เร่งพิมพ์เขียวผังเมืองอีอีซี เปิด 3 แสนไร่พัฒนานิคม-เมืองใหม่

ขณะที่ “รัฐบาล คสช.” กำลังเฝ้ารอผลประมูลโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการยักษ์ มูลค่ากว่า 6.5 แสนล้านบาท จะมาบูตนักลงทุนทั่วโลกตบเท้าเข้ามาพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในส่วนของนักลงทุนก็กำลังเฝ้ารอความชัดเจน “ผังเมืองรวมอีอีซี” ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง รับหน้าเสื่อรวบ 3 จังหวัด “ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง” ที่ถูกกำหนดเป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษอีอีซี ดีไซน์การใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่เดียวกัน รับกับพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและเมืองใหม่ เพื่อนำประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน

“คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า อีก 5 ปี หรือในปี 2566 รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกับสนามบินอู่ตะเภาจะเสร็จ ถึงเวลานั้นอีอีซีจะเริ่มมีการพัฒนาเป็นเมืองใหม่ทางภาคตะวันออก จึงต้องเตรียมผังเมืองไว้สำหรับจัดพื้นที่ให้นักลงทุนเป็นโซนเฉพาะตั้งแต่วันนี้ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง มีพื้นที่รวมกัน 8.3 ล้านไร่ มีผู้อยู่อาศัยรวม 1.5 ล้านคน

ในมาตรา 29-30 ตาม พ.ร.บ.อีอีซีระบุว่า ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จัดทำแผนภาพรวมการพัฒนาพื้นที่ให้เสร็จใน 1 ปี พร้อมทั้งกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบเสนอต่อบอร์ดอีอีซี โดยมอบให้กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำรายละเอียดแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุม 8 ระบบ

ได้แก่ ระบบสาธารณูปโภค, ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม, ระบบป้องกันอุบัติภัย, ระบบควบคุมและขจัดมลพิษ, ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม, ระบบคมนาคมขนส่ง และระบบบริหารจัดการน้ำ จะครบกำหนด 1 ปี ในวันที่ 9 ส.ค. 2562

“ร่างแรกของผังเมืองจะทำเสร็จในเดือน ธ.ค.นี้ และจะเริ่มรับฟังความคิดเห็นของประชาชน คาดว่าประมาณกลางปี 2562 น่าจะประกาศใช้ แบ่งเป็นโซนสีเขียว พื้นที่เกษตรชั้นดีและป่าอนุรักษ์ จะอยู่บริเวณ จ.ชลบุรีแถบนอกเมือง และ จ.ระยองที่มีไม้ยืนต้น สวนผลไม้ที่มีชื่อเสียง และแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติของจังหวัด ส่วนโซนสีเหลือง ในข้อกำหนดจะเปิดช่องให้เกิดการพัฒนาได้ เช่น โมเดลเมืองใหม่ เพราะมีเอกชนสนใจมาก แต่เรายังไม่ได้ระบุตำแหน่งชัดเจน” นายคณิศกล่าวและว่า

สำหรับพื้นที่อุตสาหกรรม (สีม่วง) ในพื้นที่เดิมกำหนดไม่มากนัก แต่พอรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand หรือ EECd) ที่ต้องใช้พื้นที่รวมกัน 18,000 ไร่ รวมถึงนโยบาย 21 เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี ที่ต้องใช้พื้นที่รวม 86,000 ไร่ เมื่อมีความต้องการใช้ที่ดินสำหรับอุตสาหกรรมจำนวนมาก เราจึงต้องวางแผนเผื่อไว้ในอนาคต โดยจัดเตรียมที่ดินไว้ประมาณ 300,000 ไร่ ที่ต่อเนื่องกับเขตส่งเสริมเดิมและที่มีศักยภาพที่อนุญาตให้มีที่พักอาศัยเกิดขึ้นได้ คิดเป็น 3-4% ของพื้นที่รวมทั้ง 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) ซึ่งจะรองรับคนได้ถึง 6-7 ล้านคนแบบสบาย ๆ

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!