อัดงบลงทุนข้ามปี 5 หมื่นล้าน “คมนาคม” ดัน 31โปรเจ็กต์

ประชุม ครม. 13 ธ.ค.นี้ 20 กระทรวงแห่ชงโครงการลงทุนเกินพันล้าน ขอใช้งบฯผูกพันข้ามปี เผยมีวงเงิน 5 หมื่นล้านรอจัดสรให้ ผอ.สำนักงบฯแจงเป็นแนวปฏิบัติ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณใหม่ บีบหน่วยงานรัฐเร่งรัดเบิกจ่าย คมนาคมดัน 31 โปรเจ็กต์ 6 หมื่นล้าน ดีป้าขอ 1.2 พันล้าน สร้างตึก IOT ใน “ดิจิทัลพาร์ค” ศรีราชา กระทรวงอุตฯของบฯตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อ

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 ธ.ค.นี้ (ครม.สัญจร จ.หนองคาย) หน่วยงานในระดับกระทรวงทั้ง 20 กระทรวงที่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่เกินกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และต้องขอใช้งบประมาณผูกพันข้ามปีตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 เป็นต้นไป ต้องเสนอรายละเอียดโครงการเข้ามาให้ ครม.อนุมัติ ซึ่งดูตามสถิติแล้ว แต่ละปีจะมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณโดยผูกพันงบประมาณกว่า 10 โครงการ เฉลี่ยใช้งบประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท

เดดไลน์ชง ครม.ของบฯผูกพัน

เพราะหลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา บทบัญญัติในมาตรา 26 ได้กำหนดให้การก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติ ก่อนจะยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายกับทางสำนักงบประมาณ ซึ่งแต่ละหน่วยงานต้องจัดทำข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อม เช่นแบบรูปรายการ พื้นที่โครงการ และรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาอย่างครบถ้วนชัดเจน

“เดิมโครงการเกิน 1,000 ล้านบาท จะขอรับจัดสรรงบฯ จากสำนักงบประมาณก่อน จากนั้นจึงเสนอ ครม.เป็นแพ็กเกจ แต่กฎหมายวิธีการงบประมาณใหม่ให้แต่ละหน่วยงานต้องเสนอ ครม.ก่อน สำหรับปีนี้ต้องเสนอให้ ครม.อนุมัติก่อนวันที่ 14 ธ.ค. 2561 คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม. วันที่ 13 ธ.ค.นี้กันทั้งหมด”

บีบให้เร่งเบิกจ่าย

นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาทนี้ ปกติกว่าจะมีการเบิกจ่ายก็จะเข้าสู่ไตรมาส 4 ของแต่ละปีงบประมาณ ดังนั้น กฎหมายวิธีการงบประมาณฉบับใหม่จึงกำหนดให้เร่งดำเนินการ คาดว่าจะสามารถเร่งรัดเบิกจ่ายได้เร็วขึ้น เพราะหลัง ครม.อนุมัติแล้ว สำนักงบประมาณจะพิจารณาให้ความเห็นประกอบคำขอภายใน 1 เดือน ซึ่งจะพิจารณาดูว่าเป็นโครงการที่ของบประมาณซ้ำซากหรือไม่ หากเคยขอแล้วไม่พร้อมดำเนินการ ก็จะจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานอื่นที่มีความพร้อมแทน

ทั้งนี้ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นโครงการของกระทรวงคมนาคม อาทิ การสร้างถนน เป็นต้น โครงการด้านบริหารจัดการน้ำ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งโครงการลงทุนของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณฉบับใหม่ จะมีความเข้มข้นในการใช้งบประมาณแต่ละปีมากขึ้น หากหน่วยงานใดไม่สามารถใช้จ่ายเงินได้ทัน ก็จะไม่ให้มีการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีแต่จะพับโครงการนั้นไปเลย จากที่ผ่านมา ที่สำนักงบประมาณต้องออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณตกปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อไปไม่ต้องออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณอีก

“ในปีงบประมาณ 2562 นี้ เราจะขอให้ทุกหน่วยงานทำแผนงาน แผนเงิน เพื่อเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ 100% จากปีก่อน ๆ ที่จะตั้งเป้าเบิกจ่ายให้ได้ 95% แต่ปีนี้ได้รับจัดสรรเท่าไหร่ต้องใช้ให้หมดใน 1 ปี โดยจะมีการทำแผนเบิกจ่ายตั้งเป้าและประเมินทุกไตรมาส ซึ่งผลงานจะมีผลต่อการขอตั้งงบประมาณในปีถัดไป”

“บิ๊กตู่” สั่งแบตัวเลขสร้างภาระงบ

ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกล่าวด้วยว่า วันที่ 11 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ โดยจะมีการสรุปภาพการใช้งบประมาณของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาว่า สร้างภาระงบประมาณเป็นจำนวนเท่าใด นับตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาล หลังการประชุมจะมีการแถลงรายละเอียด

“ที่พูดกันว่า รัฐบาลสร้างภาระ กู้เงินมาก ซึ่งการกู้เงินเป็นปกติทุกรัฐบาล เพราะทำงบฯขาดดุล ที่ว่ารัฐบาลหน้าจะไม่มีเงินใช้ก็ไม่จริง เพราะเมื่อดูภาระงบประมาณแล้ว รัฐบาลหน้ามีเงินใช้ริเริ่มโครงการใหม่ ๆ หลายแสนล้านบาท”

คมนาคมเสนอ 31 โปรเจ็กต์ 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลโครงการมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จะของบประมาณในปี 2563 มีทั้งหมด 31 โครงการ วงเงิน 50,000-60,000 ล้านบาท ประกอบด้วย กรมทางหลวง 29 โครงการ กรมท่าอากาศยาน 1 โครงการ และสำนักปลัดกระทรวง 1 โครงการ โดยขออนุมัติก่อสร้างอาคารกระทรวงหลังใหม่ที่จะย้ายไปอยู่พื้นที่ใหม่ เป็นอาคารสูง 30 ชั้น 1 อาคาร จะของบฯปี 2563-2564 ก่อสร้างวงเงิน 2,000-3,000 ล้านบาท

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า โครงการเกิน 1,000 ล้านบาทที่กรมจะเสนอของบฯปี 2563 มี 29 โครงการ วงเงิน 52,000 ล้านบาท โดยจะขอผูกพันงบประมาณ 2-3 ปี ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างสะพาน การขยายถนน 4-8 ช่องจราจรทั่วประเทศ รวมทั้งโครงการก่อสร้างโครงข่ายใหม่รองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้น

นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า กรมของบฯปี 2563-2565 วงเงิน 1,387 ล้านบาท ก่อสร้างทางขับคู่ขนานท่ากาศยานกระบี่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของรันเวย์ให้รองรับของตัวทางวิ่งและเครื่องบินได้มากลำขึ้น จากปัจจุบัน 10 ลำต่อชั่วโมง เป็น 25 ลำต่อชั่วโมง

ส่วนนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ระบุว่า การรถไฟฯไม่มีโครงการใหม่ที่เสนอเพิ่มเติมในปี 2563 แต่นำโครงการลงทุนที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาต่าง ๆ มาปรับประมาณการรายจ่ายประจำปี 2562 ใหม่ คือ โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง และสายใหม่ 1 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,851 กม. เงินลงทุนรวม 354,091.03 ล้านบาท

ดีป้าขอ 1.2 พันล้านสร้างตึก IOT

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอีไม่มีงบประมาณที่ต้องขอผูกพันข้ามปีสำหรับปีงบประมาณ 2563 จะมีแต่เฉพาะในส่วนของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เท่านั้น

ขณะที่นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า เปิดเผยว่า เตรียมยื่นขอผูกพันงบประมาณข้ามปี สำหรับปีงบประมาณ 2563 ในส่วนของโครงการสถาบัน IOT ที่จะตั้งอยู่ภายในพื้นที่ “ดิจิทัลพาร์ค” ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ EEC วงเงินราว 1,200 ล้านบาท สำหรับการสร้างอาคารที่ 3 และ 4 ซึ่งจะเป็นพื้นที่เปิดให้เอกชนที่สนใจทำห้อง lab เพื่อวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยี IOT (อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์) เข้ามาลงทุนใช้พื้นที่ได้

อุตฯชงศูนย์ทดสอบรถ

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า งบประมาณผูกพันที่ทางกระทรวงได้เสนอเพื่อดำเนินการลงทุนในปี 2562 คือ โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ส่วนที่เป็นระยะที่ 2 หรือส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องมือทดสอบ ประกอบด้วยสนามทดสอบกลางแจ้ง5 สนาม ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบ คาดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2564 ภายใต้กรอบงบประมาณ 2,904 ล้านบาท

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า หน่สยงานที่มีโครงการเกิน 1,000 ล้านบาท ที่ต้องผูกพันงบประมาณหลายปี ต้องเสนอ ครม. ก่อนเดดไลน์วันที่ 14 ธ.ค. ซึ่งเป็นไปตามแนวทางกฎหมายวิธีการงบประมาณใหม่

ทั้งนี้ การทำงบประมาณแบบใหม่จะช่วยให้การเบิกจ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะป้องกันไม่ให้มีการขอตั้งงบประมาณไปกองไว้เฉย ๆ เป็นการกั๊กหน่วยงานอื่นที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณมากกว่า

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!