ยักษ์รุมชิงเค้ก “เมืองการบิน” อังกฤษ-ฝรั่งเศสปักหมุดศูนย์ซ่อม

เมืองการบินอู่ตะเภา 3 แสนล้าน กระหึ่ม ประมูล ก.พ. 62 ซี.พี.-บีทีเอส สู้ไม่ถอย อุตสาหกรรมซ่อมเครื่องบิน 12 ยักษ์ใหญ่ทั่วโลกแห่ตั้งบริษัทลงทุน “MRO” ชิงปักหมุดอีอีซี “เรวีม่า กรุ๊ป” จากฝรั่งเศส มาแน่ปีหน้า “โบซา แอโรสเปซ” จากอังกฤษซุ่มจับมือ “ธายานน์” ร่วมวงชิงรันเวย์ตะวันออก “ทีพี แอโรสเปซ” จากเดนมาร์ก ส่งบริษัทลูกในสิงคโปร์สยายปีก

ความเคลื่อนไหวการลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งเป็นโครงการสำคัญของแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ตามยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลกำหนดให้อุตสาหกรรมการบินเป็น 1 ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (new S-curve) และจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) และการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ในภูมิภาคนี้

นอกจากการลงนามในบันทึกว่าด้วยความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู ระหว่างการบินไทย และแอร์บัส ในการการพัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ล่าสุดจากการตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) มีบริษัทผู้ให้บริการบำรุงรักษา ซ่อมเครื่องบินและอากาศยาน ทยอยจดทะเบียนตั้งบริษัท 12 ราย ในจำนวนนี้มีทั้งบริษัทต่างประเทศ บริษัทต่างประเทศที่เข้ามาร่วมทุนกับชาวไทย และบริษัทที่ตั้งขึ้นโดยนักธุรกิจชาวไทย

อเมริกันร่วมสิงคโปร์สยายปีก

สำหรับบริษัทต่างชาติที่น่าสนใจ อาทิ บริษัท เรวีม่า เอเชีย แปซิฟิค จำกัด มีบริษัท เรวีม่า กรุ๊ป เอสเอเอส สัญชาติฝรั่งเศส ถือหุ้น 99% บริษัท โบซา-ธายานน์ แอร์คราฟท์ เซอร์วิส จำกัด ถือหุ้นโดยนายโรนัลด์ ดาวี่ บริคเค็ด สัญชาติอเมริกัน ถือหุ้น 99% บริษัท พีที แอโรสเปซ (ประเทศไทย) บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท พีที แอโรสเปซ เทคนิคส์ ประเทศสิงคโปร์ 49% และนายอภิชาติ กัลยาวัฒนเจริญ 51% บริษัท แอร์วิง เอวิเอชั่น เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นการร่วมลงทุนระหว่าง นายเชา เฟย ชาวจีน และนายซุย ยื่อตง ชาวจีน และนายเนี่ยน เจิ้ง หง ถือหุ้น 70% 15% และ 15% ตามลำดับ

ฝรั่งเศสลงทุนแน่ปีหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรวีม่า กรุ๊ป เป็นบริษัทผู้ให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานรายใหญ่ สัญชาติฝรั่งเศส มีรายได้มากกว่า 300 ล้านยูโร หรือประมาณ 113.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสำนักงานในประเทศฝรั่งเศส และมีสำนักงานสาขาอยู่ในสหรัฐอเมริกา ดูไบ และฮ่องกง

นายโอลิเวอร์ ลีแกรนด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เรวีม่า กรุ๊ป ประเทศฝรั่งเศส ระบุว่า เรวีม่ามีแผนจะลงทุนในประเทศไทย หนึ่งในโลเกชั่นที่ดีประเทศหนึ่งในเอเชีย-แปซิฟิก โดยวางแผนจะเปิดศูนย์ซ่อมแห่งใหม่ในช่วงปลายปี 2019 หรือราว ๆ ต้นปี 2020 ซึ่งจะเน้นไปที่การซ่อมแซมอุปกรณ์และเครื่องยนต์ ทั้งแอร์บัส เอ 320 และโบอิ้ง 737

พร้อมกันนี้ ประธานเรวีม่า กรุ๊ป ยังย้ำด้วยว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่ดีของธุรกิจนี้ และบริษัทมีความต้องการการใช้แรงงานที่มีศักยภาพ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ไทยมีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าครองชีพที่ต่ำ ภาษีศุลกากร และแรงงานที่มีคุณภาพ โดยที่บริษัทมีแผนจะจ้างแรงงานในไทยประมาณ 300 คน รวมทั้งรัฐบาลไทยยังให้การสนับสนุนบริษัทต่างชาติที่จัดตั้งบริษัทในไทย

คู่ค้าแอร์บัส-โบอิ้งปักหมุด

ขณะที่บริษัท โบซา-ธายานน์ แอร์คราฟท์ฯ เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง โบซา แอโรสเปซ ผู้ให้บริการด้านชิ้นส่วนและซ่อมบำรุงเครื่องบินแห่งสหราชอาณาจักร และธายานน์ เอวิเอชั่นคอนซัลแตนส์ กรุ๊ป ที่ปรึกษาธุรกิจการบินในประเทศไทย โดยโบซา แอโรสเปซ เป็นผู้ให้บริการดูแลรักษาชิ้นส่วน ซ่อมแซมเครื่องบินรายใหญ่ มีสำนักงานใหญ่ในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ มีลูกค้าสำคัญ อาทิ แอร์บัส และโบอิ้ง

ส่วนทีพี แอโรสเปซ กรุ๊ป มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก มีบริษัทเครือข่ายที่ดำเนินกิจการในอุตสาหกรรมการบินสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สิงคโปร์ รวมถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และออสเตรเลีย เป็นผู้ให้บริการล้อหลังและเบรกชั้นนำในอุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากความเคลื่อนไหวของบริษัทผู้ให้บริการศูนย์ซ่อมเครื่องบินรายใหญ่ดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ยังมีบริษัทร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจชาวไทยกับชาวต่างประเทศ ตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อให้บริการซ่อมแซมเครื่องบินเช่นกัน อาทิ บริษัท ไทย ซัมเมอร์ แอร์เวย์ จำกัด มีผู้ถือหุ้นประกอบด้วย บริษัท ไทย หลง โฮลดิ้ง จำกัด และนายอัครพัชร์ ลี้โชติไพศาล ถือหุ้นรวม 61% นายบิน กัว และนายตงเยี่ยน หวง ชาวจีน ถือหุ้นรวม 39%

ส่วนที่เหลือเป็นบริษัทที่จัดตั้งโดยนักธุรกิจชาวไทย อาทิ บริษัท โกลเบิ้ล ไทย อีควิปเม้นท์ จำกัด, บริษัท อินเตอร์แอโร่เสิร์ฟ จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด แอโร ซัพพลายส์ แอนด์ เซอร์วิส, บริษัท อลายด์ เอวิเอชั่น แมเนจเมนท์ จำกัด, บริษัท เทคโนโลยีการบินกรุงเทพ และการวิจัย จำกัด, บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น โฮลดิ้ง

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีนักลงทุนจากยุโรปให้ความสนใจและต้องการจะเข้ามาลงทุนเปิดศูนย์ซ่อมในอีอีซี 4 ราย เป็นนักลงทุนจากเยอรมนี 2 ราย เนเธอร์แลนด์ 1 ราย และเช็ก 1 ราย และได้เตรียมยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตชิ้นส่วนอากาศยานกับบีโอไอ คาดว่าการลงทุนทั้ง 4 รายนี้จะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ประมูลเมืองการบิน 28 ก.พ. 62

พล.ร.ต.เกริกไชย วจนาภรณ์ รองปลัดบัญชีทหารเรือ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก มูลค่าโครงการ 290,000 ล้านบาท มีเอกชนมาซื้อซองทั้งสิ้น 42 ราย เอกชนไทย 24 ราย และต่างประเทศ 18 ราย

ขณะนี้อยู่ในช่วงสอบถามข้อมูลจนถึงวันที่ 4 ก.พ. และเปิดยื่นซองวันที่ 28 ก.พ. 2562 โดยการรวมกลุ่มนั้นจะคล้ายกับเงื่อนไขของการประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ เป็นกลุ่มกิจการร่วมค้าหรือกิจการการค้าร่วม จากนั้นจะใช้พิจารณาคัดเลือกประมาณ 1 เดือน โดยจะสามารถสรุปผลการคัดเลือกและเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ มี.ค.นี้

สำหรับงานที่เอกชนจะต้องลงทุน ได้แก่ 1.อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ต่อไปจะใช้เป็นอาคารผู้โดยสารหลักของสนามบิน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี ส่วนอาคารผู้โดยสารเดิมทั้ง 2 แห่ง จะปรับไปใช้งานด้านความมั่นคงมากขึ้น

2.ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน จะต้องมีทั้งสถานีรถไฟความเร็วสูง จุดจอดรถแท็กซี่ จุดจอดรถบัส 3.ศูนย์ธุรกิจการค้า เอกชนจะต้องเป็นผู้กำหนดพื้นที่ เช่น ดิวตี้ฟรี โรงแรม คลังสินค้า 4.เขตประกอบการค้าเสรี และ 5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์

“กองทัพเรือจะมีแผนแม่บท หรือมาสเตอร์แพลนการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้ง 6,500 ไร่ให้ โดยเอกชนจะต้องไปกำหนดมาว่า พื้นที่ส่วนใดเหมาะกับการพัฒนาอะไร แต่ให้คงรันเวย์ที่ 2 ทางขับหลัก ศูนย์ซ่อมอากาศยานของการบินไทย หรือ MRO และพื้นที่สาธารณูปโภคไว้ตามเดิม”

เลขาฯอีอีซีเร่งเต็มสูบ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระบุว่า “การพัฒนามหานครการบิน อาจจะเป็นเฟส 2 ของโครงการสนามบินอู่ตะเภา เพราะการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก จะเป็นเพียง airport city ที่อยู่รอบ ๆ สนามบิน ขั้นต่อไปจะต้องวางแผนการพัฒนายกระดับจาก “เมืองสู่การเป็นมหานคร เอกชนที่ซื้อซองประมูลยังไม่ต้องเอาส่วนของมหานครการบินนี้เพิ่มเข้าไปในการยื่นซองประมูล”

เปิดรัศมีเมืองการบิน

นายคณิศกล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างร่างแผนแม่บทพัฒนา ระยะ 20 ปี โดยได้ว่าจ้างนายจอห์น ดี การ์ซาด้า ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนามหานครการบินระดับโลกเป็นผู้ออกแบบ เบื้องต้นวางคอนเซ็ปต์เสร็จแล้ว คาดว่ารายละเอียดจะแล้วเสร็จกลางปี 2562

แนวคิดการพัฒนาในเบื้องต้น วางแนวทางการขยายตัวไว้ 2 แนว ได้แก่ 1.แนวขยายเพื่อการท่องเที่ยวและเมืองทันสมัยน่าอยู่ แบ่งเป็น 2 พื้นที่ในรัศมีพื้นที่จากสนามบินอู่ตะเภา-สัตหีบ-บางเสร่-จอมเทียน-พัทยา-ศรีราชา และพื้นที่จากสนามบินอู่ตะเภา-บ้านฉาง-มาบตาพุด-ระยอง-เกาะเสม็ด

2.แนวขยายเพื่อธุรกิจ อุตสาหกรรมเป้าหมาย และบริการ แบ่ง 2 พื้นที่ในรัศมีพื้นที่จากสนามบินอู่ตะเภา ไปตามถนน ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331 สายสัตหีบ-เขาหินซ้อน ประมาณ 60 กม. ถึง อ.ศรีราชาและบ้านบึง และพื้นที่จากสนามบินอู่ตะเภา-นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3191-ถนนบายพาสพัทยา-ระยอง ที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินของเอกชนและนิคมอุตสาหกรรม เช่น อมตะ และเหมราช เป็นต้น

แบ่งพัฒนาเมือง 3 เฟส

ด้านการพัฒนาเมือง แบ่ง 3 ระยะ ใน 5 ปีแรก เป็นการพัฒนาเมืองในรัศมี 10 กม. รอบสนามบินอู่ตะเภา ครอบคลุมพื้นที่สัตหีบ บ้านฉาง บางเสร่ และจอมเทียน ระยะที่ 2 ช่วง 5-10 ปี ในระยะ 30 กม. รอบสนามบิน ครอบคลุมพื้นที่เมืองพัทยาถึง จ.ระยอง เชื่อมเป็นพื้นที่เดียวกัน และระยะที่ 3 ช่วง 10-15 ปี การพัฒนาเมืองในระยะ 60 กม. รอบสนามบิน

“กรมโยธาธิการและผังเมืองจะนำแผนการพัฒนาดังกล่าวไปประกอบการจัดทำผังเมืองในพื้นที่อีอีซีด้วย คาดว่าจะแล้วเสร็จ ก.พ. 2562”

นายคณิศกล่าวอีกว่า ในมหานครการบินจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อการเดินทางให้ครบ และต้องดึงธุรกิจที่ส่งเสริมกับการขนส่งทางอากาศ ได้แก่ ธุรกิจการบิน ธุรกิจยาและ

เวชภัณฑ์ ธุรกิจแฟชั่น ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์และการบิน ธุรกิจอาหาร ธุรกิจการเกษตร และธุรกิจ e-Commerce โดยนายจอห์นแนะนำชื่อบริษัทมาแล้ว 605 บริษัท

สิงคโปร์-ดูไบต้นแบบ

นายโชคชัย ปัญญายงค์ รองเลขาธิการสายงานโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า แนวคิดการพัฒนามหานครการบินไม่ใช่เรื่องใหม่ของต่างประเทศ เพราะมีหลายประเทศใช้โมเดลนี้ในการพัฒนาจนมีชื่อเสียงและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ เช่น สิงคโปร์, มหานครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ส่วนประเทศไทยอาจจะเป็นเรื่องใหม่ แต่เชื่อว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ เพราะทำเลของประเทศอยู่ตรงกลางภูมิภาคอาเซียน และเป็นจุดหมายของการเดินทาง (destination) ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยปีที่ผ่านมามียอดผู้โดยสารเดินทางมาใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ถึง 99.2 ล้านคน ครึ่งหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเกินขีดความสามารถที่สนามบินทั้งสองจะรองรับได้ หากสามารถพัฒนาอู่ตะเภาให้เป็นมหานครทางการบินได้ จะทำให้ได้ผลประโยชน์มหาศาล

บีทีเอส-ซี.พี.สนร่วมประมูล

ขณะที่ตัวแทนจาก บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า จะร่วมกับพันธมิตรเดิม คือ บมจ.ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ในนาม “บีเอสอาร์” เข้าแข่งขันยื่นประมูลสนามบินอู่ตะเภาแน่นอน

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจาก บมจ.อิตาเลียนไทยฯกล่าวว่า กำลังเจรจาพันธมิตรเข้าร่วมประมูล ในเบื้องต้นจะเป็นกลุ่มเดิม คือ กลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร ที่ยื่นประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!