กทพ.ชงต่อสัญญาทางด่วน 30 ปี แลกยุติข้อพิพาท “BEM” แสนล้าน

กทพ.งัดสารพัดแนวทางเจรจา BEM แลกจ่ายค่าชดเชยข้อพิพาทกว่า 10 คดี 1.3 แสนล้าน บีบลงทุน 3.2 หมื่นล้านสร้างด่วน 2 ชั้น เล็งต่อสัญญา 30 ปีสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 หลังครบดีล 28 ก.พ. 63 เปิดทางขึ้นราคา 10 บาท 2 รอบ หลังปีที่ 10 จาก 50 บาท เป็น 60 บาท ชง ครม.เคาะ 11 ธ.ค.นี้

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 6 ธ.ค. 2561 ได้ประชุมนัดพิเศษพิจารณารับทราบแนวทางการดำเนินงานของ กทพ. กรณีจ่ายค่าชดเชยให้ บจ.ทางด่วนเหนือ (NECL) บริษัทในเครือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ บมจ.ช.การช่าง กรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ กทพ.ชำระค่าชดเชยทางแข่งขันของทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด วงเงินรวมดอกเบี้ย 4,200 ล้านบาท จะครบกำหนดวันที่ 19 ธ.ค. 2561 นี้ เพื่อรายงานให้กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบภายในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ เพื่อเตรียมการเจรจากับ BEM ต่อไป เพื่อให้ได้ข้อสรุปทุกอย่างในสิ้นปีนี้

เซตซีโร่ข้อพิพาทแสนล้าน

“คณะอนุกรรมการเสนอแนวทางมา ทำอะไรถึงไหนตามที่ก่อนหน้านี้ ครม.มีมติวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ให้ กทพ.เจรจาเพื่อแก้ปัญหากรณีดังกล่าว มี 3 แนวทาง คือ 1.กทพ.ดำเนินการเอง อาจจะกระทบต่อสถานะการเงิน 2.เจรจา BEM 3.เปิดประมูลหาผู้รับสัมปทานรายใหม่ โดยมีเงื่อนไขต้องรับภาระหนี้ที่กทพ.ต้องจ่ายค่าชดเชยทั้งหมดไปด้วย”

นายสุรงค์กล่าวว่า แนวการเจรจากับ BEM จะมีหลายองค์ประกอบที่จะเจรจาเป็นภาพรวม เนื่องจากบอร์ดมีนโยบายจะต้องแก้ปัญหาให้หมดและเบ็ดเสร็จ อาทิ การยุติคดีที่เป็นข้อพิพาทกันมานานมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท การต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 (ศรีรัช) จะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 28 ก.พ. 2563 การปรับค่าผ่านทาง การลงทุนใหม่ ๆ เพิ่มประสิทธิภาพการบริการ แก้ปัญหารถติด

“ทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่จะนำมาเจรจากับ BEM เพื่อแก้ปัญหาทุกอย่างให้จบในคราวเดียวกัน แต่ยังไม่มีข้อสรุป ต้องรอให้ ครม.อนุมัติแนวทางที่เสนอไปก่อน โดยเราจะยึดหลัก 4 ประสาน คือ กทพ.ไม่เสีย รัฐต้องไม่เสีย เอกชนพออยู่ได้ และประชาชนได้ประโยชน์ อยู่ระหว่างหาแนวทางร่วมกันอยู่ ซึ่งเอกชนจะไม่ได้อะไรฟรี ๆ จะต้องมีการลงทุนเพิ่มด้วย”

เล็งต่อสัมปทาน 30 ปี

แหล่งข่าวจาก กทพ.กล่าวเพิ่มเติมว่า รายละเอียดที่เตรียมเพื่อเป็นแนวทางเจรจากับ BEM จะนำข้อพิพาทที่อนุญาโตตุลาการกำลังพิจารณาและที่พิจารณาไปแล้ว มีอยู่กว่า 10 คดี คิดเป็นมูลค่า 130,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นคดีข้อพิพาทการปรับค่าผ่านทางและสร้างทางแข่งขัน โดย กทพ.จะเจรจาไม่จ่ายเงินชดเชยคดีที่แพ้ เช่น ค่าชดเชยทางแข่งขัน 4,200 ล้านบาท แต่จะขยายสัญญาสัมปทานให้ 30 ปี นับจากสิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ. 2563

ขณะเดียวกัน BEM จะต้องไม่ปรับค่าผ่านทางเป็นระยะเวลา 10 ปี จากปัจจุบันเก็บค่าผ่านทางอยู่ที่ 50 บาท ในสัญญาสัมปทานใหม่จะกำหนดไว้ให้ปรับได้ 2 รอบ โดยปรับ 10 บาท ทุก 10 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) จากเดิมจะปรับทุก 5 ปี เท่ากับว่าในปี 2571 จะอยู่ที่ 60 บาท ปี 2581 อยู่ที่ 70 บาท และต้องแบ่งรายได้ค่าผ่านทางให้ กทพ.สัดส่วน 60:40 โดย กทพ. 60% และ BEM 40% และไม่มีการฟ้องร้องคดีข้อพิพาทตลอดอายุสัญญาสัมปทานเหมือนที่ผ่านมา

ลงทุน 3.2 หมื่น ล.สร้างด่วนใหม่

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ BEM จะต้องลงทุนสร้างทางด่วนเพิ่ม เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในเมือง ในเบื้องต้นกำหนดให้สร้างทางด่วน 2 ชั้น วงเงินลงทุน 32,000 ล้านบาท โดยแนวเส้นทางจะเริ่มต้นจากด่านประชาชื่น-ด่านอโศก ระยะทางประมาณ 13-14 กม. รูปแบบเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร โดยโครงสร้างเป็นตอม่อเสาเดี่ยว สูงจากระดับพื้นดิน 20 เมตร

รวมถึงจะต้องลงทุนแก้จุดตัดกระแสด่านเก็บค่าผ่านทางที่มีปริมาณการจราจรสะสมมี 4 จุด เช่น ด่านดินแดง โดยจะสร้างทางเป็นทางขนานเพิ่ม เพื่อเพิ่มผิวจราจร จะช่วยบรรเทาความคับคั่งได้ ซึ่งปริมาณการจราจรบนทางด่วนแนวโน้มการเติบโตไม่น่าจะมีนัยสำคัญมาก จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.8 ล้านคันต่อวัน เพราะมีโครงข่ายรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เอกชนที่มารับสัมปทานคือการเพิ่มประสิทธิภาพระบายรถได้เร็วขึ้น ให้ผู้ใช้บริการได้รู้สึกคุ้มค่าที่เสียเงิน

“ทั้งหมดมีการคำนวณบนพื้นฐานจริง โดย กทพ.จ้างที่ปรึกษาซึ่งเป็นคนกลางมาศึกษาและประเมินรายได้และเงินลงทุนทั้งหมด เพื่อนำไปเจรจากับ BEM ดูแนวโน้มแล้ว BEM น่าจะยอม เพราะได้สัมปทาน 30 ปี ขณะที่การลงทุนเพิ่ม เป็นสิ่งที่จะต้องทำอยู่แล้ว เพราะปัจจุบันทางด่วนปริมาณการจราจรจะเต็มขีดความสามารถแล้ว เฉลี่ยอยู่ที่ 1.8 ล้านคัน หากไม่รับข้อเสนอดังกล่าว จะนำทางด่วนขั้นที่ 2 เปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่มารับสัมปทานต่อไป”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!