์ คอนสตรัคชั่น, บจ.China GeZhouBa Group, บจ.ไชน่า ฮาเบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง, บจ.ไชน่า เรียลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น, บจ.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด และ บจ.ไชน่า รีสอร์ซ (โฮลดิ้ง) คอมปะนี

ฝรั่งเศส 2 บริษัท บจ.เอดีพี อินเตอร์เนชั่นแนล, บจ.วินชี แอร์พอร์ท เยอรมนี 2 บริษัท มี บจ.AviAlliance Gmbh กับ บจ.Fraport AG Frankfurt Airport Service Worldwide อินเดีย 1 บริษัท คือ บจ.GMR Group Airport ประเทศญี่ปุ่น 5 บริษัท ได้แก่ บจ.AGP Corporation, บจ.JALUX Inc, Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport and Urban Development (JOIN), บจ.มิตซุย และ Sojitz Corporation มาเลเซีย 1 บริษัท คือ Malaysia Airports Holding Berhad และตุรกี 1 บริษัท คือ TAV TEPE AKFEN INVESTMENT AND CONSTRUCTION AND OPERATION

“จะมีการนำดูพื้นที่จริง หากยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ส่งคำถามได้ถึง 4 ก.พ. ก่อนจะเปิดยื่นซอง 28 ก.พ. 62 ใช้เวลาคัดเลือกผู้ชนะ 1 เดือน เสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบในเดือน มี.ค. 62”

เอกชนข้องใจนโยบาย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ส่วนใหญ่เอกชนมีข้อสงสัยในหลายประเด็น เช่น นโยบายการพัฒนาสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิจะมีผลกับโครงการหรือไม่ โดยคณะทำงานตอบว่าไม่มี เนื่องจากอู่ตะเภาเป็นสนามบินที่เอื้อประโยชน์ในเขตอีอีซี จะกลายเป็นเมืองใหญ่ในอนาคต ประกอบกับดอนเมืองและสุวรรณภูมิ มีข้อจำกัดในการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะรันเวย์ที่เริ่มจะรองรับเที่ยวบินเต็มศักยภาพแล้ว

นอกจากนี้ มีคำถามการบริหารโครงการในระยะเวลา 50 ปี รวมพื้นที่อาคารผู้โดยสาร 1-2 ที่กองทัพเรือดูแลหรือไม่ ซึ่งไม่ได้รวม เนื่องจากกองทัพเรือจะสงวนอาคารผู้โดยสารดังกล่าวสำหรับใช้ในงานด้านความมั่นคงด้วย แต่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกสามารถหารือกับกองทัพเรือ ทำประโยชน์ด้านการพาณิชย์ได้ เป็นต้น

พลเรือเอกโสภณยังกล่าวอีกว่า แม้ได้ผู้ชนะแล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินโครงการ ยังติดการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งอยู่ระหว่างทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของรันเวย์ที่ 2 จะใช้เวลา 1 ปีครึ่ง พร้อมส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง 6,500 ไร่ ได้ในปี 2564 จากนั้นใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จในปี 2566 และเปิดบริการต้นปี 2567

สัมปทาน 50 ปี

นายโชคชัย ปัญญายงค์ รองเลขาธิการสายงานโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า รูปแบบการลงทุนเป็น PPP net cost ระยะเวลา 50 ปี แยกเป็นก่อสร้าง 3 ปี

และบริหารซ่อมบำรุง 47 ปี แบ่งสัดส่วนการลงทุน รัฐจะลงทุนในส่วนของงานโยธา รันเวย์ที่ 2 ประมาณ 10,000 ล้านบาท และหอบังคับการบินแห่งที่ 2 ประมาณ 5,000 ล้านบาท ทั้ง 2 โครงการกำลังศึกษาออกแบบ

ส่วนเอกชนลงทุน 5 โครงการสำคัญ คือ 1.อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 มีเป้าหมายรองรับผู้โดยสารสูงสุด 60 ล้านคนต่อปี ในระยะที่ 1 รับได้อย่างน้อย 12 ล้านคนต่อปี 2.ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน เป็นศูนย์กลางการขนส่งสาธารณะไปสู่สนามบิน รวมถึงการจัดสร้างลานจอดรถและมีสถานีรถไฟความเร็วสูงด้วย โดยผู้ชนะต้องประสานงานกับผู้ชนะรถไฟความร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่

3.ศูนย์ธุรกิจการค้า 4.เขตประกอบการค้าเสรี และ 5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ส่วนการกำหนดพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ผู้ชนะสามารถเพิ่มเติมได้ โดยใช้แผนแม่บทที่กองทัพเรือทำไว้เป็นแนวทาง ซึ่งเอกชนสามารถปรับแก้หรือเพิ่มเติมสิ่งที่คาดว่าจะทำให้สนามบินได้รับประโยชน์สูงสุดได้ เพียงแต่ให้คงส่วนของรันเวย์ที่ 2 ทางขับ ศูนย์ซ่อมอากาศยานของการบินไทย (MRO) และพื้นที่สาธารณูปโภคไว้ตามเดิม

ยื่นข้อเสนอ 3 ซอง

“จะยื่นข้อเสนอเหมือนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มี 3 ซอง คุณสมบัติ เทคนิค-แผนธุรกิจ และข้อเสนอส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ”

ด้านตัวแทนจาก บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา เปิดเผยว่า การชี้แจงทีโออาร์วันนี้ถือว่าเห็นภาพรวมของโครงการทั้งหมด ในส่วนของเซ็นทรัลสนใจเรื่องการค้าปลีกเป็นหลัก คงไม่เป็นแกนนำในการยื่นซองประมูล การมาฟังคำชี้แจงก็ทำให้เห็นพันธมิตรจากบริษัทอื่น ๆ ที่สนใจจะร่วมมือกัน

ส่วนตัวแทนจาก บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) กล่าวว่า บริษัทสนใจลงทุนด้านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตภายในสนามบินเป็นหลัก แต่การมาฟังคำชี้แจงทำให้เข้าใจภาพรวมโครงการมากขึ้น และได้พบปะกับพันธมิตรที่น่าสนใจจากหลายบริษัท

เจ้าสัวเจริญก็มา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้เป็นที่สังเกตมี บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ไปเทกโอเวอร์มา ได้ร่วมซื้อทีโออาร์ด้วย โดยบริษัทมีที่ดินในทำเลอีอีซีเฉียดหมื่นไร่รอพัฒนาโครงการ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า ซื้อซองประมูลสนามบินอู่ตะเภาเพื่อต่อยอดกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยจะยื่นประมูลในนามกิจการร่วมค้า BSR (บีทีเอส-ซิโน-ไทย-ราชบุรีโฮลดิ้ง) และอาจจะมีบริษัทจากต่างประเทศที่มีประสบการณ์บริหารสนามบินร่วมด้วย

แอร์เอเชีย-บางกอกแอร์ฯแจม

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า การลงทุนในเมืองการบินอู่ตะเภาอยู่ในความสนใจของบางกอกแอร์เวย์ส เช่นเดียวกับโครงการลงทุนอื่น ๆ แต่เนื่องจากโครงการเมืองการบินเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมหลายส่วน จึงมีแผนที่จะจับมือกับพันธมิตรอีกหลายราย

แหล่งข่าวจากแอร์เอเชียกล่าวว่า มีความพร้อมอย่างมาก โดยก่อนหน้านี้ นายโทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย ได้เข้าพบทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย ได้เสนอตัวเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่สนามบินอู่ตะเภาไปแล้ว