ปิดฉาก “โอท็อปใต้ทางด่วน” กทพ.เล็งพัฒนาเชิงพาณิชย์

แฟ้มภาพ
กรมการพัฒนาชุมชน ตัดใจ ปิดฉากโอท็อปใต้ทางด่วน “รามอินทรา-เพลินจิต-สีลม” รูดม่าน 7 ธันวาฯนี้ หลังพบไม่เวิร์ก การทางพิเศษฯจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ เล็งนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ สร้างรายได้ระยะยาว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมานายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ได้ตั้งคณะกรรมการประเมินความคุ้มค่าของโครงการศูนย์จัดแสดง จำหน่ายและกระจายสินค้าโอท็อป ใต้ทางด่วน 3 ศูนย์ ประกอบด้วย ใต้ทางด่วนรามอินทรา ใต้ทางด่วนเพลินจิต และใต้ทางด่วนสีลม มีนายสมหวัง พ่วงบางโพธิ์ รองอธิบดี พช.เป็นประธาน จากการประเมินของคณะกรรมการพบว่าทั้ง 3 ศูนย์มีผลประกอบการที่ตกลง ทั้งจากสภาพปัญหาเศรษฐกิจ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งนายนิสิตได้ทำหนังสือให้มีการยกเลิกโครงการดังกล่าว ก่อนจะทำเรื่องขออนุมัติมายังนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนายฉัตรชัยได้ลงนามในหนังสือเรียบร้อยแล้ว

ก่อนหน้าที่จะมีการยกเลิกศูนย์โอท็อปใต้ทางด่วนทั้ง 3 ศูนย์ กรมการพัฒนาชุมชนได้ทำ MOU ร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อขอใช้พื้นที่เป็นเวลา 5 ปี และกำลังจะหมดสัญญาในวันที่ 7 ธ.ค. 2561 โดยกรม พช.ได้มีหนังสือไปยัง กทพ.ประมาณเดือน ส.ค. 2561 เพื่อขอต่ออายุอีก 3 ปี ก่อนที่นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดี พช.คนก่อนจะเกษียณอายุราชการในสิ้นเดือน ก.ย. 2561 แต่การต่อสัญญากับ กทพ.ไม่มีความคืบหน้า เพราะเป็นช่วงเดียวกับที่ กทพ.เปลี่ยนแปลงผู้บริหารเช่นกัน เมื่อนายนิสิตเข้ามารับตำแหน่งอธิบดีแทนนายอภิชาติ จึงมีการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวเพื่อประเมินความคุ้มค่า จนนำมาสู่การยุติโครงการในที่สุด

ขณะที่แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา กทพ.ได้รับหนังสือจากกระทรวงมหาดไทยแจ้งยกเลิกสัญญาโครงการศูนย์แสดง จำหน่าย และกระจายสินค้าโอท็อปใต้ทางด่วนในกรุงเทพมหานครทั้ง 3 สาขาแล้ว โดยแจ้งสาเหตุการยกเลิกว่า การดำเนินกิจการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งทั้ง 3 พื้นที่นี้กระทรวงมหาดไทยทำหนังสือขอใช้พื้นที่มาตั้งแต่ปี 2556 โดย กทพ.ไม่ได้คิดค่าเช่าหรือผลตอบแทนใด ๆ เนื่องจากเป็นการขอใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ

จากนี้ กทพ.จะต้องกลับไปทบทวนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและกำหนดเวลาที่เหมาะสมที่จะดำเนินการตรวจสอบ รับมอบ และปิดกั้นพื้นที่ทั้ง 3 แห่งต่อไป และจะจ้างบริษัทที่ปรึกษาทบทวนแผนแม่บทเดิมที่ศึกษาไว้ จะนำพื้นที่ใต้ทางด่วนมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้ในระยะยาว ซึ่งมีพื้นที่ 3 แห่งนี้รวมอยู่ในแผนดังกล่าวด้วย เช่น อาจจะทำเป็นที่จอดรถ เป็นต้น

สำหรับพื้นที่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาไว้ ประกอบด้วย 1.บริเวณถนนสุขุมวิท (เพลินจิต) พื้นที่ 7,245 ตารางวารูปแบบพัฒนาเป็นแบบผสมผสานระหว่างการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่นทางเท้า แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ทางจักรยานและเพื่อธุรกิจการค้าขาย 2.ถนนสีลม 1,606 ตารางวา บริเวณถนนสีลมจนถึงถนนสุรวงศ์ รูปแบบการพัฒนาจะเป็นแบบผสมผสาน คือ เพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น ทางเท้า สวนพักผ่อน ลานโล่งสาธารณะลานกีฬาชุมชน และพื้นที่เพื่อธุรกิจ เช่น ให้เช่าเพื่อเป็นตลาดชุมชนหรือตลาดอาหาร ตลาดสินค้าหรือมอลล์เล็ก ๆ ที่จอดรถ ศูนย์บริการรถขนส่ง ที่จอดรถและร้านค้าขนาดเล็ก ลานจอดรถในระยะสั้นและระยะยาว

และ 3.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ซอยศาสนาพื้นที่ 15,791 ตารางวา จากสวนพญาไทภิรมย์ จนถึงด่านพหลโยธิน 2 แนวคิดการพัฒนาเน้นการขนส่งสาธารณะขนาดเล็ก เช่น ศูนย์รถตู้และพื้นที่พาณิชยกรรม เน้นการขายอาหาร สินค้า 4.ถนนประดิษฐ์มนูธรรม (ด่วนฉลองรัช) พื้นที่ 108,946 ตารางวา จากซอยศูนย์วิจัยจนถึงถนนรามอินทรา แนวคิดการพัฒนา เช่น ศูนย์กีฬา ลานกิจกรรม ลานจอดรถ เป็นต้น และ 5.ทางเข้าด่านจตุโชติ (รามอินทราวงแหวนรอบนอก) พื้นที่ 43,699 ตารางวา รูปแบบการพัฒนาเหมาะเป็นจุดพักรถ ภายในจะมีปั๊มน้ำมัน ร้านค้า ลานจอดรถ จุดซ่อมบำรุง

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!