เตรียมพร้อม! 5 ทุ่ม วันที่ 7 ธ.ค.ปิดสะพานข้ามแยกลำสาลี1ปี รื้อตอม่อรับอุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีส้ม

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 เวลา 10.00 น. พลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจ
นครบาล (บช.น.) พันตำรวจเอก ธวัช วงศ์สง่า รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 พร้อมด้วยนายพัฒนพงษ์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานก่อสร้าง รฟม. ในฐานะรองผู้อำนวยการโครงการ ส่วนที่ 2 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และนายกมล มหาผล ผู้จัดการด้านจราจร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน สัญญาที่ 3 ช่วงหัวหมาก– คลองบ้านม้า ร่วมแถลงข่าวปิดสะพานข้ามแยกลำสาลี ฝั่งขาเข้า และรูปแบบการจัดจราจรในระหว่างดำเนินงานก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีลำสาลี โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

นายพัฒนพงษ์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานก่อสร้าง รฟม. ในฐานะรองผู้อำนวยการโครงการ ส่วนที่ 2 กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีสถานีเริ่มต้นจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT)

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ประกอบด้วยสถานีใต้ดิน 10 สถานี ได้แก่ สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สถานี รฟม. สถานีวัดพระราม 9 สถานีรามคำแหง 12 สถานีรามคำแหง สถานี กกท. สถานีหัวหมาก สถานีลำสาลี สถานีศรีบูรพา และสถานีคลองบ้านม้า

และมีสถานียกระดับ 7 สถานี ได้แก่ สถานีสัมมากร สถานีน้อมเกล้า สถานีราษฎร์พัฒนา สถานีมีนพัฒนา สถานีเคหะรามคำแหง สถานีมีนบุรี และสถานีสุวินทวงศ์ รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 22.57 กิโลเมตร เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 และมีความคืบหน้าในการดำเนินงานก่อสร้างงานโยธา ณ เดือนสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 คิดเป็น 22.65%

สำหรับการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีลำสาลี โดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน สัญญาที่ 3 ช่วงหัวหมาก– คลองบ้านม้า มีความจำเป็นต้องปิดสะพานข้ามแยกลำสาลี ขาเข้าเมือง เนื่องจากสถานีลำสาลี ซึ่งเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ตั้งอยู่ใต้ถนนรามคำแหง บริเวณด้านใต้สะพานข้ามแยกลำสาลี

โดยตัวสถานีลำสาลีอยู่ในแนวเดียวกับเสาตอม่อเชิงทางขึ้นสะพานข้ามแยกลำสาลี ในฝั่งขาเข้า มุ่งหน้าแยกรามคำแหง คลองตัน จึงมีความจำเป็นต้องรื้อเสาตอม่อดังกล่าวออก ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2561 เวลา 23:00 น. เป็นต้นไป เพื่อสร้างกำแพงสถานี ให้หัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสามารถทะลุผ่านหลังจากนั้นจะสร้างเสาตอม่อใหม่ตั้งบนหลังสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทดแทน และสร้างสะพานกลับคืน โดยใช้เวลาในการปิดสะพานข้ามแยกลำสาลี ฝั่งขาเข้าเมือง ประมาณ 1 ปี จึงจะเปิดให้รถวิ่งได้ตามปกติ

พลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กล่าวว่า รฟม. และผู้รับจ้างฯ ได้นำเสนอแผนการจัดจราจร และหารือแนวทางการเบี่ยงจราจรกับ บช.น. และสถานีตำรวจในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนการจัดการจราจรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

โดยระหว่างการก่อสร้างได้จัดให้มีการเปิดช่องทางพิเศษหรือรีเวิร์สเลน ให้รถวิ่งสวนกัน บนสะพานข้ามแยกลำสาลี ในฝั่งขาออกเมืองตลอดเวลา มีผลให้บริเวณแยกลำสาลี แนวถนนรามคำแหง มีช่องจราจรในฝั่งขาเข้าและขาออก เหลือฝั่งละ 3 ช่องทาง รวมพื้นราบแล้ว และมีการจัดสรรกำลังเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกพร้อมมีการเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์เพื่อคลี่คลายปัญหาจราจร

นอกจากนี้ พันตำรวจเอก ธวัช วงศ์สง่า รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 ได้วางแผนร่วมกับ สน.ในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำ ทางลัด ทางเลี่ยงถนนรามคำแหง และเพื่อประชาสัมพันธ์เส้นทางให้ประชาชนรับทราบ โดยมีเส้นทางที่แนะนำให้ประชาชนสามารถใช้เป็นทางเลี่ยงโดยไม่ต้องผ่านบริเวณแยกลำสาลี ในเวลา เร่งด่วน ช่วงเช้า และช่วงเย็น ดังนี้

1) กรณีมาจากถนนนวมินทร์ ผ่านแยกพ่วงศิริ ให้เลี้ยวซ้ายแล้วไปกลับรถที่ซอยรามคำแหง 68 เพื่อเลี้ยวซ้ายเข้าสวนสน (รามคำแหง 60) เพื่อออกสู่ถนนกรุงเทพกรีฑา 7 ไปยังพระราม 9 ได้

2) กรณีถนนรามคำแหง ขาออก สามารถเลี้ยวซ้ายเข้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ (ซอยข้างธนาคารไทยพาณิชย์ อยู่ระหว่าง บริเวณซอยรามคำแหง 83/1- รามคำแหง 85) เพื่อออกสู่ถนนแฮปปี้แลนด์
ไปยังถนนนวมินทร์ได้

นอกจากนี้ ยังได้ประสานผู้รับจ้างฯ ให้จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับเคลื่อนย้าย เพื่อรับมือเหตุฉุกเฉินในกรณีรถเสียหรืออุบัติเหตุตามแนวเส้นทางการก่อสร้าง อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีการปิดสะพานข้ามแยกลำสาลี ฝั่งขาเข้าเมือง อาจส่งผลให้ผิวจราจรบางส่วนลดลง จึงขอให้ประชาชนวางแผนล่วงหน้า และโปรดเผื่อเวลาเดินทาง พร้อมทั้งศึกษาเส้นทางเลี่ยงต่าง ๆ

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2566 ถือเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายแรกที่เชื่อมโยงจากกรุงเทพฝั่งตะวันออก สู่ใจกลางเมือง ทั้งยังเป็นเส้นทางที่จะเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้ มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เป็นรูปแบบการเดินทางหลักที่สร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังช่วยแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้อย่างยั่งยืนต่อไป